Skip to main content

‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน

29 มีนาคม 2567

มูฮำหมัด ดือราแม

 

ชายแดนใต้ปีนี้ธุรกิจเสื้อผ้าชุดมลายูแข็งกันดุจริงๆ โดยเฉพาะหลากหลายแบรนด์ดังจากมาเลเซียที่พากันมาเปิดตลาดในพื้นที่ ต้อนรับเทศกาลรายอฉลองสิ้นสุดวันถือศีลอดเดือนรอมฎอนที่ถึงในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จนเบียดขับแบรนด์ของคนในพื้นที่จนตกขอบ ทั้งๆ ที่ฝีมือการตัดเย็บของคนในพื้นที่ก็ไม่ใช่ธรรมดา

ท่ามกลางความดุเดือดนั้น ก็มีความพยายามของคนปาตานี/ชายแดนใต้ที่จะสร้างแบรนด์ระดับพรีเมียมขึ้นมาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดให้ได้ ภายใต้สโลแกน “แบรนด์ของคนปาตานีเพื่อคนปาตานี” นั่นคือ “Bustani” ของ “มาหามะสาบรี เจ๊ะเลาะ” หรือ “บรี” อดีตช่างภาพผู้ชื่นชอบแฟชั่นมลายูเป็นทุนเดิม

 


กระแสตื่นตัวชุดมลายู แต่แบรนด์มาเลย์หอบกำไรกลับบ้าน

 

มาหามะสาบรี เล่าว่า แบรนด์ดังๆ จากมาเลย์เริ่มเข้ามาในช่วง 2-3 ปีมานี้ เนื่องจากกระแสตื่นตัวต่อวัฒนธรรมมลายูพุ่งสูงขึ้นมากจากการณรงค์ของ “Pemuada” (กลุ่มเยาวชน) โดยเฉพาะการแต่งกายด้วยชุดมลายู โดยมีหมุดหมายสำคัญ คือ การชุมนุมแต่งชุดมลายู ณ ชายหาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 อันเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนคือความหวังแห่งสันติภาพ”

การชุมนุมครั้งนั้นมีเยาวชนชายแต่งชุดมลายูเข้าร่วมถึง 5 หมื่นคน และเป็นที่มาที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ฟ้องร้องดำเนินคดีแกนนำข้อหายุยงปลุกปั่น จากการที่มีคนแอบนำธงขบวนการ BRN มาชูในงาน รวมถึงคำปราศรัยปลุกจิตสำนึกเยาวชนที่ฝ่ายความมั่นคงมองว่า มีเนื้อหาผิดกฎหมาย

ถึงกระนั้นก็ตาม กระแสและความตื่นตัวต่อการสวมชุดมลายูนับวันยิ่งขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการนัดรวมตัวถ่ายภาพหมู่ในโอกาสสำคัญๆ ในสถานเชิงสัญลักษณ์ของพื้นที่ เช่น ที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี หรือมัสยิดตะโละมาเนาะ จ.นราธิวาส รวมถึงการนัดชุมนุมใหญ่ทุกปีในช่วงเทศกาลรายอ

จากกระแสดังกล่าว ทำให้นักธุรกิจเสื้อผ้าชุดมลายูโดยเฉพาะจากมาเลเซียไม่พลาดโอกาสแบบนี้ เพราะหากคิดแค่ราคาชุดมลายูที่เยาวชนกว่า 5 หมื่นคนใส่ในการชุมนุมชุดละ 500 บาท ก็มีมูลค่ารวมถึง 25 ล้านบาท ยังไม่นับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหญิง (Pemudi) อีกกว่าหมื่นคนหลังจากนั้น แล้วคนทั่วไปในพื้นที่อีกหลายแสนคนก็ต้องการสวมชุดมลายูในเทศกาลรายอเช่นกัน

งานนี้มีแนวโน้มว่า แบรนด์ดังจากมาเลเซียจะหอบรายได้เป็นกอบเป็นกำกลับไปทุกปี เพราะกระแสแรงขึ้นทุกปี เสมือนเทศกาลแฟชั่นประจำปีที่มาพร้อมกับการแสดงพลังเชิดชูอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม “อิสลาม มลายู ปาตานี” ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง?

 

หากคิดแค่ราคาชุดมลายูที่เยาวชนกว่า 5 หมื่นคนใส่ในการชุมนุมชุดละ 500 บาท ก็มีมูลค่ารวมถึง 25 ล้านบาท ยังไม่นับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนหญิง (Pemudi) อีกกว่าหมื่นคนหลังจากนั้น แล้วคนทั่วไปในพื้นที่อีกหลายแสนคนก็ต้องการสวมชุดมลายูในเทศกาลรายอเช่นกัน


ต้องรวยเพื่อช่วยคนไม่มีงาน ช่วยมีไอเดียแต่ไม่มีทุน

 

บรีบอกว่า การชุมนุมครั้งนั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่สร้างแบรนด์ Bustani ขึ้นมา ทว่าแรงบันดาลใจจริงๆ มาจากหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องสู้เพื่อตัวเองและช่วยคนในพื้นที่

บรี เล่าว่า ในช่วงที่ชีวิตตกต่ำสุดๆ เพราะงานในสาย Production ลดลงเพราะมีคนรุ่นใหม่ในสายนี้เยอะขึ้นแถมฝีมือก็ร้ายกาจ ตนก็โชคดีที่ได้รู้จักคนมาเลเซียคนหนึ่งที่อยู่ในวงการตัดเย็บมานานกว่า 30 ปีและมีโรงงานตัดเย็บของตัวเอง เขาแนะนำว่าถ้าจะเอาแบรนด์คนอื่นมาขายจะได้กำไรน้อย สู้ทำแบรนด์ของตัวเองจะดีกว่า แต่ต้องมียอดสั่งอย่างน้อย 10,000 ตัวขึ้นไป

จากนั้นเขาจึงกลับมาปรึกษาที่บ้านและเดินเข้าหากลุ่มเยาวชน ถามพวกเขาว่าชุดมลายูที่สวมใส่นั้นเอามาจากไหน จนได้ข้อมูลว่าพวกเขาสั่งผ้าม้วนใหญ่แล้วแบ่งตัดเย็บกันคนละชุดจึงได้ราคาที่ถูกลง แต่ข้อแนะนำที่สุดเจ๋ง คือ เขาสามารถทำได้ยอดได้ 10,000 ตัวแน่นอนถ้าสามารถตัดเย็บชุดมลายูให้มีคุณภาพเท่าแบรนด์ดังของมาเลเซียและได้ของทันเวลาก่อนเทศกาลรายอ

เมื่อเห็นโอกาสก็คุยเรื่องเงินทุน กระทั่งตกลงว่าจะใช้วิธี Pre Order คือใครมีเท่าไหร่ก็จ่ายมาก่อนจนมีเงินพอจะเริ่มธุรกิจได้โดยไม่ต้องกู้เงินธนาคาร

ที่จริงก่อนหน้านี้ “บรี” ไปคุยกับ SME Bank มาแล้ว แต่กู้ไม่ได้เพราะยังไม่ได้จดทะเบียนและไม่มี statement “จะมีได้ไงก็เพิ่งจะเริ่ม” พอขอสินเชื่อไม่ได้ก็รู้สึกท้อและน้อยใจว่าคนจนไม่มีสิทธิรวยหรือ

แต่ก็กลายเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจให้ต้องสู้ “กูต้องรวยให้ได้ จะได้ช่วยอีกหลายคนที่ไม่มีงาน ไม่มีทุนแต่มีไอเดีย”

 


แบรนด์คนปาตานีที่จะสู้กับมาเลเซีย

 

จากนั้น บรีก็เดินหน้าดิวกับโรงงานและทำระบบ Pre Order โดยยืมเงินมาลงทุนตามหลักมุฎอรอบะห์ (Mudarabah - Profit sharing Concept) ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีข้อตกลงแบ่งปันผลกำไรตามสัดส่วน 70:30 (ผู้ประกอบการได้ 70 ผู้ลงทุนได้ 30) หลังจากคืนเงินต้นไปแล้ว

(หลักการของมูดอรอบะฮ์ คือ การทำสัญญาธุรกิจหรือร่วมลงทุนระหว่างเจ้าของเงิน (ผู้ลงเงิน) กับคนทำธุรกิจ(ผู้ลงแรง) โดยตกลงสัดส่วนในการแบ่งปันกำไรล่วงหน้าถ้ากิจการนั้นมีกำไร แต่ถ้าขาดทุน ผลขาดทุนที่เป็นตัวเงินจะเกิดขึ้นกับผู้ลงเงิน ส่วนผู้ทำธุรกิจก็จะไม่ได้ผลตอบแทน)

“บางคนไม่เห็นด้วยที่ให้ค่าตอบแทนเจ้าของเงินสูงเกินไป แต่ถ้าไม่เอาเงินเขามาเราก็เริ่มต้นธุรกิจไม่ได้เช่นกัน ดังนั้นปีนี้ขอให้ได้แบรนด์กับร้านก่อน เพื่อให้คนในพื้นที่เห็นว่านี่คือแบรนด์ของคนปาตานี ส่วนกำไรขาดทุนค่อยมาคุย” บรีบอก

 


การแข่งขันรุนแรง แบรนด์ดังงัดกลยุทธ์ดึงลูกค้า

 

ในที่สุด แบรนด์ Bustani ก็เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อ 13 มีนาคม 2567 ในงาน Grand Opening พร้อมกับเปิดร้านสาขาแรกที่ จ.นราธิวาส ตามด้วยสาขาที่ 2 ที่ จ.ยะลาเมื่อ 24 มีนาคม 2567

“ผมจะสู้จนแบรนด์ของปาตานีสามารถอยู่ได้ในระดับเดียวกับแบรนด์แนวหน้าของมาเลเซีย”  

มาหามะสาบรี บอกว่า แบรนด์ชุดมลายูชื่อดังในไทยมาจากมาเลเซียทั้งนั้น ส่วนแบรนด์ของคนในพื้นที่ก็มีแต่ยังพัฒนาไปไม่ถึงระดับนั้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างทั้งเงินทุน คุณภาพและการโปรโมท

“ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าปีนี้มีแบรนด์ชุดมลายูจากมาเลเซียจะเข้ามาเยอะมาก เขาคงเห็นโอกาสและคิดว่าคนในพื้นที่มีกำลังซื้อมาก เมื่อมากันเยอะการแข่งขันก็สูง บางเจ้าถึงกับซื้อตัว Influencer ในพื้นที่ด้วยค่าตัวเป็นล้าน จ่ายแบบผูกมัดเป็นปี ตอนนี้ Influencer แถวหน้าของปาตานีหลายคนจะอยู่กับแบรนด์ทั้งนั้น”

 

“ผมจะสู้จนแบรนด์ของปาตานีสามารถอยู่ได้ในระดับเดียวกับแบรนด์แนวหน้าของมาเลเซีย”  

 

อีกกลยุทธ์คือการชิงโชค เมื่อซื้อสินค้าแล้วจะได้คูปองชิงโชคสินค้าหรือ Package ไปทำพิธีอุมเราะห์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

“การแข่งขั้นมาถึงจุดนี้แล้วซึ่งน่ากลัวแต่ก็สนุกดี แต่สำหรับ Bustani ไม่ค่อยสนุกเท่าไหร่ เพราะเราต้นทุนน้อย เราต้องทำการบ้านให้เยอะว่าจะสู้เขาได้อย่างไร นั่นเป็นอีกแรงบันดาลใจที่ผมต้องไปให้ถึง”

แม้มีเงินทุนไม่มากพอจะสู้ได้ในตอนนี้ แต่เรามีต้นทุนทางสังคม โดยเฉพาะเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อนๆสมัยเรียนและลูกค้าเก่าสมัยที่ยังทำงาน Production

 


แบ่งรายได้เข้ากองทุนเด็กกำพร้า-แม่เลี้ยงเดี่ยว หวังตั้งโรงงานสร้างงานให้คนในพื้นที่

 

เป้าหมายต่อไปของ Bustani คือ การมีโรงงานตัดเย็บของเราเอง หรือ Bustani Garment ในพื้นที่ภายใน 4 ปี 5 ปีหรือ 10 ปีก็แล้วแต่ และจ้างคนในพื้นที่ทำงาน

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น Bustani วางแผนไว้ว่า หลังจากหักกำไร 30% ให้เจ้าของเงินทุนแล้ว ที่เหลือจะหัก 20% มาเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือการตัดเย็บเสื้อผ้าของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวภายใต้มูลนิธินูซันตาราเพื่อเด็กกำพร้าซึ่งมีประมาณ 300 กว่าคน โดยเฉพาะการตัดเย็บชุดมลายูผู้ชาย จากนั้นค่อยตั้งโรงงานตัดเย็บไว้รองรับ

แต่ระหว่างนั้นเขาจะดิวกับโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องการตัดชุดมลายูในแบรนด์ Bustani หรือแบรนด์ของเขาเองก็ได้ เมื่อมีโรงงานแล้วก็จะให้บริการในลักษณะ OEM (รับผลิตให้ยี่ห้ออื่น) ซึ่งกำไรที่ได้ก็ตั้งในจะหัก 1% มอบให้กองทุนช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์

 

Bustani วางแผนไว้ว่า หลังจากหักกำไร 30% ให้เจ้าของเงินทุนแล้ว ที่เหลือจะหัก 20% มาเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือการตัดเย็บเสื้อผ้าของกลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวภายใต้มูลนิธินูซันตาราเพื่อเด็กกำพร้าซึ่งมีประมาณ 300 กว่าคน

 

เขาบอกว่า หลายๆ แบรนด์ต้องการลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อจะได้กำไรสูงสุด บางคนสั่งผ้าจากโรงงานในประเทศจีนที่มีราคาถูกมาก แต่ส่วนใหญ่ก็ล้มเพราะได้ของไม่ตรงสเป็ค ได้ของช้าไม่ทันขายในวันรายอ เขาจึงหาทางเลือกอื่น เช่น จากเวียดนาม แต่ก็ไม่ลังเลที่จะดิวโรงงานในมาเลเซียเพราะแก้ปัญหาที่กล่าวมาได้ และยังมีคุณค่าในด้านความรู้สึกด้วย เพราะเป็นชุดมลายูที่ตัดเย็บโดยคนมลายูเอง 100% แม้คนละประเทศกันและต้นทุนสูงกว่าจีน

 


ฝีมือตัดเย็บคนปาตานียอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับ

 

บรีบอกว่า คนปาตานีมีฝีมือในการตัดเย็บมากจนคนมาเลเซียยังยอมรับ ถ้าใครทันยุค 80-90 จะรู้ว่าในมาเลเซียชุดละหมาดผู้หญิงมาจากบ้านเราทั้งนั้น แล้วมีหลายที่ชำนาญในการตัดเย็บชุดโต๊ป (ชุดคลุมยาว) เพราะเคยทำงานตัดเย็บในเมืองมักกะห์ ซาอุดิอาระเบีย แต่ส่วนใหญ่ก็ชำนาญสำหรับชุดที่ผู้หญิงสวมใส่

“ผมเจอกับตัวเองว่า ชุดโต๊ปผู้หญิงที่คนปาตานีตัดเย็บเนี้ยบมาก ไม่มีที่ติเลย แต่พอเป็นชุดมลายูผู้ชายคนละเรื่องกันเลย สวมใส่แล้วไม่ได้ทรง ยิ่งกางเกงนี่ไม่ได้เลย” นี่จึงเป็นเหตุผลที่ชุดมลายูผู้ชายจากมาเลเซียจึงขายดี และเป็นอีกเรื่องที่บรีต้องการแก้ปัญหานี้ให้ได้

“อย่างที่บอกคือ กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวมีฝีมือตัดเย็บดีอยู่แล้ว ยกเว้นชุดผู้ชาย ดังนั้น Bustani ต้องเติมเต็มช่องว่างให้ได้ เราต้อง Up Skill พวกเขา แล้วในอนาคตเราก็จะมีชุดมลายูผู้ชายที่ตัดเย็บโดยคนปาตานีเองทั้งหมด”

 


ถึงจะเป็นแบรนด์ใหม่ แต่ไม่ขายตัดราคา

 

สำหรับ Bustani มีทั้งชุดมลายูผู้ชาย ผู้หญิงและชุดเด็ก โดยชุดผู้ชายมี 2 แบบมาตรฐาน คือแบบคอปกกระดุม 5 เม็ด (Cekok Musang) และแบบคอกลมกระดุม 1 เม็ด(Telok Belango)

ส่วนชุดผู้หญิงเป็นชุดกูรงเรียวอย่างเดียวซึ่งเป็นชุดเบสิคที่ทุกคนสวมใส่ได้ ไม่เน้นสัดส่วนและไม่รัดรูปจนเกินไป ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม เพราะเสื้อยาวถึงหัวเข่าและกระโปรงบาน แต่ชุดมลายูของผู้หญิงจริงๆ จะมีแบบที่หลากหลายมากและมีต้นทุนแตกต่างกันไป

นอกจากนี้ยังมีเซ็ตครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ทั้งบ้านจะใส่ชุดสีเดียวกันซึ่งจะขายดี โดยมีทั้งหมด 6 สี แต่ถ้าเฉพาะผู้ชายจะมี 9 สี ผู้หญิงมี 10 สี ส่วนชุดเด็กทั้งหญิงชายมี 6 สี ตอนนี้เรามีคอลเลคชั่นชุดรายอ แต่คำนึงถึงการสวมใส่ในช่วงอื่นๆ ด้วย เช่น ใส่ทำงานหรือใส่เท่ๆ ทุกวันก็ได้

ส่วนราคาก็ขายราคาทั่วไปที่เข้าถึงได้โดยไม่ตัดราคาของคนอื่น ซึ่งบรีบอกว่า “ผมเคยล้มมาก่อนก็เพราะการตัดราคานี่แหละ ผมจะไม่ทำกับคนอื่น”

 


ทำเสื้อผ้าให้ตอบโจทย์ ทั้งคุณภาพและคุณค่าทางใจ

 

ชุดมลายูสามารถสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างไร บรีขอให้ประเมินง่ายๆ ด้วยสายตาว่า แค่ชุดมลายูของเยาวชนชายที่เข้าร่วมชุมนุมกว่า 5 หมื่นคน เยาวชนหญิงอีกหมื่นกว่าคนก็มีมูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาทแล้ว ถ้ารวมคนอื่นๆ อีกก็น่าจะหลายแสนคน มูลค่ารวมจะขนาดไหน

เขาตั้งคำถามว่า มูลค่ามหาศาลขนาดนี้ แล้วใครได้ส่วนแบ่งการตลาดตรงนั้นบ้าง ส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์จากมาเลเซีย แล้วทำไมคนปาตานีไม่ใส่แบรนด์ของคนในพื้นที่เองเพราะจะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้คนในพื้นที่ได้อีกเยอะ

แต่ปัญหาก็คือ มีแบรนด์ใดบ้างที่มีคุณภาพเทียบเท่าของมาเลย์ ซึ่ง “Bustani จะพยายามทำตรงนี้ให้ดีที่สุด เราทำการบ้านมาแล้ว”

แต่การจะไปบังคับให้คนมาสวมชุดของ Bustani คงไม่ได้ ดังนั้น “ต้องทำให้สินค้าของเราให้ตอบโจทย์ทั้งคุณภาพและมีคุณค่าทางจิตใจสำหรับคนมลายูปาตานีชายแดนใต้”

 


แฟชั่นปาตานีไม่เป็นรองใคร วาดหวังให้เติบโตในอาเซียน

 

บรีบอกว่า ตอนนี้ยังไม่อยากพูดถึงการตั้งเป้ายอดขาย แต่อยากบอกว่า ตอนนี้มีแบรนด์ของคนปาตานีแล้วที่มีสินค้าคุณภาพแล้ว ฉะนั้นจงภูมิใจกับแบรนด์นี้ แต่ก็พร้อมรับฟังทุกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรจะแก้ไขตรงไหนอย่างไร

เมื่อถามว่าแล้วจะย้อนกลับไปขายในมาเลเซียด้วยได้หรือไม่ บรีตอบว่า ต้องศึกษาก่อน แต่ก็มีเป้าหมายอยู่ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ชุดมาลายู แต่จะเป็นแฟชั่นไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์คนมาเลเซีย เพราะคนมาเลย์ก็ชอบแบรนด์จากไทยเหมือนกัน

“ถ้าจะย้อนกลับไปด้วยชุดมลายูก็อาจจะหนักหน่อย เพราะมีเจ้าถิ่นอยู่แล้ว ซึ่งเขามีเน็ตไอดอลดังๆ ช่วยโปรโมทสินค้าให้ แต่เราก็อยากจะเติบโตในภูมิภาคนูซันตารา (ส่วนที่เป็นภาคพื้นทะเลของอาเซียน) ด้วย ไม่เฉพาะในมาเลเซียเท่านั้น เพราะเชื่อมั่นว่าแฟชั่นของปาตานีก็ไม่แพ้ใคร”

 


ภูมิหลังกระแสตื่นตัวในอัตลักษณ์มลายูปาตานี

 

บรีบอกว่า ในแง่การรักษาอัตลักษณ์มลายูในช่วง 4-5 ปีหลังมานี้มีมากขึ้น มีความรู้สึกรักในอัตลักษณ์มลายูทั้งภาษาและเครื่องแต่งกาย และด้วยพลังโซเชียลมีเดียทำให้เห็นการเคลื่อนไหวเรื่องนี้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว

“จำได้ว่า ตอนเราเริ่มแต่งชุดมลายูก็ถูกแซวว่าเป็นคนมาเลย์ จนมีการถกเถียงกันว่า คนที่นี่แต่งชุดมลายูมาแต่เดิมหรือไม่ โดยหาแหล่งอ้างอิงจากภาพถ่ายเก่าๆ เมื่อ 50 ปีที่แล้วก็พบว่า ใช่ พวกเราจึงลุกขึ้นมารณรงค์พร้อมให้ความรู้เรื่องชุดมลายูว่า มีชื่อเรียกอย่างไรบ้าง มีชุดประจำของรัฐไหนบ้าง แล้วชุดมลายูดั้งเดิมของปาตานีเป็นยังไง”

“เรารณรงค์กันปีต่อปีจนเกิดกระแสขึ้นมา ทำให้คนอยากถ่ายรูปหมู่ด้วยการแต่งชุดมลายู เริ่มจากในระดับหมู่บ้านก่อน ปีต่อมาก็รวมตัวถ่ายรูปในสถานที่เชิงสัญลักษณ์ของปาตานีอย่างมัสยิดตะโละมาเนาะและมัสยิดกรือเซะ กระทั่ง 2 ปีล่าสุดก็นัดชุมนุมที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี และจะนัดรวมตัวแบบนี้ทุกปีในวันรายอที่ 3”

บรี กล่าวทิ้งท้ายกรณีที่แกนนำจัดชุมถูกฟ้องร้องดำเนินคดีนั้น มองว่าเกิดความหวาดระแวงของเจ้าหน้าที่มากกว่า เพราะมีคนไปชุมนุมจำนวนมาก แต่ไม่ใช่เพราะการแต่งชุดมลายู หากเยาวชนเป็นหมื่นรวมตัวกันแต่งชุดไทยก็ไม่น่าจะรอดเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐว่าจะมองเรื่องนี้ยังไง


 

‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน
‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน
‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน
‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน
‘Bustani’ แบรนด์เสื้อผ้าคนปาตานี หวังสร้างเศรษฐกิจชายแดนใต้ เจาะตลาดอาเซียน
เนื้อหาล่าสุด