ฟื้นนาร้าง–รักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ชายแดนใต้จะสันติสุข เพราะข้าวดี มีอาหารอร่อย
มูฮำหมัด ดือราแม
“ฟื้นนาร้างปีแรกไม่ได้ผลแน่นอน ปีนี้ขาดทุนทุกแปลง ถ้าใครบอกปีนี้ว่าได้กำไร คนนั้นโกหก แต่ปีต่อไปจะได้ผลดีแน่นอน”
เสียงพึมพำของ “แบเซะ” พ่อใหญ่วัย 70 ปี หรือ รอเซะ เจะแม็ง ชาวนาแห่งท้องทุ่งบ้านกลาง ใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี
แกเดินไปบ่นไปตามคันนา พร้อมชี้ไปที่นาแปลงหนึ่ง ที่มีต้นข้าวเต็มและออกรวงเหลืองอร่ามแล้ว แต่กลับชี้โด่ขึ้นฟ้า เพราะส่วนใหญ่เม็ดลีบ ! และอาจถูกทิ้งไว้ ไม่คุ้มถ้าจะใช้รถเกี่ยวข้าว
ถ้าเม็ดข้าวเต็มรวง รวงข้าวจะย้อยห้อยลงมา
ถ้าพวกเขาปล่อยให้นาร้างต่อไป พันธุ์ข้าวดั้งเดิมจะยิ่งหายไปแน่นอน จาก 300 กว่าสายพันธุ์ ตอนนี้มีเมล็ดพันธ์ที่เก็บรวบรวมไว้ได้เหลือประมาณ 20 ถึง 30 สายพันธ์เท่านั้น
ฟื้นนาร้าง ไม่ใช่งานง่าย
แบเซะทำนามาตั้งแต่ 12 ขวบ ประสบการณ์ความรู้เรื่องทำนามีเพียบ ตอนนี้แกเข้าร่วมกิจกรรมฟื้นฟูนาร้างปีแรก ตามโครงการอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองตามภูมินิเวศใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ความมั่นคงทางอาหาร ขององค์กร EAST Forum ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพ (สสส.)
นาแปลงนั้นไม่ใช่ของแก แต่ขอเอามาทำนาตามโครงการเพราะเห็นว่าถูกทิ้งร้างมานาน แกไม่อยากให้นาร้างรุกมาถึงแปลงนาตนเอง จึงขอมาทำเองแล้วค่อยแบ่งข้าวกับเจ้าของถ้าได้ผลดี เพราะอยากให้เป็นพื้นที่กันชนซึ่งแกเรียกว่า “กั้นรั้ว” ถ้าไม่ทำอย่างนั้น แมลงมารุมเจาะต้นข้าวในที่นาของแกที่เหลืออยู่แปลงเดียว
“ผมทำนาเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว แล้วก็เห็นที่นาอื่นถูกปล่อยร้างมากขึ้นทุกปี จากเมื่อก่อนเป็นท้องนาสุดลูกหูลูกตา”
จากประสบการณ์แกบอกว่า นาแรกมักไม่ค่อยได้ผลดีเท่าไหร่ แต่จะได้ผลผลิตดีขึ้นในการทำนาปีต่อๆ ไป
แต่การจะฟื้นนาร้างได้นั้นมันก็ไม่ง่ายเลย ยิ่งสภาพอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าชลประทานว่าจะปล่อยน้ำตอนไหน กว่าจะได้เวลาเหมาะที่จะเริ่มดำนาก็อาจช้าไป อาจถูกน้ำท่วมตอนที่ต้นยังไม่แข็งแรง หรือถูกแมลงรุมเจาะลำต้นตอนตั้งท้อง ผลผลิตก็จะได้น้อยหรือไม่ได้เลย
แต่การจะฟื้นนาร้างได้นั้นมันก็ไม่ง่ายเลย ยิ่งสภาพอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าชลประทานว่าจะปล่อยน้ำตอนไหน กว่าจะได้เวลาเหมาะที่จะเริ่มดำนาก็อาจช้าไป อาจถูกน้ำท่วมตอนที่ต้นยังไม่แข็งแรง หรือถูกแมลงรุมเจาะลำต้นตอนตั้งท้อง ผลผลิตก็จะได้น้อยหรือไม่ได้เลย
โชคดีที่การฟื้นนาร้างปีแรก พวกวัยรุ่นในหมู่บ้านเอาด้วยมาช่วยกัน แรงงานส่วนใหญ่ก็คือพวกเขา “ผมก็แค่พูดไป บ่นไป สอนไปด้วย ทำไปด้วย”
จะทำกำไรเชิงพาณิชย์ยิ่งยาก
ฟื้นนาร้าง จะดูยังไงก็ยากที่จะหากำไรในเชิงพาณิชย์ได้ แต่ “อัสรีย์ แดเบาะ” ชาวปะนาเระผู้เป็นตัวตั้งตัวตีในโครงการนี้ในฐานะนักวิจัยอิสระ บอกว่า หากสามารถต่อยอดไปได้จริงๆ ก็พอมีทางที่จะเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าราคาสูงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้
เพราะพันธุ์ข้าวที่ปลูกในพื้นที่โครงการฟื้นฟูนาร้างนั้น ปลูกเฉพาะพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่มีใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง ซึ่งแม้จะเป็นที่นิยมเฉพาะคนในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อเทียบคุณค่าสารอาหารแล้วส่วนใหญ่พอๆ กับการกินข้าวกล้อง แม้จะสีเป็นข้าวขาวก็ตาม
อัสรีย์ บอกว่า ข้าวกล้อง คือข้าวที่ยังมีเปลือกติดอยู่ ซึ่งส่วนนี้เองที่ไปยับยั้งเอนไซม์ในท้องเรา ไม่ให้ดูดซึมอาหารได้รวดเร็ว จึงทำให้รู้สึกอิ่มนาน ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของบ้านเราสู้ได้สบาย เพราะกลุ่มพันธุ์ข้าวเม็ดแข็ง
ข้าวกล้อง คือข้าวที่ยังมีเปลือกติดอยู่ ซึ่งส่วนนี้เองที่ไปยับยั้งเอนไซม์ในท้องเรา ไม่ให้ดูดซึมอาหารได้รวดเร็ว จึงทำให้รู้สึกอิ่มนาน ซึ่งพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของบ้านเราสู้ได้สบาย เพราะกลุ่มพันธุ์ข้าวเม็ดแข็ง
ข้าวพันธุ์พื้นเมืองชายแดนใต้แสนอร่อย
สำหรับโครงการฟื้นฟูนาร้างนั้น มาจากการสำรวจความต้องการข้าวของคนภาคใต้พบว่า อยู่ที่ประมาณ 200 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ในภาคใต้สามารถผลิตข้าวได้เฉลี่ย 19 กิโลกรัมต่อคนต่อปี “ผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอกิน จึงต้องนำเข้ามาจากภายนอก”
เราจึงสำรวจพื้นที่พบว่า มีนาร้างจำนวนมากใน 3 จังหวัด ถ้าสามารถฟื้นฟูนาร้างได้ก็จะช่วยเพิ่มผลผลิตข้าวได้
แต่ปัญหาของข้าวพันธุ์พื้นเมืองใน 3 จังหวัดก็คือจะมีตลาดอยู่เฉพาะในพื้นที่หรือตั้งแต่จังหวัดพัทลุงลงมา เพราะข้าวเม็ดแข็งคนที่อื่นกินไม่เป็น และเม็ดข้าวสารก็มีรูปร่างไม่สวย สู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้
“ผมว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองอร่อยที่สุดครับ แม้รูปร่างไม่สวย อย่างเช่น พันธุ์ Seribu gantang เป็นข้าวเม็ดเล็กแต่อร่อย หรือ พันธุ์มะจานู พันธุ์เฉียง พันธุ์เล็บนก และพันธุ์กือลาเหาะ พวกนี้ก็อร่อย พันธุ์ข้าวเหลืองก็อร่อยคล้ายๆ ข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมกระดังงาก็อร่อย”
ตอนนี้พันธุ์ข่าวพื้นเมืองของ 3 จังหวัดที่ยังมีการทำนาอยู่มีประมาณ 30 สายพันธุ์ ซึ่งนอกจากที่บอกชื่อสายพันธุ์มาแล้วยังมีอีก 2 สายพันธ์ที่มีชื่อเสียง คือ พันธุ์มะมิง และพันธุ์อาเนาะดารอ
อัสรีย์ บอกว่า โครงการฟื้นฟูนาร้างได้ว่างเป้าหมายให้ได้ปีละ 150 ไร่ โดยเลือกพื้นที่เป้าหมายที่มีนาร้างและพร้อมจะเข้าร่วมโครงการในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จังหวัดละ 50 ไร่ ปีหน้าก็จะได้พื้นที่เพิ่มรวมเป็น 300 ไร่
เหลือกินก็ขาย + ตลาดต้องการ
ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้ค่าบุกเบิกนาร้างพร้อมค่าใช้จ่ายทุกอย่างในปีแรก คำนวณออกมาได้ไร่ละ 4,050 บาท ปีนี้เราให้เฉพาะค่าไถนาอย่างเดียว โดยทั่วไปผลผลิตข้าวในภาคใต้อยู่ที่ 400-600 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งน้อยกว่าในภาคกลางที่ได้ 1,200 - 1,300 กิโลกรัมต่อไร่
สาเหตุเพราะการปลูกข้าวในภาคกลางจะปลูกสายพันธุ์เดียวตลอด ซึ่งเป็นพันธุ์ได้รับการรับรองจากศูนย์วิจัยข้าว เช่น พันธุ์ กข. โดยมีการดูแลตามหลักวิชาการทั้งหมด และปลูกข้าวปีละ 3 ครั้ง เพราะเป็นการปลูกเชิงธุรกิจ
ในขณะที่บ้านเราไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นข่าวพันธุ์หนัก ใช้ระยะเวลา 150 วันขึ้นไปกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ บางครั้งก็ปลูกทิ้งไว้ไม่ได้ไปดูแลหรือใส่ปุ๋ยตามหลักวิชาการ คือชาวบ้านคิดว่ายิ่งใช้ปุ๋ยเคมีก็จะยิ่งขาดทุน เพราะค่าปุ๋ยแพงและไม่ได้เชื่อว่าปุ๋ยเคมีจะทำให้มีผลผลิตสูง ที่จริงก็เพราะไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เหมาะสมนั่นแหละ
การที่เป็นข้าวพันธุ์หนักที่ต้องใช้เวลานานขึ้น ก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลเพิ่มขึ้นไปด้วยหากจะดูแลอย่างเต็มที่
“ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้ทำนาไว้ขาย แต่ไว้กิน ส่วนที่เหลือจากกินจึงเอาไปขาย” เช่นเดียวกับ แบเซะ ที่เก็บข้าวเปลือกไว้กินก่อน ที่เหลือค่อยเอาไปขาย
ส่วนที่ขายก็คือ ถ้าครัวครอบหนึ่งมี 5 คน คือ พ่อ แม่และลูก 3 คน ก็จะเก็บข้าวเปลือกไว้ 12 กระสอบ โดยจะเอาไว้กินได้ 8 กระสอบพอดี (ถ้ากินทุกวัน วันละ 3 มื้อในระยะเวลา 1 ปี) ที่เหลืออีก 4 กระสอบเก็บไว้ทำพันธุ์ปีหน้า ถ้าจะขายก็คือส่วนที่เหลือจากจำนวนนี้
“แต่สำหรับแบแซะต้องเก็บไว้ 15 กระสอบ เพราะแกชอบแจกจ่ายให้คนอื่น” เพื่อนบ้านแซวพร้อมหัวเราะร่า
อัสรีย์ สรุปว่า เพราะฉะนั้น เหตุที่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ยังมีอยู่ก็เพราะ
1. คนในพื้นที่ยังกินอยู่ ยังรู้สึกว่าอร่อยกว่ากินข้าวจากนอกพื้นที่
2. ไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์
3. พันธุ์ข้าวพื้นเมืองทนต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในพื้นที่อย่างดี แต่ปลูกข้าวพันธุ์ กข. ก็ต้องดูแลรักษาหลายอย่างซึ่งทั้งหมดมีค่าใช้จ่าย
นายิ่งร้าง พันธุ์ข้าวพื้นเมืองยิ่งหาย
อัสรีย์ เชื่อมั่นใจว่า ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการคงจะเห็นแล้วว่า ถ้าพวกเขาปล่อยให้นาร้างต่อไป พันธุ์ข้าวดั้งเดิมจะยิ่งหายไปแน่นอน จาก 300 กว่าสายพันธุ์ ตอนนี้มีเมล็ดพันธ์ที่เก็บรวบรวมไว้ได้เหลือประมาณ 20 ถึง 30 สายพันธ์เท่านั้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ
1. การขยายตัวของชุมชน โดยมีการถมที่นาสร้างบ้านเรือน ซึ่งสิ่งก่อสร้างทั้งหลายทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปไม่เหมาะกับการทำนา เช่น ขวางทางน้ำหรือทิศทางน้ำเปลี่ยนไป
2. นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานโดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ทำให้ชาวบ้านปรับพื้นที่ไปทำสวนปาล์มน้ำมัน หรือปลูกยางพารา
3. ไม่มีแรงงานทำนา คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำนาแล้วเพราะไม่พอกิน ไม่ทำไม่พอ ยังห้ามไม่ให้พ่อแม่ทำนาด้วย บอกว่าจะเลี้ยงดูพ่อแม่เอง
บางหมู่บ้าน ลูกหลานไม่ให้ทำซักคน พี่น้องมุสลิมจากหมู่บ้านข้างๆ จึงไปขอทำนาแล้วแบ่งข้าวเปลือก
4. ไม่สามารถใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากที่นาบ้านเราส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย ไม่ใช่ดินเหนียวปนทราย จะใช้เครื่องจักรดำนาก็ไม่ดี ก็ต้องใช้แรงงานคน
ทำศูนย์เก็บรักษา+สร้างมูลค่าเพิ่ม สู้ได้สบาย
สาเหตุที่อัสรีย์คิดว่าสำคัญมาก ๆ คือ การไม่มีที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวต้องเก็บไว้ปีต่อปี คือเกี่ยวข้าวเสร็จก็เก็บไว้ปลูกปีหน้าต่อ
แต่พอถึงปีหน้าปรากฏว่าน้ำท่วมใหญ่หรือมีปัญหาอื่นๆ ที่ทำนาไม่ได้ ชาวบ้านก็เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ไปหุงข้าวกินจนหมด ถ้าเพื่อนบ้านไม่เก็บไว้ด้วยสายพันธุ์นั้นก็จะหายหมดไปเลย ถ้าเก็บไว้ปลูกนปีต่อไปอีกคุณภาพก็จะลดลง ครบ 3 ปี เมล็ดพันธุ์ก็จะตาย
ชาวบ้านทั่วไปจะใส่เมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ในกระสอบเก็บไว้ตามบ้านหรือยุ้งฉาง อาจถูกหนูกินจนหมดได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่พันธุ์ข้าวพื้นเมืองจะหายไปหมดมีสูงมาก
แต่หาก มีศูนย์เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่สามารถควบคุมคุณภาพได้ก็จะเก็บได้นานขึ้น แต่การเก็บรักษาพันธุ์ข้าวนั้นคือ ต้องมีที่ปลูกข้าวเพื่อรักษาสายพันธุ์นั้นเอง
ข้าวเป็นเรื่องสำคัญของประเทศไทยมีหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องข้าว ที่สำคัญเราสามารถขอจัดตั้งศูนย์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองประจำตำบลได้ ซึ่งรัฐจะมีงบประมาณให้ ซึ่งอัสรีย์สนใจเรื่องนี้ จึงพยายามจะขอจัดตั้งศูนย์ฯ ที่ตำบลบ้านกลาง โดยจะถามชาวบ้านว่าเห็นด้วยหรือไม่ เพื่อจะเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของ 3 จังหวัดไว้ที่นี่
“เราจะต้องเช็คตลอดว่า ปีนี้มีใครปลูกข้าวพันธุ์อะไรบ้าง ถ้าพันธุ์ไหนไม่มีใครปลูก เราก็ต้องเตรียมปลูกไว้ในแปลงนาเล็กๆ เพื่อรักษาสายพันธุ์เอาไว้”
ชายแดนใต้จะสันติสุข เพราะข้าวดี มีอาหารอร่อย
เนื่องจากข้าวพื้นเมืองบ้านเราผลิตได้น้อย และขายในราคาถูกไม่ได้ ในตลาดจะขายอยู่กิโลกรัมละ 27 บาท ซึ่งแพงกว่าข้าวสารที่นำเข้ามา แต่อย่างที่รู้ว่าข้าวพื้นเมืองบ้านเรา กินแล้วอิ่มนาน และมีการวิจัยพบว่า ข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีสารอาหารสูง สู้กับข้าวเพื่อสุขภาพจากกลางได้แน่นอน
หากมีการศึกษาวิจัยให้ลึกขึ้นและจะพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้ามูลค่าสูงขึ้นได้อย่างไร ก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจที่จะให้คนรุ่นใหม่อยากรื้อฟื้นนาร้างมากขึ้น แทนที่จะปล่อยพื้นที่ให้รกร้างอย่างที่เป็นอยู่ รวมทั้งสามารถใช้ฟื้นที่นอกฤดูทำนาให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย
ไม่แน่ ชื่อเสียงที่ว่า “ปัตตานีมีอาหารอร่อย” ซึ่งช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ จะช่วยสร้างชื่อเสียงพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของ 3 จังหวัด มีชื่อเสียงระดับประเทศและระดับโลกได้เหมือน “ข้าวหอมมะลิ” ด้วยเช่นกัน
ชายแดนใต้จะเกิดสันติสุข เศรษฐกิจรุ่งเรืองเพราะข้าวดี มีอาหารอร่อยนั่นเอง