Skip to main content

‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี

29 กุมภาพันธ์ 2567

มูฮำหมัด ดือราแม


เกือบทุกการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้หญิงในชายแดนใต้ มักพบ “อาอีชะฮ์ ตีมุง” อยู่ร่วมในกิจกรรมต่างๆ ด้วย โดยเฉพาะงานด้านสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ในนาม “วาระผู้หญิงชายแดนใต้”

แต่เธอก็ไม่ได้มีบทบาทด้านนี้เท่านั้น เพราะสิ่งที่ท้าทายกว่า คือ “การสร้างสันติภาพที่กินได้” เป็นความพยายามเชื่อมงานสันติภาพกับปากท้องประชาชน ซึ่งเธอต้องทำอะไรอีกมากเพื่อให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

“ซู หรือ กะซู” เป็นทั้งชื่อเล่น และชื่อเรียกขานที่คนในพื้นที่รู้จัก จากการที่เธอเคยเป็นนักจัดรายการวิทยุมานานหลายปี เพราะน้ำเสียงที่อ่อนหวานอย่างมีเอกลักษณ์ แต่ฉะฉานชัดเจน ไม่ว่าตอนจัดรายการหรือจับมือถือไมค์ในเวทีต่างๆ ทั้งภาษาไทยหรือภาษามลายู จนเป็นที่จดจำของผู้คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เธอตั้งใจที่จะทำให้การสร้างงาน สร้างอาชีพ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสันติภาพในระดับชุมชน โดยใช้พื้นที่กลางเพื่อสร้างพลังบวกให้กลุ่มผู้หญิงใน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งไม่เพียงสร้างรายได้เพิ่มเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่กลางของการพบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยน สร้างความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งให้กันและกันได้


สร้างพื้นที่กลางก้าวสู่สันติภาพ ผ่านการสร้างเศรษฐกิจฐานราก

กะซูกับเพื่อนผู้หญิงปะนาเระ ได้จดทะเบียนจัดตั้ง "กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีชาวเลปะนาเระ" ขึ้นมา โดยนำวัตถุดิบในพื้นที่มาสร้างผลิตภัณฑ์ คือ ปลาสดจากประมงพื้นบ้าน มาแปรรูปทำปลาหวานโรยงา ทำน้ำพริกหัวปลา และผงก้างปลาโรยข้าว

แต่นั่นเป็นเพียงตัวเดินเรื่องเท่านั้น เพราะหัวใจหลักของกลุ่มวิสาหกิจฯ คือการ “สร้างพื้นที่กลาง สร้างพลังบวก สร้างครอบครัวในถิ่นบ้านเกิดของตัวเอง” ซึ่งเธอได้ชวนทุกคนมานั่งคุยกันก่อน แล้วชวนทำอะไรบางอย่างขึ้นมา

 

กะซูบอกว่า เราต้องสร้าง Mind Set ของคนในพื้นที่ให้ “เปลี่ยนแปลงเพื่อสันติภาพ” เพราะสันติภาพคือต้องเดินหน้าและเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น และคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม หรือแม้แต่คนที่มีความหลากหลายทุกมิติ

 

เธอเล่าว่า บทบาทหลักของเธอ คือการสร้างพื้นที่กลาง สร้าง soft power จากฐานราก และสร้างที่พึ่งให้กลุ่มผู้หญิง ที่เป็นทั้งแม่ ภรรยา พี่สาว น้องสาว หรือเป็นความคาดหวังของครอบครัว เราต้องสร้างพื้นที่กลางเพื่อให้คนเหล่านั้นมีความเข้มแข็ง และสร้างให้คนในพื้นที่รักบ้านของเราเอง

เธอบอกว่า อยากเห็นสันติภาพที่จับต้องได้ ซึ่งพยายามไขว่คว้ามาหลายปี เราทำงานเรื่องกระบวนการสันติภาพในฐานะ “วาระผู้หญิงชายแดนใต้” โดยเห็นว่า สันติภาพที่แท้จริงจะต้องระเบิดจากข้างใน

กะซูบอกว่า เราต้องสร้าง Mind Set ของคนในพื้นที่ให้ “เปลี่ยนแปลงเพื่อสันติภาพ” เพราะสันติภาพคือต้องเดินหน้าและเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น และคนอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือมุสลิม หรือแม้แต่คนที่มีความหลากหลายทุกมิติ

แต่การที่จะมีสันติภาพได้ ก็ต้องมีจุดร่วมที่เป็นศูนย์กลางให้ได้ และจะทำอย่างไรให้ความต่างอยู่ร่วมกันได้ นี่คือสิ่งที่เราทำอยู่

ส่วนบทบาทด้านอาชีพ คือ สร้างงาน สร้างรายได้ คือการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ในผู้หญิงสามารถดูแลลูก ดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี “ถ้าเมื่อไหร่เขาหิว ลูกก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย”

เมื่อมีปัญหาในครอบครัวก็จะมีภาวะซึมเศร้าหรือเครียด เราจึงเป็นพื้นที่กลางที่ทั้งสร้างงานและเป็นพื้นที่เยียวยากันและกันด้วย เพราะปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ปัญหาสังคมเกิดขึ้นเมื่อนั้น ดังนั้นการแก้ปัญหาสังคมก็คือการแก้ปัญหาในครอบครัวนั่นเอง

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสตรีชาวเลปะนาเระ จดทะเบียนเมื่อปี 2564 ปัจจุบันมีสมาชิก 43 คน ทุกคนจะเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ และมี 15 คนเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีพที่รับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจฯ

เธอบอกว่า กลุ่มออมทรัพย์นั่นแหละ คือพื้นที่กลางจริงๆ เพราะสมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วม ส่วนเรื่องการพัฒนาทักษะอาชีพก็เป็นเรื่องของกลุ่มอาชีพ และการสร้างพลังบวกนั้นก็เป็นบทบาทของกลุ่มสตรี

เพราะฉะนั้นเธอจึงรับผิดชอบทั้ง 3 บทบาทนั่นเอง

“เหตุที่ให้ทุกคนเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ด้วยก็เพื่อจะส่งเสริมการออมเงิน เพราะคนส่วนใหญ่ที่นี่มีหนี้สิน ทำให้ไม่มีโอกาสได้เก็บเงิน ซึ่งเราถือเป็นมาตรการหนึ่งในการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม โดยชวนกันออมเงินเดือนละครั้งนั่นเอง”

กะซูบอกว่า ทางกลุ่มจะนัดพบปะพูดคุยกันทุก 3 เดือนครั้งและ 6 เดือนครั้ง ด้วยการตั้งวงคุยแล้วสะท้อนปัญหาต่างๆ ทุกกิจกรรมมีถอดบทเรียนทุกครั้งว่ามีข้อดีข้อเสียของแต่ละคนหรือแต่ละบทบาทอย่างไร บางครั้งเราใช้พื้นที่กลางจัดมหกรรมหรือจัดเสวนาในระดับพื้นที่ตามกำลังของคนที่เรามีอยู่

 

แต่การที่จะมีสันติภาพได้ ก็ต้องมีจุดร่วมที่เป็นศูนย์กลางให้ได้ และจะทำอย่างไรให้ความต่างอยู่ร่วมกันได้ นี่คือสิ่งที่เราทำอยู่

 

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มอาชีพตอนนี้มี 3 อย่าง คือ ปลาหวานโรยงา ทำน้ำพริกจากหัวปลา เอาก้างปลามาทำเป็นผงโรยข้าว ทั้ง 3 อย่างทำมาจากปลาลังเขียว เอามาตัดหัวและเลาะก้างออกซึ่งเมื่อก่อนทิ้งอย่างเดียว

“เราก็มาคิดดูว่า หัวปลากับก้างก็น่ามีคุณค่าทางอาหารอยู่ น่าจะใช้ประโยชน์ได้ จึงทดลองทำหลายอย่างจนมาลงตัวที่น้ำพริกหัวปลาและผงโรยข้าว แต่กว่าจะได้สูตรที่ลงตัวและมีรสชาติถูกปากก็ใช้เวลาพอสมควร”

ส่วนปลา เธอบอกว่า จะซื้อตามขนาดที่ต้องการมาครั้งละ 10 – 20 กิโลกรัม แต่ละอย่างก็ใช้วิธีต่างกัน ทั้งหมัก ตาก อบ บด ร่อน ปรุงรสเสร็จก็ใส่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งแบ่งหน้าที่กันทำ โดยเฉพาะน้ำพริกหัวปลาใช้เวลา 2 วัน แต่ถ้าขายเฉพาะผงหัวปลาก็จะได้ราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท ถ้าใส่กระปุกเล็กก็ขาย 3 ประปุก 100 บาท ส่วนกระปุกใหญ่ 139 บาท ทั้งหมดไม่ได้ขายหน้าร้านเพราะมีคำสั่งซื้อมาแล้ว

“ปัจจุบันสินค้าทุกอย่างขึ้นราคา โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้น เราเป็นเพียงกลุ่มวิสาหกิจเล็กๆ ก็ต้องแบกต้นทุนส่วนนี้เยอะ เดิมเราใส่ถุงเปล่าขายแต่รู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับที่เราลงแรงทำ”

เป้าหมายของกลุ่มวิสาหกิจฯ คืออยากได้อาคารโรงงานเล็กๆ เพื่อจะได้ขยายกำลังการผลิต แต่ก็ต้องใช้ต้นทุนสูง ตอนนี้เรายังไม่มีกำลังมากพอ


มาตรฐาน อย.และฮาลาล ต้นทุนและอุปสรรคที่ยังฝ่าไปไม่ได้

โรงงานเล็กๆ จะเป็นที่พึ่งให้ชุมชนได้ ผู้หญิงที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวหรือผู้หญิงที่ลำบากก็ไม่ต้องไปพึ่งพาหางานข้างนอก เด็กกำพร้ามาทำงานกับเราได้ เพราะเราเจอเด็กที่ไม่มีพ่อแม่ พวกเขาอยู่กัน 4-5 พี่น้อง ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่อาศัย การพูดคุยหารือกันในพื้นที่กลางมองว่า เราช่วยเขาได้

เราต้องการให้เครือข่ายมาใช้บริการพื้นที่กลางของเราเพื่อให้เรามีรายได้เพิ่ม และสามารถพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ด้วย เราก็สามารถพัฒนาก้าวทีละก้าวได้

 

การขอรับรองมาตรฐาน อย.และฮาลาลของประเทศไทยนั้นยากมาก เพราะกำหนดมาตรฐานไว้สูง แต่ถ้าได้ตราฮาลาลของไทยแล้วทั่วโลกจะยอมรับทันที

 

แต่การตั้งโรงงานต้องผ่านมาตรฐาน อย.(อาหารและยา) และมาตรฐานฮาลาล และต้องมีตลาดรองรับ เราจึงอยากได้มาตรฐาน อย. และฮาลาลด้วย ซึ่งก็ต้องมีอาคารโรงงานและมีเครื่องมือพร้อมตามที่รัฐกำหนด

การขอรับรองมาตรฐาน อย.และฮาลาลของประเทศไทยนั้นยากมาก เพราะกำหนดมาตรฐานไว้สูง แต่ถ้าได้ตราฮาลาลของไทยแล้วทั่วโลกจะยอมรับทันที

จะทำอย่างไรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานง่ายขึ้น ซึ่งมันก็ติดอยู่ที่ว่า ทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย อย่างตราฮาลาลก็ต้องจ่ายหลักหมื่น ส่วน อย.ก็ต้องมีสถานที่ครบวงจร นั่นคือเงินทั้งนั้น

“เราแค่วิสาหกิจชุมชน ไม่ใช่นักธุรกิจ แต่เขาทำเงื่อนไขไว้เพื่อนักธุรกิจ”

แต่ถ้าเขาวางเงื่อนไขตามระดับความเป็นไปได้ มันก็น่าจะคล่องตัวมากขึ้นสำหรับหลายๆ กลุ่มวิสาหกิจที่จะสามารถเดินหน้าต่อได้ แต่หลายกลุ่มวิสาหกิจไม่ได้ไปต่อ เพราะติดเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง

กะซูบอกว่า ตอนนี้ ต่างประเทศให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ของเรา แต่เราไปต่อไม่ได้ เพราะติดปัญหาเรื่องมาตรฐาน เพราะต่างชาติยึดมาตรฐานเป็นหลัก เหมือนเราไปต่างประเทศถ้าไม่เจอการรับรองมาตรฐาน เราก็ไม่ซื้อของเขาเหมือนกัน

ดังนั้น การได้รับการรับรองมาตรฐานจึงสำคัญ แต่ยากมากและต้องลงทุน ซึ่งเราทำงานเพื่อสังคมแล้วต้องหาทุนมาทำเรื่องนี้อีกมันก็ยิ่งหนักไปใหญ่

อย่างไรก็ตาม วันนี้ ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถพัฒนาขึ้นมาได้ระดับหนึ่งแล้ว เหลือเพียงเรื่องคุณค่าทางอาหารและรสชาติที่ต้องพัฒนาอีกหน่อย

เราเคยให้ลูกค้ากับอาจารย์ ม.อ.(มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ได้ประเมินรสชาติดู ซึ่งเรารู้สึกได้ว่าพวกเขาได้เห็นชอบ 100% แล้ว เพียงแต่รอเปลี่ยนหน้าตาผลิตภัณฑ์ ตกแต่งให้สวยและมีมาตรฐานรองรับแล้วเราก็ไปต่อได้

นอกจากนี้ เธอยังมุ่งหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ปะนาเระด้วย “วิสัยทัศน์ปะนาเระ” นั่นคือ ปะนาเระต้องสะอาด สามารถดึงดูดคนนอกเข้ามาได้ เราไม่ใช่แค่ทางผ่าน เพราะเป็นพื้นที่ที่คนต้องตั้งใจจะมาจริงๆ เราจึงต้องมีจุดเด่นเรื่องความสะอาด และผลิตภัณฑ์ของเราต้องมีไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาซื้อเป็นของฝาก

“ตอนนี้ เราเห็นสมาชิกหรือคนในชุมชนพูดคำเดียวว่า การอยู่ด้วยกันตรงนี้แม้จะไม่ได้เงินเป็นจำนวนมาก แต่มีความสุข เราได้แบ่งปัน เราได้แลกเปลี่ยน เราได้พูดคุยกันถึงสารทุกสุกดิบ แล้วก็เรามีความสุขที่ได้ยินเขาพูดกันอย่างนี้” 
 

‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
‘อาอีชะฮ์ ตีมุง’ ผู้หญิงสร้าง ‘สันติภาพกินได้’ ผ่านวิสาหกิจชุมชนสตรีปัตตานี
เนื้อหาล่าสุด