Skip to main content

คืนพื้นที่เหมือง ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน

6 เมษายน 2567

องอาจ เดชา


 

ก่อนหน้านั้นมีการสํารวจว่าบ้านเรามีอะไรดีที่จะทําเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนได้บ้าง พบว่ามีของดีหลายอย่างทั้งภาพเขียนสีโบราณอายุสามพันปี มีการขุดพบวัตถุโบราณในถ้ำ กลองมโหระทึกโบราณ และถ้ำหินงอกหินย้อยที่สวยงาม นอกจากนั้น ยังมีป่าเต็งรังที่ยังอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ ที่สำคัญ คือ มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สามารถบอกเล่ากับนักท่องเที่ยวได้

 

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เกิดจากการรวมพลังของคนท้องถิ่นในพื้นที่ดงมะไฟ ที่ร่วมกันปกป้องดูแลฐานทรัพยากรมายาวนานหลายสิบปี หลังจากมีกลุ่มทุนเข้ามาสัมปทานเหมืองหิน จนกระทั่งหมดประทานบัตร ชาวบ้านจึงได้ยึดเหมืองหินดงมะไฟกลับคืนมาและร่วมกันฟื้นฟูป่าชุมชน พัฒนาให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยชุมชนอยู่ในขณะนี้

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ประกอบไปด้วยประชาชนจากหลายหมู่บ้านและพันธมิตรในตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา และในจังหวัดหนองบัวลำภู รวมตัวกัน โดยที่ก่อนหน้านั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ได้เจรจากับทางจังหวัด ซึ่งพบกับความล้มเหลวเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา เมื่อทุกคนประเมินแล้วว่า รัฐไม่ได้เป็นที่พึ่งและทางออก ชาวบ้านจึงตัดสินใจพากันปิดทางเข้าเหมือง ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

มณีนุด อุทัยเรือง นักต่อสู้รุ่นที่ 3 ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เล่าว่า ชาวบ้านถอดบทเรียนร่วมกัน และได้ข้อสรุป 3 ข้อ คือ 
1. ขอให้ปิดเหมือง และโรงโม่หิน 
2. ฟื้นฟูภูผาและป่าไม้ 
3. พัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี

มณีนุดบอกว่า ชาวบ้านดงมะไฟจะยึดถือเอาข้อเรียกร้องนี้เป็นสัญญาประชาคมร่วมกัน หลังจากนั้น ก็ช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ด้วยการปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่าหมื่นต้น  

“ตอนนี้เราได้ขยับไปข้อที่สามแล้ว นั่นก็คือพัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว เราได้ขยับในเรื่องของการท่องเที่ยว โดยมีการทดลอง เปิดรับนักท่องเที่ยว รวมไปถึงการเปิดบ้านรับค่ายนักศึกษา ซึ่งมีทั้งนักศึกษาจากไทย และเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาทําค่ายกับเรา มาเรียนรู้และมาท่องเที่ยวกับเรา” มณีนุดกล่าว


พัฒนาดงมะไฟ ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง

 

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกว่า การท่องเที่ยวนั้นจะมุ่งแต่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ จิตสำนึกของการท่องเที่ยวที่มากไปกว่าปริมาณของนักท่องเที่ยว แต่จะมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพของการท่องเที่ยว และสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ของชุมชนด้วย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนที่ออกมาปกป้องภูเขาบ้านเกิด

 

การท่องเที่ยวนั้นจะมุ่งแต่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการ คือ จิตสำนึกของการท่องเที่ยวที่มากไปกว่าปริมาณของนักท่องเที่ยว แต่จะมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพของการท่องเที่ยว 

 

เลิศศักดิ์กล่าวว่า คนที่จะออกมาปกป้องดูแลภูเขาบ้านเกิดได้ จะต้องมีรายได้เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด โดยการคิดค้นสินค้าที่มีต้นทุนในชุมชนอยู่แล้ว อย่างเช่น การปลูกข้าว พืชผักการเกษตรที่มีอยู่ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ โดยให้สอดคล้องกับภูมินิเวศของชุมชนดงมะไฟ

“เป้าหมายของเรา คือ ต้องการเปลี่ยนกระบวนการคิด กระบวนทัศน์ของพี่น้องดงมะไฟกันใหม่ จากเดิมที่มองว่า ภูเขาที่เราอาศัยอยู่นี้เป็นแค่ภูเขาหินปูนที่จะต้องระเบิดและเอาไปขาย ซึ่งถ้าทำแบบนั้น 10-20 ปี ภูเขาลูกนี้ก็สูญหายไป แต่ถ้าเรามองให้มีคุณค่าความหมายมากกว่านั้น นั่นคือทรัพยากรและธรรมชาติ แล้วเรารักษาภูเขาลูกนี้เอาไว้ เรายังสามารถขายคุณค่าความงามของภูเขานี้ไว้ได้” เลิศศักดิ์กล่าว  

เลิศศักดิ์กล่าวว่า ชุมชนจะผลักดันให้เกิดการพัฒนาดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดีด้วยตัวของชุมชนเอง โดยไม่อาศัยภาครัฐ เพราะรู้ข้อจำกัดของรัฐว่ามักไม่ค่อยยืนอยู่ข้างชาวบ้านสักเท่าไหร่

“เราจึงต้องกระตุ้นจิตสำนึกของเราก่อน ปฏิบัติการของเราก่อน นี่คือสิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไปในอนาคต ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง” ที่ปรึกษากลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดกล่าว
 

 

นำบทเรียนจากเชียงดาว มาใช้กับดงมะไฟ

 

ก่อนหน้านี้ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่ดอยหลวงเชียงดาว ถูกประกาศเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกโดยยูเนสโก

มณีนุด ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกว่า คนในพื้นที่ดงมะไฟวาดฝันไว้ว่า อยากให้มีคนมาท่องเที่ยวที่บ้านของเรา อยากมีร้านกาแฟ ทำสวนดอกไม้ หรืออยากขุดสระให้มีคนมาเล่นน้ำกัน หรือทำโฮมสเตย์ให้คนมาพัก และพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวรอบๆ ชุมชน

“ก่อนหน้านั้น เราอยู่แค่บ้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอก พอพูดว่า เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มันจับต้องไม่ได้ เป็นเพียงภาพเพ้อฝัน แต่พอเราได้มาเรียนรู้ที่เชียงดาว ทำให้เรามีความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้ และสามารถสร้างรายได้ให้เราได้จริง สามารถเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวได้จริง” มณีนุดกล่าว

เช่นเดียวกับชาวบ้านดงมะไฟหลายคนที่บอกว่า การมาเยือนเชียงดาวครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นอะไรมากมายและทำให้ได้หันกลับไปมองตัวเอง และว่าท้องถิ่นบ้านเกิดนั้นมีของดีมีคุณค่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็นถ้ำ ภาพเขียนสีเก่าแก่ยุคโบราณ เครื่องปั้นดินเผา แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งมณีนุดกล่าวว่า “ขึ้นอยู่กับบริหารจัดการของเราต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาให้เป็นคนรู้จักเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ได้”

 


การท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน ทางออกของชาวบ้านดงมะไฟ

 

มณีนุดเล่าว่า เริ่มทำการท่องเที่ยวมาตั้งแต่ปลายปี 2565 ซึ่งก่อนหน้านั้นมีการสํารวจว่าบ้านเรามีอะไรดีที่จะทําเป็นแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ชุมชนได้บ้าง พบว่ามีของดีหลายอย่างทั้งภาพเขียนสีโบราณอายุสามพันปี มีการขุดพบวัตถุโบราณในถ้ำ กลองมโหระทึกโบราณ และถ้ำหินงอกหินย้อยที่สวยงาม นอกจากนั้น ยังมีป่าเต็งรังที่ยังอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนเข้าไปศึกษาเรียนรู้ได้ ที่สำคัญ คือ มีวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สามารถบอกเล่ากับนักท่องเที่ยวได้

“เรามีเรื่องราวการต่อสู้เป็นจุดขาย ตอนแรกๆ จะเริ่มแบบแนวดาร์ค (Dark) เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่สนใจประเด็นการต่อสู้ของพื้นที่ดงมะไฟได้มาเรียนรู้เรื่องราวของเรา”

มณีนุดบอกว่า ในตอนแรกจะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องหรือเป็นเครือข่ายที่รู้จักชุมชนดงมะไฟ จากนั้น จะขยับขยายรับนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มมากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้และสามารถสร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาเยือน

“เราเลยมีการขยับในเรื่องการเพิ่มพัฒนาศักยภาพของคนในพื้นที่ อย่างตอนนี้เรากําลังมีโครงการร่วมกับเครือข่ายนวัตกรรมคนรุ่นใหม่ สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) ที่จะพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม ให้ขยับไปอยู่ในเรื่องการท่องเที่ยวเป็นไกด์นำเที่ยว” มณีนุดกล่าว
 

 

เติมความหวังกำลังใจ ส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลาน

 

การต่อสู้ของชาวบ้านดงมะไฟที่ยาวนานมาเกือบสามสิบปีแล้ว มณีนุดบอกว่า ก็มีท้อกันบ้าง เพราะเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานมาก ซึ่งบางครั้งก็มีบ้างที่ความคิดไม่ตรงกัน แต่สุดท้ายแล้ว จุดยืนของชาวบ้าน ก็คือจุดเดียวกัน คือ อยากยุติเหมืองให้ได้อย่างถาวร และบริหารจัดการทรัพยากรในบ้านเกิดของตัวเอง

“เหตุผลที่เราอยากให้ดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เพราะว่าเราอยากให้เป็นการพัฒนาโดยชุมชนที่ยั่งยืน โดยไม่ให้พื้นที่ตรงนั้นกลับไปเป็นเหมืองหินให้กับกลุ่มทุนอีก ที่สำคัญ เราอยากส่งต่อคุณภาพชีวิตที่ดีให้ลูกหลานในอนาคต เพราะว่า สมาชิกกลุ่มเราก็มีจํานวนค่อนข้างเยอะ ที่มีลูกหลาน เป็นเด็กเยาวชนคนรุ่นหลังอยู่ในพื้นที่ เราก็มีความรู้สึกว่า เราอยากจะส่งต่อพื้นที่ที่มันสวยงามนี้ให้กับอนาคตของดงมะไฟ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป” มณีนุดกล่าว

“มาถึงตอนนี้ เราก็ยังยืนยันว่า ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพ มีสิทธิมนุษยชน ดังนั้น เราสามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพสังคมที่ดีของตัวเองได้ สําหรับคนที่เจอปัญหา เจอเรื่องราวที่ไม่ค่อยยุติธรรม ทําให้รู้สึกท้อแท้ ท้อถอย แต่ว่าสุดท้ายแล้ว นี่คือบ้านของเรา มันคือชีวิตเรา จะรอให้คนอื่นมาปกป้องมันเป็นไม่ได้ ฉะนั้น เราก็ต้องลุกขึ้นมา เราต้องเข้มแข็ง แล้วช่วยกันปกป้องบ้านเกิดทรัพยากรของตัวเอง”

มณีนุดกล่าวว่า การรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ได้เพียงเพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อโลกทั้งใบ เพื่อทุกๆ คน ไม่มีใครได้รับผลเสียจากการรักษาทรัพยากรธรรมชาติเลย และเป็นสิ่งที่จะส่งต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างยั่งยืน

 


ข้อมูลประกอบและอ้างอิง
1. นักปกป้องต่อสู้ปิดเหมืองหิน ฟื้นแผ่นดินภูผาป่าไม้ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวดงมะไฟ, วารสารผู้ไถ่, ฉบับที่ 123 ก.ย. - ธ.ค.2566
2. เมื่อชาวดงมะไฟ ลงพื้นที่เชียงดาว สร้างแรงบันดาลใจการต่อสู้ การจัดการท่องเที่ยว-เศรษฐกิจชุมชน, ประชาไท, 25-02-2022

 

 

ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน
ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน
ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน
ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน
ฟื้น ‘ป่าดงมะไฟ’ เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่ยั่งยืน
เนื้อหาล่าสุด