Skip to main content

‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่

1 เมษายน 2567

องอาจ เดชา


‘บ้านใหม่สามัคคี’ ถือว่าเป็น ‘ชุมชนกะฉิ่น’ แห่งใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทย ที่อยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านถาวรร้อยกว่าหลังคาเรือน ตั้งอยู่ติดกับโครงการหลวงหนองเขียว ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ใกล้ไม่ไกลจากรอยต่อพรมแดนไทย-พม่าบริเวณด่านกิ่วผาวอก    

ชนกลุ่มนี้ มีชื่อเรียกแตกต่างกัน คนลาหู่เรียกว่า ‘ค้างฉ่อ’ ส่วนคนไทยใหญ่เรียก ‘ขาง’ คนพม่าและคนไทย เรียกว่า ‘คะฉิ่น’ แต่ชาวกะฉิ่น (Kachin) กลับเรียกตนเองว่า ‘จิงเผาะ’ บางคนก็บอกว่าตนเองเป็นคน ‘มาหรู่’ บางคนบอกตัวเองว่าเป็น ‘ระวาง’ บางคนก็บอกว่าตนเองเป็น ‘หลี่ซู’ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้พวกเขาได้ใช้ภาษาจิงเผาะเป็นภาษากลางในการสื่อสารกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์นี้                    

 

'กะฉิ่น' ชาติพันธุ์รุ่มรวยวัฒนธรรม

มีการสำรวจกันว่า ปัจจุบัน มีชนเผ่ากะฉิ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทย ประมาณ 15,000 คน แน่นอน หลายคนอาจมองว่า กะฉิ่นเป็นเพียงชาติพันธุ์กลุ่มเล็กๆ และอยู่กันเงียบๆ ไม่ค่อยมีบทบาทโดดเด่นอะไรในเมืองไทย แต่เมื่อพลิกดูประวัติศาสตร์แล้ว ถือว่ากลุ่มชาติพันธุ์นี้มีความรุ่มรวยทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอีกเผ่าชนหนึ่งเลยทีเดียว         

ในประวัติศาสตร์ของกะฉิ่น บอกไว้ว่า กะฉิ่น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่รวมกันในเมืองใหญ่ชื่อ ‘มิตจินา’ อยู่เหนือสุดของประเทศพม่า ติดกับแม่น้ำอิระวดี มีอาณาเขตติดกับธิเบต จีน และอินเดีย ดินแดนแห่งนี้  แต่ก่อนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการปกครองของพม่าแต่อย่างใด และเมื่ออังกฤษเข้ามาครอบครองพม่า กะฉิ่นก็ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในตอนนั้น แต่มาถูกบุกรุกโดยจีนอยู่ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งมีมีการลงนามในสัญญาชายแดนระหว่างพม่ากับจีน แต่ก็มาถูกรัฐบาลทหารพม่าพยายามเข้ามาควบคุม จนนำไปสู่การตั้งกองทัพอิสรภาพกะฉิ่น (KIA) ขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 เป็นต้นมา จนกระทั่งใน พ.ศ. 2537 ได้ทำสัญญาหยุดยิง โดยขอตั้งเป็นเขตปกครองอิสระ แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงยังคงมีการสู้รบกับรัฐบาลพม่ามาจนถึงทุกวันนี้  

จึงไม่แปลกใจว่า ในงานเต้นรำมะหน่าวที่บ้านใหม่สามัคคี ในช่วงเดือนธันวาคม จะมีพี่น้องชนชาติกะฉิ่นที่มาจากเมืองมิตจินา รวมทั้งชาวกะฉิ่นที่กระจัดกระจายอยู่ในหลายๆ ประเทศ เช่น พม่า จีน ออสเตรเลีย เนปาล ฯลฯ พากันเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง                            

เมื่อพูดถึง พิธีการ “เต้นรำมะหน่าว” นั้นถือว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติกะฉิ่นที่สืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน มีการบอกเล่าไว้ว่า พิธีเต้นรำมะหน่าว ในอดีตนั้น จะจัดขึ้นเพื่อถวายสักการะแด่ “นัต มะได” (Madai) และ “จัน” (Jan) ซึ่งเป็น “ผี” ที่มีอำนาจบันดาลให้สันติและความสุขความเจริญแด่มนุษย์

การเต้นมะหน่าวตามแบบความเชื่อดั้งเดิมของกะฉิ่น จะต้องคารวะนัตทั้งสองก่อนเสมอ โดยมีหมอผีเป็นผู้นำพิธีเซ่นไหว้ด้วยวัว ควาย หมู หรือไก่ ต่อมา ชาวกะฉิ่นได้หันมานับถือศาสนาคริสต์ ทำให้การรำมะหน่าวเปลี่ยนมาเป็นการสักการะพระผู้เป็นเจ้าแทนที่จะเป็นนัต แต่ในปัจจุบัน ที่เมืองมิตจินา เมืองหลวงของรัฐกะฉิ่น ก็ยังคงมีการจัดพิธีการรำมะหน่าวกันขึ้นทุกปี เพื่อแสดงถึงการรวมพลัง ความสามัคคีกัน              

ในขณะที่พิธีเต้นรำมะหน่าวในประเทศไทยนั้น ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2-5 ธันวาคม 2545 ที่บ้านใหม่สามัคคี เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็ได้มีการเต้นรำกันในทุกๆ สองปี             

บนลานหญ้ากว้างกลางหมู่บ้าน จะมีเสามะหน่าวตั้งปักไว้สูงเด่นเรียงกันเป็นแนวนอน 10 เสาติดกันโดยแต่ละเสาก็จะมีลวดลายสีสันงดงาม แต่แฝงไว้ด้วยความหมาย มีทั้งรูปใบไม้ ต้นไม้ สัตว์ต่างๆ เช่น นกเขา เสือ ปลา มังกร กบ ฯลฯ ว่ากันว่าล้วนซ่อนนัยยะบ่งบอกถึงภาวะและคุณสมบัติที่แตกต่างของมนุษย์ นอกจากนั้น ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ ภาพของตะวัน จันทร์ ดาว  ซึ่งบ่งบอกถึงการดำรงชีวิตของสัตว์โลก จักรวาล และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นผู้สร้าง และที่โดดเด่นก็คือ มีการสลักลวดลายแผ่นไม้เป็นรูปนกเงือกตัวใหญ่ทอดยาวระหว่างเสามะหน่าว

การเต้นรำมะหน่าว จะมีการจัดขึ้นทุกๆ สองปี ช่วงต้นเดือนธันวาคม ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่รู้ข่าวพากันมาเที่ยวชมกันอย่างล้นหลาม บางคนถึงกับกระโดดเข้าร่วมเต้นรำกันอย่างสนุกสนาน เบิกบานใจ         

การแต่งกายของชนเผ่ากะฉิ่น มีความโดดเด่นแปลกตาต่อผู้พบเห็นเป็นอย่างมาก เครื่องแต่งกายของผู้หญิงกะฉิ่นจะสวยสดงดงามมาก สวมใส่เสื้อกำมะหยี่ดำประดับด้วยเครื่องเงินบริเวณบนเสื้อช่วงไหล่ ลักษณะเป็นเม็ดเงินคล้ายโล่ขนาดเล็ก เหมือนกระดุมเงินขนาดใหญ่วับวาวประดับตามแผ่นคอเสื้อ บริเวณอกและโค้งไปตามไหล่ นอกนั้นยังมีผ้าโพกหัว ผ้าคาดเอว รวมทั้งถุงน่องสีสดลวดลายเดียวกันกับผ้าซิ่นสีแดงที่ทอด้วยมือ

ส่วนผู้ชายจะใส่กางเกง เสื้อสีขาว สวมหมวก หรือใช้ผ้าเคียนศีรษะ ที่สำคัญ ผู้ชายจะต้องมีย่ามกับดาบประจำตัว เพื่อแสดงให้ทุกคนได้รู้ว่า พวกเขาคือชนเผ่านักรบ ที่มีความกล้าหาญนั่นเอง ในงานประเพณีรำมะหน่าว ผู้ชายกะฉิ่นหลายคนจะสวมหมวกประดับตบแต่งด้วยเขาสัตว์และขนนก บ้างมีรูปหัวนกเงือก บ้างมีเขี้ยวหมูป่ายาวโง้ง ติดรอบๆ ปีกหมวกดูแปลกตา ว่ากันว่า นอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังสื่อเสมือนพลังอำนาจ แสดงให้ศัตรูทั้งหลายได้กลัวเกรงด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของประเพณีในปัจจุบัน  ชุมชนบ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) ยังมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวกะฉิ่นและยังคงดำรงอยู่คือ ประเพณีการรำมะหน่าว การกินข้าวใหม่ การสู่ขอคู่ครอง พิธีกรรมการแต่งงาน พิธีกรรมการขึ้นบ้านใหม่ การตั้งชื่อเด็ก “จะถ่องทู”( Ja Htawng Htu) การจัดงานปีใหม่ การจัดงานคริสต์มาส พิธีการขอพรเพาะปลูก นอกจากนั้น มีประเพณีที่สูญหายไปแล้ว เช่น พิธีกรรมที่เรียกว่า “กะบูงดู่ม” (Kum Ba Dum) เป็นพิธีกรรมใช้ประกอบกับงานศพเพื่อส่งวิญญาณ ปลอบขวัญญาติพี่น้อง พิธีกรรม “กูมบาสะไหล่” (Kum Ba Shalai) เป็นพิธีรับเอาชาวต่างชาติเข้าตระกูล พิธีกรรม “กูมบาจู้น” (Kum Ba Jun) เป็นพิธีรับเอาญาติพี่น้องตนเข้าตระกูล พิธีกรรมเหล่านี้ เป็นประเพณีที่เป็นการสื่อสารกับผี ปัจจุบันชาวกะฉิ่นส่วนใหญ่หันมานับถือศาสนาคริสต์ทั้งหมดแล้ว จึงทำให้ประเพณีดังกล่าวได้สูญหายไป

 


'หม่าจับทู' อาหารที่โดดเด่นของกะฉิ่น

หม่าจับทู หรือ น้ำพริกกะฉิ่น มีหลายหลายสูตร หลายเมนู  เครื่องปรุงส่วนใหญ่จะเน้นการนำทั้งพริกสดมาคั่วจนแห้งและหอม และก็มีพริกแห้งด้วย จุดเด่นและแตกต่างกับของชนเผ่าอื่น ก็คือ จะมีส่วนผสมของไข่กับขิง หรือเนื้อแห้งกับขิง เป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีกระเทียม โหระพา มาผสมตำด้วยกัน

แสงชัย วารินอมร ผู้นำชุมชนกะฉิ่น และเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่สามัคคี หย่อมบ้านกะฉิ่น เล่าว่า หม่าจับทู หรือน้ำพริกกะฉิ่น นอกจากชาวกะฉิ่นจะใช้เป็นอาหารประจำวันแล้ว ยังมีการทำน้ำพริกนี้ในงานสำคัญต่างๆ ของชนเผ่ากะฉิ่นด้วย เช่น งานเต้นรำมะหน่าว งานขึ้นบ้านใหม่ พิธีแต่งงาน รวมไปถึงครอบครัวที่คลอดลูกใหม่ ก็จะมีการทำน้ำพริกนี้มาใช้ประกอบในพิธีเหล่านี้ เพื่อเป็นสิริมงคล

ถึงแม้ปัจจุบัน ชุมชนกะฉิ่นเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ส่วนใหญ่ในวันปกติทั่วไป ชาวบ้านจะสวมเครื่องแต่งกายเหมือนกับคนพื้นเมืองและคนพื้นราบทั่วไป แต่ยังถือว่าโชคดีที่แม่เฒ่าชาวกะฉิ่น ยังคงนั่งทอผ้าลายกะฉิ่นไว้ใส่ และเอาไว้ให้ลูกหลานได้สวมใส่กันในช่วงเทศกาลประเพณีต่างๆ

แม่เฒ่าจะคอน ละชี วัย 84 ปี บอกว่า ปกติเมื่อว่างจากทำงานบ้าน ก็จะมานั่งทอผ้าตรงเพิงพักหน้าบ้าน และที่ผ่านมา แม่เฒ่าจะถ่ายทอดวิชาความรู้เรื่องการทอผ้านี้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้สืบทอดวิชาการทอผ้า ลายผ้าของกะฉิ่นเอาไว้ไม่ให้มันสูญหายไป

“ตอนนี้ แม่สอนให้ลูกหลานทอผ้า ได้แล้ว 4 คนแล้ว เมื่อก่อนแม่เคยไปแสดงงาน ไปทอผ้ากะฉิ่นให้เขาดูถึงกรุงเทพฯ โน้นเลยนะ แต่ตอนนี้อายุมากแล้ว เดินทางไปไม่ไหวแล้วละ” แม่เฒ่าจะคอน บอกเล่าด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ

 


ความหวังบนความเปลี่ยนแปลง การปรับตัวในโลกยุคใหม่

ถึงตอนนี้วิถีชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง ชนเผ่ากะฉิ่นที่เชียงดาว จึงมีความพยายามตั้งรับปรับตัวให้รู้และเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง

อนุชาติ ลาพา ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โฮมสเตย์ บ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น กล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวกะฉิ่นบ้านใหม่สามัคคีว่า ปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 1,300 กว่าคน แต่วัยรุ่นและคนวัยทำงานจะไปเรียนหรือเข้าไปทำงานในเมือง เหลือแต่คนแก่และเด็กในหมู่บ้านประมาณ 200 กว่าคน ทำให้วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมถูกกลืนหายไป  

การทำโครงการส่งเสริมศักยภาพแกนนำและเยาวชนในบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น ในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชน จึงเป็นอีกกลวิธีหนึ่งในการรื้อฟื้นประเพณี วัฒนธรรมเก่าแก่ให้กลับคืนมา และยังเป็นการรวมตัวกันของคนกะฉิ่น ที่ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็มักจะกลับถิ่นฐานในช่วงที่มีกิจกรรมรำมะหน่าว พร้อมกันนั้นการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ถือเป็นการเผยแพร่ให้สังคมรู้จัก “กะฉิ่น” อย่างกว้างขวางมากขึ้น

เช่นเดียวกับ แสงชัย วารินอมร ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บ้านใหม่สามัคคี (กะฉิ่น) บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ หลังวิกฤติปัญหาเรื่องโควิด-19 ก็อยากให้มีการรื้อฟื้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมภายในชุมชนให้คืนกลับมาอีกครั้ง โดยช่วยกันรักษาวัฒนธรรมประเพณีของกะฉิ่นให้คงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะประเพณีงานรำมะหน่าว อยากให้มีการจัดขึ้นสองปีครั้งเหมือนที่ผ่านมา

“อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ที่ผ่านมา ชุมชนของเรา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่ ทำสวน ปลูกข้าวโพด ข้าว มะม่วง ถั่วลิสง และอะโวคาโด มาถึงตอนนี้ ชุมชนกะฉิ่นของเราถือว่าเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากแล้ว ทุกวันนี้ จะมีโครงการหลวงหนองเขียว และเทศบาลตำบลเมืองนะ เข้ามาช่วยสนับสนุนในหลายๆ ด้าน ทำให้ชุมชนมีโอกาสพัฒนาชุมชนและทุกคนก็สามารถตั้งเนื้อตั้งตัวกันได้แล้ว”

 


อะโวคาโด ผลไม้เศรษฐกิจของชาวกะฉิ่น เชียงดาว

ผู้นำชุมชนกะฉิ่น บอกว่า อยากให้ชุมชนกะฉิ่นปรับเปลี่ยนวิถีเกษตรกรรมแบบดั้งเดิม จากทำไร่ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง มาปลูกอะโวคาโดกัน เนื่องจากทางโครงการหลวงหนองเขียวได้มีการแนะนำส่งเสริมจนเริ่มออกลูก ขายผลผลิตกันได้มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า อะโวคาโดนั้นช่วยสร้างรายได้ดีกว่าปลูกพืชไร่ไม้ผลอย่างอื่นมาก

ปัจจุบัน อะโวคาโด ถือเป็นไม้ผลที่โครงการหลวงหนองเขียว ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ปลูกเป็นอาชีพ โดยพันธุ์ที่ส่งเสริมเป็นหลัก คือ พันธุ์ Hass และ Buccaneer ซึ่งเป็นพันธุ์การค้าทั่วโลก สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพพื้นที่และภูมิอากาศบนพื้นที่สูงของไทย มีโรคและแมลงรบกวนน้อยและให้ผลผลิตดกมาก

“เราฝันและวางแผนอนาคตเอาไว้ว่า อยากให้พี่น้องกะฉิ่นทุกครอบครัว ได้หันมาปลูกอะโวคาโดกันอย่างน้อย 50 ต้นขึ้นไป อย่างผมตอนนี้ปลูกไว้ 100 กว่าต้น แน่นอนว่า ราคาตลาดของอะโวคาโดนั้นดีกว่าปลูกข้าวโพดหรือไม้ผลอื่นๆ อย่างแน่นอน และต่อไปเราอยากเสาะหาหน่วยงานที่สนใจได้เข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตในชุมชน เช่น แปรรูปอะโวคาโดให้เป็นอาหาร ขนม หรือแปรรูปอะโวคาโดเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม ซึ่งผมคิดว่าถ้าทำได้ จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีอาชีพที่มั่นคง ยั่งยืน และยังเป็นการสร้างงานในชุมชนกะฉิ่นของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย” แสงชัยกล่าว


ข้อมูลประกอบ
1. ภู เชียงดาว,รำมะหน่าว ประวัติศาสตร์กะฉิ่นเชียงดาวในเทศกาลฟ้อนรำ,นิตยสารสารคดี ฉบับมกราคม 2565
2. โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์ประเพณีการรำมะหน่าว (MANAU) ของชนเผ่ากะฉิ่นในชุมชนบ้านใหม่สามัคคีกะฉิ่น หมู่ 14 ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, อนุชาติ ลาพา และคนอื่น ๆ โดยได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจากมูลนิธิโครงการหลวงและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.),มกราคม 2557
3. หนังสือกะฉิ่น : เมื่อวานและวันนี้,มนตรี กาทู และคณะ, ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิมพ์,พรสุข เกิดสว่าง บรรณาธิการ,กันยายน 2555       
 

‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
‘กะฉิ่นเชียงดาว’ รักษารากเหง้าเดิม เดินหน้าสู่เศรษฐกิจยุคใหม่
เนื้อหาล่าสุด