มูฮำหมัด ดือราแม
ท่ามกลางกลิ่นอายการเคลื่อนไหวรณรงค์ทางวัฒนธรรมลายูปาตานีในชายแดนใต้ในช่วงเทศกาลสำคัญๆ นั้น ไม่ได้มีแค่เสื้อผ้าชุดมลายูเท่านั้นที่กำลังได้รับความนิยมสูง แต่ยังมีองค์ประกอบสำคัญของ “Busana Melayu” หรือ “เครื่องแบบมลายูเต็มยศ” อีกหลายชิ้นตามมาด้วย "Tanjak" หรือเครื่องประดับศีรษะก็เป็นหนึ่งในนั้น
Tanjak สินค้าทางวัฒนธรรมที่กำลังบูม
Tanjak หรือ เครื่องประดับศีรษะ เป็นเครื่องแต่งกายสำคัญที่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นมุสลิมชาย แม้ราคาค่อนข้างสูงไปหน่อยก็ตาม เพราะพวกเขาตั้งหน้าตั้งตารอสวมเครื่องแบบเต็มยศเพื่อจะถ่ายรูปร่วมกันในสถานที่ต่างๆ ในวันรายออีดิ้ลฟิตรี ซึ่งเป็นวันฉลองสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน
Busana Melayu เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางชาติพันธ์ของคน “มลายูมุสลิมปาตานี” ที่แฝงเร้นถึงแบบแผนทางการเมืองการปกครองที่เข้มแข็งในอดีต ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางอัตลักษณ์วัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่
Busana Melayu ของชายชาวมลายูดั้งเดิมที่กำลังณรงค์กันอยู่นั้น มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ส่วน คือ
1. Desta (เครื่องประดับศีรษะทุกประเภท)
2. เสื้อผ้าชุดมลายู
3. Samping (ผ้าพันรอบเอว) และ
4. Bengkong (เข็มขัดผ้า)
แต่ถ้าจะให้เต็มยศจริงๆ ต้องมีกริชแนบเอวด้วย แต่อาจถูกจับข้อหาพกพาอาวุธในที่สาธารณะได้ ยกเว้นไม่เอาออกมาจากฝักตามที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคยร้องขอไว้
Busana Melayu ความภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น
เมื่อมีการรณรงค์ให้สวมใส่ก็ย่อมมีคนอยากหาซื้อมาใส่ จึงเป็นเหตุผลที่ กลุ่ม Anak Jawi ซึ่งเคลื่อนไหวรณรงค์ทางวัฒนธรรมอิสลามมลายูปาตานีมา 5 ปีกว่าแล้ว จึงต้องจัดหา Tanjak มาขายเพื่อสนองความต้องการดังกล่าว แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลเพื่อหากำไรเหมือนพ่อค้าแม่ค้าทั่วไป
สุกรี อินซัฟ แกนนำกลุ่ม Anak Jawi บอกว่า เป้าหมายของกลุ่ม คือ การรณรงค์ทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ท้องถิ่น การเปิดร้าน Anak Jawi และขาย Tanjak นั้นก็เพื่อนำกำไรมาใช้หล่อเลี้ยงงานรณรงค์ของกลุ่ม เพราะต้องการให้ทีมงานสามารถทำงานเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมได้อย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ต้องเจอความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
Tanjak เป็นเครื่องพันศีรษะที่บ่งบอกตำแหน่ง ฐานะ และบทบาทหน้าที่อย่างเป็นทางการของคนรัฐต่างๆ ในภูมิภาคมลายูในอดีต ซึ่งรวมถึงปาตานี โดยมีหลักฐานชี้ว่า Tanjak เริ่มมีมาก่อนทศวรรษที่ 1700 หรือตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยยังรุ่งเรือง
ภูมิหลัง Tanjak เครื่องพันศีรษะ วัฒนธรรมชั้นสูง
สุกรีกล่าวถึง Tanjak ว่า เป็นเครื่องพันศีรษะที่บ่งบอกตำแหน่ง ฐานะ และบทบาทหน้าที่อย่างเป็นทางการของคนรัฐต่างๆ ในภูมิภาคมลายูในอดีต ซึ่งรวมถึงปาตานี โดยมีหลักฐานชี้ว่า Tanjak เริ่มมีมาก่อนทศวรรษที่ 1700 หรือตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรศรีวิชัยยังรุ่งเรือง
Tanjak ไม่ใช่เครื่องแต่งกายทั่วไป เพราะคนที่จะสวมใส่ได้ต้องได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ ซึ่ง Tanjak ในกลุ่มนี้เรียกว่า Tanjak Warisan ซึ่งเป็นการสืบทอดจากรูปแบบเดิมที่กษัตริย์ในอดีตพระราชทานให้ ส่วน Tanjak ของบุคคลทั่วไปจะมีรูปแบบแตกต่างหลากหลาย เรียก Tanjak Keriasi (Creative) ขึ้นกับจินตนาการของคนพับ ไม่มีรูปแบบตายตัวเหมือนในกลุ่ม Warisan
Tanjak มีหน้าที่ 2 อย่าง หนึ่ง เพื่อแสดงตำแหน่งหรือบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เช่น แม่ทัพ นายทหาร นักวางแผนยุทธศาสตร์ ครูสอนศาสนา หรือช่างฝีมือต่างๆ และสอง คือ เอกลักษณ์รัฐในภูมิภาคมลายู ซึ่งแต่ละรัฐมีรูปแบบแตกต่างกัน รวมแล้ว Tanjak Warisan มีมากกว่า 500 รูปแบบ
Tanjak ปาตานีดั้งเดิมเป็นแบบไหน
สำหรับ Tanjak ของปาตานี/ชายแดนใต้มีหรือไม่นั้น สุกรีบอกว่า ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ และถ้ามี จะเป็นแบบไหน ซึ่งตอนนี้กำลังค้นคว้าหาหลักฐาน แต่หลักฐานเก่าแก่ที่พอจะอ้างอิงได้ขณะนี้คือ รูปแบบที่พบที่ Batu Kurau รัฐเปรัก ประเทศมาเลเซีย ในช่วงทศวรรษที่ 1800 หรือหลังจากปาตานีแพ้สงคราม
สุกรีกล่าวว่า เหตุที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน เพราะยุครุ่งเรืองของปาตานีนั้น ปกครองโดยราชินีต่อเนื่องกัน 4 พระองค์ซึ่งผู้หญิงไม่สวม Tanjak อยู่แล้ว ส่วนระดับเจ้าเมืองระดับรองๆ ลงมาก็ไม่มีการบันทึกไว้เช่นกัน จึงต้องอ้างอิงจากหลักฐานโดยอ้อม คือจากคนที่หนีภัยสงครามหรือจากรัฐกลันตันที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปาตานีในอดีต
“ณ ตอนนี้ Tanjak ที่ถือเป็นของปาตานีดั้งเดิม มีชื่อว่า Tanjak Pasir Tinggi โดยระบุว่าเป็นชื่อวังแห่งหนึ่ง แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าตั้งอยู่ตรงไหนในปาตานี” สุกรีกล่าว
กระแสพุ่งควบคู่ความนิยมในชุดมลายู
สุกรีกล่าวว่า การเคลื่อนไหวรณรงค์ด้านวัฒนธรรมมลายูในพื้นที่เกิดขึ้นมาเป็น 10 ปีแล้ว เริ่มจากการสวมชุดมลายู จากนั้นก็ใช้ Samping (พันผ้ารอบเอว) ผ้าโพกศีรษะ แล้วก็ “Songkok” หรือหมวกดำ (เหมือนที่ ส.ส.บางคนสวมใส่ในวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร) แต่ Songkok เป็นวัฒนธรรมที่มาทีหลัง
กระทั่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการรณรงค์การสวม Tanjak พร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มรำชุดฮารีเมาปาตานี (คล้ายๆ ปันจักสีลัต) ซึ่งมีการพันศีรษะเช่นกัน จึงทำให้คนสับสนว่าอันไหนเป็นเครื่องแบบมลายูกันแน่
สุกรี กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเรื่อง Tanjak ยังมาพร้อมกับการณรงค์ทำซุ้มประตูชัยตามวัฒนธรรมมลายู ซึ่งทำกันแบบชั่วคราวและได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ส่วนใหญ่จะทำบริเวณทางเข้ามัสยิดประจำหมู่บ้าน ที่สำคัญคือใช้เป็นสถานที่ถ่ายรูปหมู่ด้วยชุดมลายูในช่วงวันรายอนั่นเอง
ดังนั้น ทั้งเครื่องแบบมลายูเต็มยศ และความคิดสร้างสรรค์ในการทำซุ้มประตูชัยประจำหมู่บ้านในปาตานีจึงบูมสุดๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้
ปรัชญาเบื้องหลัง Tanjak ที่ต้องศึกษาทำความเข้าใจ
สุกรี กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้กระแสนิยม Tanjak เกิดขึ้นเร็วมาก ยิ่งมีการถ่ายรูปลงสื่อสังคมออนไลน์ก็ยิ่งทำให้คนต้องการหาซื้อมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงทางกลุ่มไม่อยากให้เรื่อง Tanjak ในกลุ่ม Warisan ขยายตัวเร็วมากเกินไป เพราะกลัวจะใช้กันแบบที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริง
“เรื่องต้องการให้ใช้อย่างความรู้มากกว่า เพราะยังไม่รู้ชัดเจนว่า Tanjak ปาตานีที่แท้จริงคืออันไหน มันยังสับสนกันอยู่”
เพราะเหตุนี้เอง จึงทำให้ทางกลุ่มจึงต้องเดินทางไปเรียนรู้เรื่อง Tanjak อย่างจริงจังที่ประเทศมาเลเซีย เพราะ Tanjak Warisan นั้นมีปรัชญาซ่อนอยู่ ไม่ใช่ไปเรียนแค่วิธีการพับผ้า Tanjak อย่างเดียว
ศิลปะและปรัชญาของการพับผ้า Tanjak มีทั้งหมด 5 ระดับ แต่ตอนนี้มีคนที่เรียนการพับผ่านระดับ 2 เพียง 2 คน ส่วนระดับ 1 นั้นมีหลายคนแล้ว และยังไม่มีใครไปเรียนสูงในระดับ 3 ถึง 5 ซึ่งการเรียนนั้นยังมีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ทุนสูงพอสมควร
ศิลปะการพับ Tanjak ขั้นสูง 5 ระดับ
สุกรีกล่าวว่า ศิลปะและปรัชญาของการพับผ้า Tanjak มีทั้งหมด 5 ระดับ แต่ตอนนี้มีคนที่เรียนการพับผ่านระดับ 2 เพียง 2 คน ส่วนระดับ 1 นั้นมีหลายคนแล้ว และยังไม่มีใครไปเรียนสูงในระดับ 3 ถึง 5 ซึ่งการเรียนนั้นยังมีข้อจำกัด คือ ต้องใช้ทุนสูงพอสมควร
สุกรี กล่าวว่า มีจำนวน 19 รูปแบบจากราว 500 รูปแบบเท่านั้นที่ทางกลุ่มไปเรียนมาและได้รับการรับรองจากครูผู้สอน และคนที่ผ่านระดับ 2 ก็จะมีฝีมือในการผับผ้า Tanjak ที่เรียบเนียนกว่าและสวยกว่า ซึ่งแน่นอนว่า Tanjak ในระดับ 2 นั้นจะขายแพงกว่าระดับ 1
“การผับผ้า Tanjak ในกลุ่ม Warisan ไม่สามารถพับได้โดยไม่เรียนมากก่อน เพราะต้องรักษารูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ ส่วน Tanjak Keriasi (Creative) ทางร้าน Anak Jawi ไม่มีขาย” สุกรีกล่าว
คาด Tanjak จะกลายเป็นวัฒนธรรมทั่วไปของคนในพื้นที่
สุกรี กล่าวว่า การสวม Tanjak สามารถบ่งบอกถึงคาแรกเตอร์ของคนได้ นั่นคือเสน่ห์ของ Tanjak Warisan
สำหรับลูกค้าที่จะมาซื้อ Tanjak จากร้าน Anak Jawi สุกรีกล่าวว่า ทางร้านจะไม่ขายทันทีตามความชอบของลูกค้า แต่จะให้ความรู้พร้อมสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อนเกี่ยวกับบทบาททางสังคม อาชีพการงาน และลักษณะนิสัยของผู้สวมใส่ด้วย เพื่อพิจารณาว่า Tanjak รูปแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับลูกค้าแต่ละคน เช่น บางรูปแบบเหมาะสมกับคนที่เป็นทหาร บางรูปแบบเหมาะกับคนเป็นครู เป็นต้น ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีชื่อเฉพาะด้วย
สุกรีบอกว่าเขาหวังที่จะให้ทุกคนได้รู้จัก Tanjak ทั้งหมด แต่ก็ต้องระวังไม่ให้มีการฉวยโอกาสหาผลประโยชน์ เพราะตอนนี้มีการใส่กันตามแฟชั่นโดยไม่มีความรู้ ซึ่งเขาไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
“ตอนนี้คนที่สวมใส่ Tanjak ในสาย Warisan ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ เพราะเรียนด้วยตัวเองผ่าน YouTube หลายคนยังเข้าใจผิดอยู่ว่าแค่รู้วิธีการพับเป็นก็พอแล้ว Tanjak ส่วนใหญ่จึงเป็นแบบ Creative เพราะใช้ตามอารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น”
สุกรีกล่าวว่า แม้ช่วงนี้การใส่ Tanjak จะบูมมากๆ แต่คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าการสวมใส่ Tanjak จะกลายเป็นวัฒนธรรมทั่วไป เพราะคนมีความรู้มากขึ้น ไม่บูมตามแฟชั่น แต่เป็นการสวมใส่ Tanjak อย่างมีคุณค่าทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่จริงๆ
สำหรับผู้ที่สนใจ Tanjak สามารถติดต่อได้ทางเพจ Anak Jawi และที่ ร้าน Bustani ทั้งที่สาขายะลา และสาขานราธิวาส หรือที่เพจ Bustani Exclusive