Skip to main content

‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น

26 เมษายน 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 

เสียงโห่ร้องดีใจของผู้ชนะในงานมหกรรมว่าวนานาชาติครั้งปฐมฤกษ์ ที่ จ.ยะลา ระหว่างวันที่ 19 – 21 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา เหมือนงานแข่งว่าวทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่สะดุดตาสำหรับผู้เข้าชมคือนิทรรศการ “ว่าวเบอร์อามาส” Beremas ที่มีรูปแบบและสีสันแปลกตาจากที่คนไทยทั่วไปรู้จัก

ความสวยงามของว่าวเบอร์อามาสนั้นไม่ธรรมดา เพราะถึงขนาดเคยเป็นตัวแทนของประเทศไทยในงานแข่งว่าวที่ประเทศอิตาลีเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา  

“ว่าวเบอร์อามาส” มีรากทางวัฒนธรรมมลายูที่ย้อนไปไกลหลายร้อยปี หรือตั้งแต่สมัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังนับถือศาสนาพราหมณ์ เพื่อใช้ในพิธีทำนายสภาพดินฟ้าอากาศของปีต่อไปของกษัตริย์สมัยโบราณ ว่าจะเป็นอย่างไรและสามารถทำนาได้ผลผลิตมากน้อยแค่ไหน โดยจัดขึ้นหลังจากพ้นฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานเฮฮาแต่อย่างใด

นั่นคือคำอธิบายของ “โต๊ะแวฮามิ” หรือ แวฮามิ วานิ อายุ 78 ปี ครูศิลป์ของแผ่นดินจาก อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ในฐานะผู้อาวุโสที่มาร่วมเป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันว่าวครั้งนี้

โต๊ะแว เล่าว่า ว่าวเบอร์อามาส เป็นว่าวโบราณที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยพราหมณ์ เดิมเป็นว่าวที่ใช้สำหรับบูชาของกษัตริย์ในอดีต แต่เมื่อคนในแถบนี้หันมานับถือศาสนาอิสลาม ตั้งแต่เมื่อราว 500 ปีก่อน การเล่นว่าวก็ไม่ได้หายไป แต่มีการปรับรูปแบบว่าวเบอร์อามาสเดิมมาเป็นแบบใหม่ที่ไม่ขัดกับคำสอนของศาสนาอิสลาม

โต๊ะแวบอกว่า รูปแบบเดิมของว่าวเบอร์อามาส มีรูปร่างคล้ายคน มีแขนมีขาเหมือนว่าวมโนราห์ของชาวพุทธ หรือเป็นรูปสัตว์ เมื่อมาเป็นอิสลามก็ตัดแขนตัดขาออก หรือทำให้มันเป็นรูปนกหรือรูปปลา หรือไม่ก็เพิ่มส่วนอื่นเข้ามา เช่น กลายเป็นว่าววงเดือน

“ปรับเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม แต่นกกับปลาก็เป็นสัตว์เหมือนกัน ซึ่งก็ไม่เป็นไรเพราะเป็นสัตว์ที่กินได้” โต๊ะแว

 

“ว่าวเบอร์อามาส” มีรากทางวัฒนธรรมมลายูที่ย้อนไปไกลหลายร้อยปี หรือตั้งแต่สมัยภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังนับถือศาสนาพราหมณ์ เพื่อใช้ในพิธีทำนายสภาพดินฟ้าอากาศของปีต่อไปของกษัตริย์สมัยโบราณ 

โต๊ะแว เล่าว่า เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 4 ที่ทำว่าวเบอร์อามาสที่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม (ซึ่งโต๊ะแวบอกว่าเกี่ยวข้องกับตำนานแดวอมูดอขี่ว่าวเบอร์อามาสขึ้นสวรรค์ไปหาคนรัก) โดยเรียนรู้การทำว่าวมาจากบรรพบุรุษซึ่งส่วนใหญ่เป็นช่างในวังมาก่อน ทั้งที่วังสายบุรีหรือวังที่ปัตตานี และทำว่าวเป็นมาตั้งแต่อายุ 14 ปี

“ตอนแรกๆ ที่มีคนมาขอความรู้เรื่องว่าว ผมก็ไม่ได้เล่าอะไร บอกแค่ว่าเป็นว่าวทั่วๆ ไปนี่แหละ เพราะเรื่องมันยาว เล่าไปแล้วก็ไม่ค่อยได้อะไรด้วย ถึงเล่าไปเขาก็หาว่าโกหกอีก โมโหเปล่าๆ อยู่เฉย ๆ ดีกว่า”

กว่าที่โต๊ะแวจะเปิดเรื่องนี้ได้ก็ผ่านไปหลายปีเหมือนกัน เขาทำโครงว่าวให้คนอื่นไปหลายลูกแล้ว จนวันหนึ่งมีคนแก่คนหนึ่งที่รู้ว่านี่คือว่าวเบอร์อามาส คนนั้นจึงตามหาคนทำจนพบว่า โต๊ะแวนี่แหละที่ทำว่าวเบอร์อามาสได้

“คนเฒ่าคนแก่ไม่ได้สั่งเสียอะไรไว้มาก เพียงแต่บอกว่าทำให้ตรงกับที่ท่านเหล่านั้นสอนไว้”

โต๊ะแวบอกว่า ตอนนี้มีคนอยากมาเรียนรู้การทำว่าวเบอร์อามาสเยอะมาก มีเด็กๆ ที่อยากมามาเรียนรู้เรื่องราวของมันเยอะ และตอนนี้ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการทำว่าวเบอร์อามัสแล้ว ที่บ้านในตัวเมืองสายบุรี

“ตอนนี้รู้สึกพอใจมาก เคยกังวลเหมือนกันว่าถ้าฉันตายไปนะ ใครจะมาสืบทอด กลัวจะเป็นแค่เรื่องเล่าต่อๆ กันมา แต่ไม่รู้ว่าจะทำจริงได้ยังไง แต่พอลูกชายรับจะสืบทอดเนี่ย ผมก็รู้สึกดีมาก หายกังวลเลย” โต๊ะแวฮามิ ทิ้งท้าย

 

 

 


ศูนย์เรียนรู้ว่าวเบอร์อามาส ใช้ต้นทุนวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ

 

ไวโรจน์ วานิ ลูกชายผู้สืบทอดการทำว่าวเบอร์อามาสจากโต๊ะแวฮามิ ในฐานะคนดูแลศูนย์เรียนรู้เบอร์อามาส บอกว่า วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ เพื่อที่จะต่อยอดการทำว่าวเบอร์อามาส โดยเป็นการใช้ ‘ต้นทุนทางวัฒนธรรม’ ควบคู่กันกับ ‘การพัฒนาเศรษฐกิจ’ ไปด้วย โดยนำลวดลายมาทำเสื้อหรือผ้าบาติก

ไวโรจน์ บอกว่า เราศึกษาในเชิงศิลปะว่า เอาไปทำอะไรได้บ้าง เราอยากให้เห็นลวดลายของว่าวมาเป็นลายเสื้อได้ไหม เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน เมื่อชุมชนมีรายได้ ชุมชนก็จะไม่ทิ้งสิ่งเหล่านี้และมันจะกลายเป็นอนุรักษ์ไปในตัวด้วย

“เป้าหมายคืออยากให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม แต่การทำว่าวต้องใช้ทักษะสูงและต้องอดทน ซึ่งชาวบ้านคงไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งทำนั่งฝึก เราจึงคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างที่ใช้เวลาน้อยและมีประสิทธิภาพ คือการนำลวดลายมาทำบนผ้าบาติกที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กๆ แล้วถ่ายทอดให้ชุมชนได้ฝึกและลงมือทำ”

ไวโรจน์ บอกว่า ตอนแรกเอาคนใกล้บ้านมาทำก่อน พอเริ่มมีลูกค้าสั่งซื้อเยอะขึ้นก็ดึงชาวบ้านมาเพิ่มโดยให้ค่าแรงเป็นรายชิ้นไป อนาคตอาจจะพัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมและให้เงินเดือนชาวบ้านได้

ส่วนเด็กและเยาวชนที่เข้ามามี 3 กลุ่ม คือ นักเรียนที่มาฝึกสมาธิในการแกะลาย ซึ่งทักษะที่คุณพ่อสอนให้นั้นมีเด็กเคยชนะในการแข่งขันทางวิชาการมาแล้ว กลุ่มต่อมา คือ เด็กที่อยากทำว่าวเอาไปเล่นหรือไปฝึกเอง กลุ่มสุดท้าย คือ นักศึกษาที่เอาความรู้ไปต่อยอดในงานอื่น หรือทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่โดยใช้ลวดลายทางวัฒนธรรมพื้นเมือง ซึ่งมีหลายคนที่เขาเป็นที่ปรึกษาให้

 

“เป้าหมายคืออยากให้ชุมชนได้มีส่วนร่วม แต่การทำว่าวต้องใช้ทักษะสูงและต้องอดทน ซึ่งชาวบ้านคงไม่มีเวลาพอที่จะมานั่งทำนั่งฝึก เราจึงคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างที่ใช้เวลาน้อยและมีประสิทธิภาพ คือการนำลวดลายมาทำบนผ้าบาติกที่เราเรียนรู้มาตั้งแต่เล็กๆ แล้วถ่ายทอดให้ชุมชนได้ฝึกและลงมือทำ”

 

อย่างไรก็ตาม การทำโครงว่าวนั้นก็ยังเป็นบทบาทของโต๊ะแวเองอยู่ เพราะเป็นงานยากเหมือนกัน แม้จะดูเหมือนไม่ยาก แต่ถ้าทำไม่ถูกว่าวก็ไม่ขึ้นฟ้า

“อยากให้พ่อมีความสุข ไม่ต้องเครียด ดีกว่าการนั่งเฉยๆ ก็เลยให้ฝึกเด็กๆ มาทำโครงว่าว” ไวโรจน์ กล่าว

ไวโรจน์ กล่าวว่า ทั้งการทำว่าวและลวดลายต่างก็ต้องขับเคลื่อนไปด้วย เมื่อมีโครงว่าแล้วเราก็มาเล่นเรื่องลวดลายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดรายได้ที่จับต้องได้ เมื่อเป็นรายได้ การอนุรักษ์ก็จะเกิดขึ้นในตัว

 


สวยงามอย่างเท่ห์ เสียงกึกก้องบนท้องฟ้า

 

ในงานมหกรรมว่าวนานาชาติ โต๊ะแวฮามิ คงยืนตากแดดตากลมเป็นกรรมการตัดสินในสนามแข่งว่าวในบริเวณพิพิธภัณฑ์เมืองยะลาอย่างไม่แคร์วัย แกก้มๆ เงยๆ ดูว่าวขึ้นลงทีละตัว กลางแดดเปรี้ยงและลมแรง !

เกณฑ์ตัดสินว่าวที่ชนะเลิศในประเภทนี้ มีทั้งความสวยงามโดดเด่น การลอยขึ้นฟ้าอย่างสง่าง่าม เสียงสนั่นดังกึกก้องต่อเนื่องยามอยู่บนท้องฟ้า หรือแม้แต่จังหวะการตกลงพื้นดินก็ต้องเท่ห์สมบูรณ์แบบ ตามรูปแบบเฉพาะของว่าวแต่ละชนิด (มีว่าวเบอร์อามาส ว่าววงเดือน ว่าวปลา ว่าวนกและว่าวควาย)

งานนี้ยังมีการแข่งขันอีก 2 ประเภท คือ ประเภทความสูงและความคิดสร้างสรรค์ แต่ใช้ว่าวคนละชนิดกัน โดยรวมแล้วมีว่าวหลากหลายประเภทเข้าร่วมแสดงกว่า 1,280 ตัว จาก 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง และจากประเทศมาเลเซีย

การร่วมงานนี้ของศูนย์เรียนรู้ว่าวเบอร์อามาส เข้ามาในฐานะหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยมาเป็นที่ปรึกษาของโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม “ว่าวบูรงนิบง” สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

 

“เพราะเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรม เราจึงต้องการใช้สิ่งนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเราเป้าหมายที่จะให้งานหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศและทั่วโลก” 


สืบสาน ฟื้นฟู รักษา และต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

ไวโรจน์บอกว่า ที่สายบุรีมีการแข่งว่าวเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว โดยความร่วมมือของศูนย์เรียนรู้ฯ กับวิทยาลัยชุมชนปัตตานี ทางมหาวิทยาลัยฯ เลยขอให้มาเป็นที่ปรึกษาการจัดแข่งว่าวโดยใช้โมเดลของสายบุรี ทางเจ้าภาพต้องการให้เป็นงานระดับนานาชาติเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนในพื้นที่

“เพราะเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรม เราจึงต้องการใช้สิ่งนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเราเป้าหมายที่จะให้งานหัตถกรรมหรือหัตถศิลป์ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศและทั่วโลก” ไวโรจน์กล่าว

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการฯ ชี้แจงว่า “ว่าวบูรงนิบง” หรือ ว่าวเบอร์อามัส เป็นที่รู้จักในนามว่าวทองแห่งมลายู ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูในชายแดนใต้

โครงการวิจัยนี้เป็นการสืบสาน ฟื้นฟู รักษา และต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายูชายแดนใต้ในการทำว่าว นำเรื่องเล่าที่สูญหาย กรรมวิธีการทำว่าว ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นการสืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป เช่น การสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ อย่างเสื้อ กระเป๋า และอยู่ระหว่างดำเนินการขอจดสิทธิบัตร

ขณะเดียวกันก็ผลักดันเทศกาลว่าวนานาชาติให้ยกระดับเทศกาลวัฒนธรรมประจำของจังหวัดยะลา เพื่อความยั่งยืนด้วย

 

 

‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
‘ว่าวเบอร์อามาส’ ต่อยอดทุนวัฒนธรรมมลายู สู่การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
เนื้อหาล่าสุด