มูฮำหมัด ดือราแม
“ช่างไม้” เป็นอาชีพเก่าแก่ของพื้นที่ชายแดนใต้ มีสถาปัตยกรรมไม้โบราณหลงเหลืออยู่หลายแห่ง บ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ที่มีมาตั้งแต่อดีต
ทว่า ปัจจุบันช่างไม้ฝีมือดีมีน้อยลงมาก ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยเฉพาะความนิยมสร้างบ้านไม้หรือเฟอร์นิเจอร์ไม้ลดลง ประกอบกับจำนวนไม้ใหญ่ในพื้นที่ลดลงอย่างมากและไม้มีราคาแพงขึ้น
แต่ในสภาวะเช่นนี้ งานไม้ก็ยังมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ได้อย่างมีอนาคต โดยเฉพาะ “ไม้กันเกรา” หรือ “ตำเสา” ซึ่งคนมลายูในพื้นที่เรียกว่า “ไม้มือซู" หรือ "มูซู” เพราะเป็นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ทั่วไปเยอะมากในพื้นที่ โดยเฉพาะตามที่ราบและที่ลุ่มชื้นแฉะ ปลูกก็ขึ้นง่าย แข็งแรงทนทาน
ไม้ตำเสา มีความแข็งแรงทนทาน เนื้อไม้มีความละเอียดเนียน ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาก็งดงาม ทนปลวกได้ดี จึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง โดยเฉพาะในส่วนที่รับน้ำหนักในแนวตั้งได้ดี เช่น ทำเสาเรือน วงกบประตู-หน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่
‘ไม้ตำเสา’ ไม้เนื้อดี แข็งแรง ปลูกง่าย ปลวกไม่กิน
ไม้ตำเสา มีความแข็งแรงทนทาน เนื้อไม้มีความละเอียดเนียน ตกแต่งได้ง่าย ขัดเงาก็งดงาม ทนปลวกได้ดี จึงนิยมนำไปแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้าง โดยเฉพาะในส่วนที่รับน้ำหนักในแนวตั้งได้ดี เช่น ทำเสาเรือน วงกบประตู-หน้าต่าง และเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่ แต่ปัจจุบัน “ไม้สนนอก” ร้านเฟอร์นิเจอร์นิยมเอามาทำเฟอร์นิเจอร์ หากมีการส่งเสริมไม้ตำเสาอย่างจริงจังอาจได้รับความนิยมได้เช่นกัน
แม้ว่า ไม้ตำเสา ซึ่งเป็น 1 ใน 9 ไม้มงคลของไทยที่ถูกจัดอยู่ในรายชื่อไม้หวงห้าม ประเภท ก. ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 แต่ปัจจุบันมีการแก้ไขกฎหมายอนุญาตให้เอกชนสามารถปลูกหรือตัดไม้ได้ในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือมีเอกสารแสดงการครอบครอง
“การทำไม้ตำเสามีปัญหาทางกฎหมายกับเจ้าหน้าที่รัฐน้อยที่สุดแล้วครับ” วัช โคบาว หรือ ธวัช บุญศาสตร์ ประธานกลุ่มไม้กันเกราชายแดนใต้ ยืนยัน
วัช บอกว่า ไม้ตำเสาจะไม่ขึ้นในพื้นที่สูงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า แต่จะที่ขึ้นตามที่ราบและที่ลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่มีกรรมสิทธิ์ จึงไม่ค่อยมีปัญหาทางกฎหมายเหมือนไม้ตะเคียนหรือไม้หลุมพอที่คนในพื้นที่นิยมใช้สร้างบ้านกัน
ชายแดนใต้ ‘ไม้ตำเสา’ วัตถุดิบพร้อม มีตลาดรองรับสำหรับงานไม้
วัช อดีตนักดนตรีที่อยู่ในกลุ่มศิลปินปลายด้ามขวานที่เมืองยะลา เมื่อพ่อแม่แก่ชราก็ต้องกลับมาอยู่บ้าน ที่บ้านโคกเหรียง ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี เขาจึงผันตัวเองมาเป็นช่างไม้และทำไม้ตำเสาอย่างจริงจังมาหลายปี เพราะมีวัตถุดิบพร้อม มีตลาดรองรับ และขายได้ราคาดี
“ที่สำคัญคือ ไม่ต้องไปตัดไม้ในเขตป่า ซึ่งผิดกฎหมาย” ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาจากเพื่อนๆ ที่บอกต่อปากต่อปาก หรือมีคนเอาแบบมาให้ทำ
วัช บอกว่าเขาทำตั้งแต่การขายไม้ซุง การแปรูปไม้ ทำเฟอร์นิเจอร์ จำพวกทำโต๊ะ เก้าอี้ ชิงช้า กระท่อมไม้ แม้แต่บ้านน็อคดาวน์ทั้งหลังก็ทำมาแล้ว ซึ่งต่างจากบ้านน็อคดาวน์ไม้ที่ขายทั่วไปส่วนใหญ่ใช้ไม้ผสมกับไม้เก่าจากการรื้อบ้านเก่า
ไม้ตำเสาแปรรูปมีตลาดกว้างขวาง เป็นที่นิยมเอามาใช้สร้างบ้านส่วนที่รับน้ำหนักในแนวตั้ง แต่ไม่เหมาะทำไม้ท่อนยาวเพราะรับน้ำหนักในแนวนอนไม่ค่อยดี อาจะหักได้ หรือผลิตเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ กระท่อมไม้ โดยมีลูกค้าจากพัทลุงสั่งทำเยอะเพื่อเอาไปแต่งร้านอาหาร
ส่วนไม้ตำเสานั้น ตนซื้อจากชาวบ้านทั้งจากนอกพื้นที่และในพื้นที่
วัชมีเป้าหมาย คือ ต้องการจัดตั้งมูลนิธิหรือไม่ก็กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทำไม้กันเกรา หรือตำเสาชายแดนใต้ แนวคิดเริ่มจากอดีตรองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนาคใต้ (ศอ.บต.) นายศรัทธา คชพลายุกต์ ลงพื้นที่มาเห็นผมทำไม้ตำเสาอยู่จึงคิดว่า ทาง ศอ.บต.น่าจะมีนโยบายสนับสนุนการทำไม้ตำเสาได้
เพราะไม้ตำเสาเป็นไม้คุณภาพ สามารถแปรรูปได้ มีลวดลายที่สวยงาม ฝังดินหรือแช่น้ำได้ มีคุณสมบัติที่มอดหรือปลวกไม่กิน เป็นไม้ที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนาทั่วไป เป็นไม้พื้นถิ่นภาคใต้ตอนล่าง ไม่ใช่ไม้ในพื้นที่สูง จึงไม่มีปัญหาในทางด้านกฎหมาย
ประกอบกับตนเองทำไม้ตำเสามานาน มีเศษไม้เยอะก็เหลือทิ้ง จึงรู้สึกเสียดาย หากได้รับการสนับสนุนก็สามารถนำไปพัฒนาสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ถ้าได้ตั้งมูลนิธิหรือวิสาหกิจชุมชน ก็จะรณรงค์ให้ปลูกต้นตำเสา ไม้ว่าแปลงใหญ่หรือแปลงย่อย จะเพาะต้นกล้าไว้ปลูก เพราะมีเครือข่ายอยู่แล้วสามารถทำได้
“ผมรวบรวมสมาชิกเพื่อจะยื่นขอจดทะเบียนไว้แล้ว มีทั้งคนตัดไม้ คนเลื่อยไม้ คนแปรรูปไม้ และช่างทำเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 30 คน มีทั้งเพื่อนๆ ที่เป็นมุสลิมและคนพุทธในพื้นที่ เพราะอยู่อย่างพึงพาอาศัยกัน ไม่ได้มีปัญหาอะไรแม้ต่างศาสนากัน” วัชกล่าว
ไม้ตำเสาเป็นไม้คุณภาพ สามารถแปรรูปได้ มีลวดลายที่สวยงาม ฝังดินหรือแช่น้ำได้ มีคุณสมบัติที่มอดหรือปลวกไม่กิน เป็นไม้ที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนาทั่วไป เป็นไม้พื้นถิ่นภาคใต้ตอนล่าง ไม่ใช่ไม้ในพื้นที่สูง จึงไม่มีปัญหาในทางด้านกฎหมาย
ปลูกไม้ตำเสาทดแทนให้ลูกหลาน สร้างคาร์บอนเครดิต-ลดโลกร้อน เริ่มจากคนใกล้ตัว
นอกจากการทำไม้แล้ว ในกลุ่มของวัชก็ยังมีแนวคิดในการอนุรักษ์ไม้ตำเสาด้วย โดยการส่งเสริมการปลูกไม้ตำเสาเพื่อเศรษฐกิจ ทดแทนไม้ตำเสาต้นใหญ่และกลางที่มีจำนวนลดลงไปเรื่อยๆ
ในเบื้องต้น วัชพยายามรณรงค์ในหมู่สมาชิกในเครือข่ายก่อน โดยกำหนดเงื่อนไขให้สมาชิกปลูกกันคนละ 5 – 10 ต้น เพื่อยืนยันว่า "เราไม่ได้ทำลายอย่างเดียว เราปลูกด้วย เพื่อเก็บไว้ใช้สอยในอนาคต แต่ยังไม่ได้เริ่มปลูกเป็นแปลงใหญ่อย่างจริงจัง"
“เราคนตัดไม้ เราก็รู้สึกเป็นห่วงเหมือนกัน เพราะเราก็เห็นว่าต้นไม้ใหญ่หายไปทุกวัน”
วัชจึงได้ชวนพูดคุยกันในกลุ่มว่า ถ้าใครมีพื้นที่ว่างก็ให้ปลูกต้นตำเสาไว้ให้ลูกหลานไต้ใช้ เพราะต้นตำเสาที่เราใช้ในปัจจุบันก็มาจากการคนเฒ่าคนแก่ปลูกทิ้งไว้
ดังนั้น ถ้าตัดไปเรื่อยๆ ซักวันหนึ่งต้นไม้ก็จะหมดไป “ผมจึงแนะนำสมาชิกว่า ถ้าอยากทำไม้ตำเสาให้ยั่งยืน ก็ต้องปลูกทดแทนด้วย”
ที่จริง ตามวิถีชาวบ้านทั่วไปในพื้นที่ มักเว้นต้นตำเสาไว้ในสวนยางพาราเพื่อเก็บไว้ใช้ แต่กว่าจะได้ขนาดลำต้นมะพร้าวก็ต้องมีอายุ 20 ปี ถ้าจะให้ได้ดีก็ต้อง 30 ปีขึ้น
ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่ได้ตัดต้นไม้ไปใช้ ก็จะมีแนวทางให้เข้าร่วมโครงการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้มีรายได้ระหว่างทางไปก่อน ซึ่งบางพื้นที่เริ่มทำบ้างแล้ว
วัชบอกว่า ถึงแม้ต้นตำเสาจะขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ถ้าตั้งใจปลูกและดูแลใส่ปุ๋ยอย่างดี ก็จะโตเร็วพอๆ กับต้นยางพารา
การทำแปลงปลูกไม้ตำเสาสามารถทดแทนการตัดไม้ทำลายป่าได้เพราะไม้ตำเสาเป็นไม้ที่ปลูกง่ายเกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ บางพื้นที่ก็ขึ้นเป็นกลุ่มๆ ทนแล้ง ทนน้ำท่วมได้ดี
วัชพยายามรณรงค์ในหมู่สมาชิกในเครือข่ายก่อน โดยกำหนดเงื่อนไขให้สมาชิกปลูกกันคนละ 5 – 10 ต้น เพื่อยืนยันว่า "เราไม่ได้ทำลายอย่างเดียว เราปลูกด้วย เพื่อเก็บไว้ใช้สอยในอนาคต
วัชบอกว่า ไม่มีอะไรที่จะช่วยลดโลกร้อนได้ดีกว่าการปลูกต้นไม้ ต้นตำเสามีอายุได้ถึง 100 ปี การปลูกไม้ยืนต้นไม่ว่าแปลงใหญ่หรือแปลงเล็กก็ไม่ขาดทุนแน่นอน แต่อาจช้ากว่าจะได้ใช้ประโยชน์ แต่ก็เปรียบเสมือนการสะสมเงินไว้ราคาขึ้นตลอด
“ไม้เศรษฐกิจในบ้านเรา มีต้นตำเสา ต้นตะเคียนและต้นหลุมพอที่มีราคาใกล้เคียงกัน ต้นตะเคียนอาจจะแพงกว่าเพราะลำต้นตรงและยาว เลื่อยเป็นท่อนยาวได้ และแพงเพราะเขาเอาไปต่อเรือ ส่วนไม้หลุมพอหายากส่วนใหญ่จะเหลืออยู่ในพื้นที่สูงหรือพื้นที่อนุรักษ์” วัชอธิบาย
“ผมยังไม่ได้พูดคุยกับเลขาธิการ ศอ.บต. คนปัจจุบันว่าจะมีนโยบายอย่างไร จะสานต่อแนวคิดของอดีตรองเลขาธิการ ศอ.บต.อย่างไร แต่เราก็จะขับเคลื่อนงานของเราไปก่อน”
“ตอนนี้ ผมยังไม่ได้ตั้งศูนย์เรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่ได้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการไม้ แต่ก็มีเด็กที่สนใจอยู่ ซึ่งส่วนมากผมใช้วิธีการสอนงานในช่วงที่พวกเขามาช่วยงาน” วัชบอก
วัชบอกว่า งานไม้ตำเสามีอนาคตแน่นอน เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีราคาสูง ไม่สามารถหลอกลวงได้ เหมือนเฟอร์นิเจอร์ทั่วไปที่ซื้อมาแล้วไม่กี่เดือนก็ปลวกกิน
วัชต้องการให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่ได้ปลูกต้นตำเสาไว้ อย่างน้อยคนละต้นสองต้นแล้วดูแลให้ดีจนกว่าจะโต เพราะเป็นการพึงพาตนเองด้วยทางหนึ่ง ซึ่งในอนาคตจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ความต้องการบ้านที่อยู่อาศัยก็จะมีมากขึ้น เราสามารถตัดต้นไม้ที่เราปลูกมาใช้สร้างบ้านได้โดยไม่ต้องไปซื้อ หรือเอาไปทำอย่างอื่นก็ได้ เช่น ทำของเล่นไม้อย่างม้าโยก เหมือนที่เราเคยเล่นตอนเด็กๆ
“ตำเสาเป็นไม้ที่เกิดขึ้นมากมายในบ้านเรา เราต้องแสดงความรักความห่วงใยต้นตำเสาไว้ เพราะได้เก็บไว้ใช้สอยได้จริงๆ”
“ไม้ตำเสา” เป็นไม้ที่มีอนาคต สามารถพัฒนาให้เป็นไม้เศรษฐกิจของพื้นที่ได้ เพราะขึ้นง่าย พื้นที่ว่างเปล่าในบ้านเราก็เยอะ เช่น พื้นที่นาร้าง
"เรารณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกทดแทนให้มากที่สุด และรัฐต้องเข้ามาส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการตลาดอย่างจริงจัง เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้คนอยากปลูกต้นตำเสา" วัชบอก
หากไม้ตำเสาได้รับความนิยมมากขึ้น อาชีพช่างไม้หรืองานช่างที่เกี่ยวข้องกับไม้ก็จะได้รับความนิยมมากขึ้นตามมา เป็นสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ได้อย่างยั่งยืน
อ่านบทความอื่นๆ ของผู้เขียน
- ‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
- ฟื้นนาร้าง–รักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ชายแดนใต้จะสันติสุข เพราะข้าวดี มีอาหารอร่อย