Skip to main content

‘กาแฟชาติพันธุ์’ วิถีคนกับป่าที่ยั่งยืน สร้างเศรษฐกิจชนพื้นเมือง

14 กุมภาพันธ์ 2567

องอาจ เดชา

 

หลายสิบปีที่ผ่านมา พื้นที่หลายชุมชนบนดอยสูงถูกกระแสทุนรุกคืบเข้าไปโดยไม่รู้ตัว จนทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ ชนพื้นเมืองตั้งรับไม่ทัน เกิดการเปลี่ยนแปลงจาก ‘วิถีดั้งเดิม’ เป็นเกษตรกร ‘ปลูกพืชเชิงเดี่ยว’ ที่กลุ่มทุนและรัฐเข้าไปส่งเสริมอย่างเช่น ข้าวโพด จนมีการขยายพื้นที่ไปมากขึ้นๆ ตามลำดับ กระทั่งเกิดวงจรอันเลวร้ายที่ยากจะสลัดถอนออกไปได้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ หนี้สิน ดินตาย น้ำแล้ง ป่าหาย ชีวิตล้มป่วยด้วยสารเคมี ฯลฯ

ในขณะที่กระแสสังคมต่างชี้นิ้วไปที่กลุ่มชาติพันธุ์ คือ ตัวการทำลายป่า ทำให้น้ำท่วม น้ำแล้ง หนำซ้ำยังสร้างปัญหาหมอกควันไฟป่าเกือบทุกปี อีกทั้งภาครัฐ เริ่มใช้มาตรการที่สวนทางกับวิถีชุมชนดั้งเดิม พยายามใช้อำนาจเข้าไปบีบบังคับชาวบ้าน ผ่าน ‘นโยบายทวงคืนผืนป่า’ และใช้มาตรการกดดัน จนกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่ามาแต่ดั้งเดิม กลายเป็นประเด็นความขัดแย้ง ที่ดูเหมือนจะไม่มีวันที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันไปมอง ยังมีอีกหลายๆ ชุมชนบนดอย หลายๆ พื้นที่ในภาคเหนือ พยายามยืนหยัดต่อสู้ เรียกร้องรักษาสิทธิ และพยายามเรียนรู้ปรับวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับผืนดินผืนป่าที่เขาอาศัยอยู่มานานหลายชั่วอายุคน ว่าจะทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้อย่างพัฒนาและยั่งยืน

การรวมกลุ่มกันในเรื่องของการ ‘ปลูกกาแฟออร์แกนิก’ กาแฟอินทรีย์ใต้ร่มเงาของป่า จนกลายเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทำกิจกรรมร่วมกัน ตั้งแต่การปลูกกาแฟ การดูแลรักษา และการแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพ จนกลายเป็นแบรนด์กาแฟอราบิก้าท้องถิ่น เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนบนดอยของตนเอง

แบรนด์กาแฟเหล่านี้ คือบทสะท้อนและยืนยันให้สังคมได้สัมผัสและรับรู้ว่า จริงๆ แล้ว คน อยู่กับป่า อย่างพึ่งพาและเกื้อกูลกัน และยังสามารถตอบโจทย์ได้ว่า การปลูกกาแฟออร์แกนิกใต้ร่มเงาของป่า ของชนพื้นเมืองบนดอยสูงนั้น นอกจากจะช่วยสร้างรายได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยกันดูแลป่าไปพร้อมๆ กันด้วย

ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา มีการทำวิจัยเปรียบเทียบ ‘ผลดี-ผลเสีย’ ของการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ออกมามากมาย ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปตรงกันว่าหากดำเนินการตามมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่มีการกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด การปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ให้ผลดีกว่าการปลูกแบบอุตสาหกรรมกลางแจ้งในทุกๆ ด้าน ตั้งแต่รสชาติที่ดีกว่า เพราะในร่มเมล็ดกาแฟจะสุกช้าๆ ทำให้มีน้ำตาลในธรรมชาติสูงกว่า ส่งผลให้กาแฟมีรสชาติที่ลุ่มลึกและมิติมากกว่า ปลอดภัยกว่า เพราะไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี ตรงข้ามกับวิธีปลูกแบบปกติที่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงสูงมาก จึงทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะการปลูกใต้ร่มไม้ช่วยทำให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน ลดการกัดเซาะหน้าดิน และช่วยกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้น เพราะส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์หย่อมป่าที่เหลืออยู่ ทำให้เอื้อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะนกอพยพ

ว่ากันว่า ทั่วโลกทุกวันนี้ ตลาดกาแฟที่ปลูกใต้ร่มไม้ เติบโตขึ้นตามลำดับ และมีมูลค่ากว่าพันล้านบาทเฉพาะในตลาดที่สหรัฐอเมริกา แต่นั่นก็ยังคิดเป็นเพียง 1–2% ของมูลค่าตลาดกาแฟโดยรวมเท่านั้น การส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากผู้ดื่มและผู้ขายกาแฟแสดงเจตจำนงที่ต้องการซื้อกาแฟจากระบบการผลิตที่ยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับในประเทศไทย การส่งเสริมการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้เชิงอนุรักษ์น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างหนึ่งที่สามารถส่งเสริมควบคู่ไปกับการฟื้นฟูป่าบนเขาหัวโล้นในหลายๆพื้นที่ เพราะอย่างน้อยก็เป็นทางเลือกให้เกษตรกรมีรายได้ที่ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัว

และนี่เป็นอีกตัวอย่างของแบรนด์กาแฟชาติพันธุ์บนดอยสูงของภาคเหนือของไทย

 

Pa'Ka Coffee 


กาแฟ “Pa'Ka Coffee” เป็นของวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟอราบิก้าและหัตถกรรม ดอยป่าแป๋ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ที่เกิดจากการรวมกลุ่มของชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่ จนสร้างชื่อเสียงและสร้างรายได้ให้กับชุมชนมานับสิบปีมาแล้ว

Pa'Ka Coffee เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2553 จากการที่ชุมชนรวมกลุ่มกันเพื่อแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพ โดยกาแฟนั้นได้ปลูกแซมใต้ร่มไม้ในป่าชุมชน ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถตอบโจทย์ฐานรายได้ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมบนฐานแนวคิดการดูแลจัดการป่าของปกาเกอะญอ และชุมชนได้เริ่มทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสร้างการนำเสนอแนวคิดของกาแฟชุมชนป่าแป๋และการจัดการทรัพยากรบนฐานประเพณีวัฒนธรรมปกาเกอะญอในชุมชน

Pa'Ka Coffee ได้ยึดตามแนวคิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่า เหมือนกับบทธา ของบรรพบุรุษของปกาเกอะญอ ที่พร่ำสอนลูกหลานว่า "ออทีเกอตอที ออก่อเกอตอก่อ...กินกับน้ำให้รักษาน้ำ กินกับป่าให้รักษาป่า"

ดีปุ๊นุ-บัญชา มุแฮ  หนุ่มปกาเกอะญอ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Pa'Ka Coffee เล่าถึงเหตุผลของการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟโดยใช้วิถีดั้งเดิมแบบปกาเกอะญอว่า 


“เพราะกาแฟช่วยทำให้ชุมชนชาวบ้านมีรายได้ดี เนื่องจากกาแฟที่นี่เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษ เป็นสิ่งวิเศษที่ในหลวง ร.9 ให้กล้าพันธุ์พวกเรามา ที่สำคัญก็คือ การปลูกกาแฟไม่ได้ทำลายป่า กาแฟเป็นตัวแทนชุมชนที่จะสื่อสารเรื่องราว ต่างๆ ของชุมชนผ่านกาแฟ มีเพียงหมู่บ้านป่าแป๋ดอยช้าง ที่ปลูกกาแฟ เพราะปลูกมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น เราไม่ได้มีการพัฒนาอย่างจริงจัง จนกระทั่งคุณเล็ก-ภัทร์ไพบูลย์ เรือนสอน ซึ่งมาเป็นเขยในหมู่บ้าน ได้มาทำกาแฟอย่างจริงจัง และสนับสนุนให้ชุมชน ขยายพันธุ์ ปลูกกาแฟที่มีอยู่ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้น”

 

การปลูกกาแฟช่วยรักษาป่า

นอกจากการสร้างรายได้และเศรษฐกิจให้กับชุมชนแล้ว ดีปุนุ บอกว่า การปลูกกาแฟ ยังทำให้ป่ายังอยู่ ต้นน้ำยังมี

“เราปลูกแซมเข้าไปในป่าใหญ่ โดยที่ไม่ต้องตัดต้นไม้ ไม่เหมือนพืชเชิงเดี่ยวที่รัฐส่งเสริมนั้นมุ่งแต่ทำลายป่า แต่พืชอย่างกาแฟที่เราปลูก นั้นชอบร่มเงา เราสังเกตได้ว่า กาแฟจะเติบโตสวยงามได้ บริเวณต้นน้ำที่มีต้นไม้ใหญ่” ดีปุนุเล่า

ขณะที่ ภัทร์ไพบูลย์ เรือนสอน หนึ่งในผู้ประกอบการ และผู้สนับสนุนให้ชุมชนปลูกกาแฟ ภายใต้แบรนด์ Pa'Ka Coffee บอกถึงจุดแข็งของกาแฟแบรนด์นี้ว่า อยู่ที่ Process ของการทำกาแฟทุกกระบวนการตั้งแต่การเก็บเมล็ดกาแฟจากต้น จนถึงกระบวนการคั่ว ที่ดูแลทุกขั้นตอนด้วยชุมชนเองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น กาแฟทุกแก้วจึงมีคุณค่าที่มากกว่ากาแฟหนึ่งแก้ว เพราะเป็นการดูแลและใส่ใจของชุมชนที่ตั้งใจทำกาแฟของตัวเองออกมาให้ดีที่สุด                                        

“กาแฟที่ลูกค้าของเราชอบตลอด 10 ปี คือ Pa'Ka estate คั่วกลาง เพราะกาแฟคั่วกลางของเรา คือ การคั่วที่ดึงรสชาติกาแฟของป่าแป๋ได้ดีที่สุด และพิเศษสุดโดยมีการันตีจาก Coffee Review ได้คะแนน 81 ดังนั้นการกินกาแฟคือการสัมผัสรสชาติดินของบ้านป่าแป๋เรา การมีดินที่ดี ต้องมีป่าที่ดีด้วย ดังนั้นกาแฟจึงเป็นการเล่าเรื่องราวพื้นที่ของชุมชนป่าแป๋ได้ดี” ภัทร์ไพบูลย์บอก

ที่สำคัญ ก็คือพวกเขาได้ตระหนักถึงเรื่อง "การส่งต่อแนวคิดให้กับคนรุ่นใหม่นั้นสำคัญที่สุด"

“งานสำคัญของเราทุกวันนี้ คือการส่งต่อองค์ความรู้บทบาทหรือแนวคิดให้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนปกาเกอะญอผ่านการลงมือทำของคนรุ่นใหม่ ให้ได้เข้าใจการอยู่ร่วมและเคารพต่อธรรมชาติของคนปกาเกอะญอ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรแต่สิ่งแวดล้อมผ่านผลผลิตที่มีอยู่แล้วในชุมชนเพราะ คนรุ่นใหม่คืออนาคตของชุมชน" ภัทร์ไพบูลย์กล่าว

เมื่อเราถามว่า ที่สุดแล้ว กาแฟจะเป็นทางออกให้กับพี่น้องชาติพันธุ์หรือไม่ โดยดูได้จาก ปัจจุบัน มีหลายแบรนด์กาแฟอราบิก้าของหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ เชียงราย หรือลำพูน ฯลฯ ที่ออกมาทำธุรกิจ ทำวิสาหกิจชุมชน ขายเมล็ดกาแฟ เปิดร้านกาแฟ โดยชูผลิตภัณฑ์แบรนด์กาแฟพรีเมียมของตน

ดีปุนุ บอกว่า กาแฟไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับวิถีชีวิตในหมู่บ้านได้อย่างลงตัวทั้งหมด ซึ่งวิถีชีวิตที่สำคัญต่อคนกะเหรี่ยง คือ การทำไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นทั้งชีวิตและจิตวิญญาณของคนในชุมชน และเป็นอาชีพหลักของคนที่นี่ ส่วนกาแฟนั้นเป็นอาชีพเสริมที่จะเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน

“นอกจากข้าวในไร่หมุนเวียนแล้ว กาแฟอาจเป็นการตอบโจทย์ให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างงดงามในขณะนี้ แต่ก็ถือว่าไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด” ดีปุนุกล่าว

 

กาแฟ ‘วัชพืชหลังเขา’

อีกแบรนด์หนึ่ง ที่โดดเด่น น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ “กาแฟวัชพืชหลังเขา” 1 ในกาแฟ 9 ดอย ของจังหวัดเชียงใหม่

เสน่ห์ของกาแฟวัชพืชหลังเขา คือ กาแฟที่ปลูกบนความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร บนความสูงของป่าสนวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ รสชาตินั้นเทียบกับระดับกาแฟดอยช้าง หรือกาแฟห้วยห้อม

ทองดี ธุระวร ศิลปินปกาเกอะญอ หรือ ทองดี ตุ๊โพ จากวงดนตรีวัชพืชหลังเขา และถือว่าเป็นผู้บุกเบิกที่ลงมือปลูกกาแฟในพื้นที่ป่าสนอย่างจริงจัง โดยได้รับต้นพันธุ์จากโครงการหลวงวัดจันทร์ จนกระทั่งกลายเป็นชื่อแบรนด์ “กาแฟวัชพืชหลังเขา” ซึ่งได้นำมาจากชื่อวงดนตรีของเขานั่นเอง

จุดแข็ง ของกาแฟวัชพืชหลังเขา ที่ทุกคนสนใจและติดใจ ก็คือ การลงมือปลูกเอง คั่วเอง ขายเอง ดื่มเอง เสร็จทุกขั้นตอน

ทองดี บอกว่า ก่อนนั้น ได้ไปเรียนรู้การทำ Process การคั่วจากที่อื่นๆ ก่อนจะนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมที่สุดกับกาแฟวัชพืชหลังเขา

ทองดีบอกเคล็ดลับว่า “พะตีจะใช้หม้อดินคั่วกาแฟ บนอุณหภูมิความร้อนที่สูง รสชาติจะดี หอมๆ”

ทองดี บอกว่า ที่หันมาสนใจเรื่องการปลูกกาแฟ ก็เพราะต้องการตอบสนองแนวทางของพ่อหลวง ( ร.9) ในสมัยนั้น ในราวปี 2518 พ่อหลวงต้องการให้ชาวบ้าน ในแถบนี้ ลด ละ เลิก ปลูกสิ่งเสพติด ซึ่งตอนนั้น มีชาวบ้าน หลายๆ หมู่บ้านของอำเภอกัลยาณิวัฒนา และหมู่บ้านใกล้เคียง ในเขต อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็เข้ามาร่วมด้วยกัน ก็เริ่มต้นปลูกกาแฟตั้งแต่ตอนนั้นกันเลย

“ที่บอกว่า ปลูกกาแฟช่วยดูแลป่าด้วยนั้น ก็เพราะว่า กาแฟเป็นพืชเชิงเดี่ยวไม่ได้ แต่ต้องอาศัยพืชอื่นเป็นเพื่อน อาศัยต้นไม้ใหญ่ ช่วยดึง N-P-K ดึงแร่ธาตุลงมา กาแฟนั้นต้องการแสง70 ต้องการร่มเงา 30% ฉะนั้น การปลูกกาแฟต้องอาศัยต้นไม้ให้ร่มเงา กาแฟจึงจะมีคุณภาพและอายุยืนอย่างน้อย 40 ปีขึ้นไป” ทองดีบอก

ทองดียังบอกอีกว่า การปลูกกาแฟของชาวบ้านที่นี่เป็นแบบต่างคนต่างทำ แต่พอเวลาจะขาย ก็จะมาแปรรูปทำร่วมกัน โดยใช้ชื่อแบรนด์ “วัชพืชหลังเขา” ซึ่งนอกจากจะมีกาแฟแล้ว ก็ยังมีการแปรรูปข้าวกล้อง ออกจำหน่ายไปพร้อมๆ กันด้วย

 

LAPATO กาแฟออร์แกนิก

LAPATO :เลพาทอ กาแฟอินทรีย์ของชาวปกาเกอะญอ กลุ่มวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

LAPATO : เลพาทอ เป็นภาษา ปกาเกอะญอ ที่เรียกยอดเขา ‘ผาแง่ม’ ที่มีหน้าผาสูง และเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำวางที่ไหลมาสมทบแม่น้ำขานสู่แม่น้ำปิง ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญอีกสายหนึ่งของชาวเชียงใหม่  ในพื้นที่แห่งนี้มีหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขาและป่าไม้อยู่ด้านหลังดอยอินทนนท์ เป็นพื้นที่ของพี่น้องชาวปกาเกอะญอที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับผืนป่ามาอย่างยาวนาน หมู่บ้านนี้ คือ หมู่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่  เป็นแหล่งกำเนิด กาแฟในชื่อ ‘ LAPATO ’

สมคิด ตุ้มอินมูล เจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรยั่งยืน ของสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ บอกว่า ก่อนจะมาเป็น ‘เลพาทอ’ ในช่วงปี 2550 เขาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเกษตรยั่งยืน รับมอบหมายให้รับผิดชอบช่วยส่งเสริมเกษตรยั่งยืนให้กับเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบน ซึ่งประธานเครือข่ายคือ บุเจ้ ไศลทองเพริศ ณ ตอนนั้น ยังดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน

“นายก อบต.ได้มอบหมายให้ช่วยกันคิดค้นกิจกรรมการต่อยอด พืชผัก ไม้ผล ที่มีอยู่แล้วในตำบลแม่วิน ให้คนที่อยู่กับป่าตำบลแม่วินให้มีรายได้ ให้มีความมั่นคงที่จะอยู่กับพื้นที่อย่างยั่งยืน ด้วยการศึกษาค้นหาพืชที่จะอยู่ร่วมกับป่าได้ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้คนอยู่กับป่าได้ ในตอนนั้น ทางกลุ่มเริ่มมีการศึกษาหาความรู้ และออกไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต่างๆ เช่น การแลกเปลี่ยนความรู้ และศึกษาดูงาน การปลูกผักอินทรีย์ การเลี้ยงวัว ของสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ แม่ทา ต. แม่ทา จ. เชียงใหม่  ไปศึกษาดูงาน และศึกษากระบวนการการผลิตกาแฟอราบิก้า บริษัทดอยช้าง จ.เชียงราย ไปดูงานร้านกาแฟอาข่าอาม่า จ.เชียงใหม่ ไปดูงานกาแฟออแกนิคบ้านขุนลาว  จ.เชียงราย นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วมอบรมการผลิตกาแฟอราบิก้าคั่วบดสำหรับเกษตรกร ณ ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่นที่ 3/2552” สมคิดเล่า

สมคิดเล่าว่า ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปตรงกันที่การทำกาแฟอินทรีย์ เพราะกาแฟนั้นสร้างรายได้ เก็บได้นาน สามารถปลูกร่วมกับไม้ป่าในไร่หมุนเวียนเดิมได้ ป้องกันดินถล่มได้

เขาจึงได้ทำโครงการร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลแม่วิน มีการเชิญทีมวิทยากรจากศูนย์วิจัยและฝึกอบรมที่สูง คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอบรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต.แม่วิน ที่สนใจปลูกกาแฟ ประมาณ 40 คน จาก 14 หมู่บ้าน ที่บ้านหนองเต่า จากนั้น อบต.แม่วิน ช่วยสนับสนุน ให้เพาะกล้าพันธุ์กาแฟ จำนวน 200,000 ต้น ได้แจกจ่ายกล้ากาแฟให้กับเกษตรกร 70,000 ต้น อีกทั้งได้ช่วยกันทำปุ๋ยหมัก 700 กระสอบ แจกจ่ายใน 14 หมู่บ้าน พบว่าเกษตรกรปลูกกาแฟเพียงใช้เป็นสัญลักษณ์การใช้ประโยชน์ของที่ดิน  แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ในด้านเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เลย

ในปี 2553 เป็นปีที่จำเป็นต้องเอาจริงจังกับการสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เห็นรูปธรรม เนื่องจากที่ผ่านมา เรา 2 คน ใช้ฐานหมู่บ้านเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบนในการเคลื่อนกิจกรรมซึ่งกระจายไม่ได้เจาะจงพื้นที่ จึงไม่สามารถคาดหวังผลผลิตกาแฟเพื่อมาทำการตลาดได้  จึงปรึกษากันว่าการจัดระบบการจัดการกาแฟใหม่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

“เรามีการรวมกลุ่มเกษตรกร จนกลายเป็นกลุ่มวิสาหกิจ โดยได้เน้น 3 หมู่บ้านที่มีกาแฟ คือ หมู่บ้านหนองเต่า หมู่บ้านห้วยอีค่าง หมู่บ้านทุ่งหลวง” สมคิดกล่าว

พื้นที่ต้นน้ำ มีการจัดตั้งองค์กรผู้ประกอบการในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน ประธานกลุ่มวิสาหกิจ โดย กวิ๊- อำนวย  นิยมไพรนิเวศน์ มาร่วมถือหุ้นกับ สมคิด  ตุ้มอินมูล, สุนันทา ตุ้มอินมูล และพิกุล  จันทกูล ร่วมกันจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญเลพาทอ เป้าหมายเพื่อเป็นองค์กรทำตลาด และสื่อสารกับผู้บริโภคให้เข้าใจการทำกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่า และจัดสรรกำไรคืนให้กับเครือข่ายการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำวางตอนบน ไปทำกิจกรรมการอนุรักษ์ป่า เช่น ทำแนวกันไฟ บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ เป็นค่าอาหารให้คณะกรรมการเครือข่ายได้ประชุมปรึกษา แก้ไขปัญหาเรื่องป่าไม้ที่ดินในเขตป่า เป็นต้น ส่วนพื้นที่กลางน้ำ ก็ให้มีจุดแปรรูปควบคุมคุณภาพการผลิตกะลากาแฟ

สมคิด ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง เลพาทอ บอกว่า เป้าหมายเลพาทอ คือ การสนับสนุนให้คนอยู่กับป่า คนต้องดูแลป่า คนจะอยู่กับป่าได้ ต้องมีปัจจัยหลายด้าน คือ  ความมั่นคงทางอาหาร วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม มีสุขภาพที่ดี และมีสวัสดิการด้วย

“การส่งเสริมการปลูกกาแฟไม่ได้เป็นคำตอบทั้งหมด  เพียงแต่เป็นจุดเริ่มต้น เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงเพื่อตอบโจทย์ปัญหาอื่นๆ  เรามั่นใจว่า เรามีต้นทุนของชุมชนในเรื่อง กาแฟ ซึ่งมีมายาวนาน อีกทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐที่เปลี่ยนจากพื้นที่การปลูกฝิ่น มาปลูกกาแฟทดแทน  ทั้งยังมีหน่วยงานศูนย์วิจัยเกษตรหลวงขุนวางที่อยู่ในพื้นที่ได้เป็นหน่วยงานสนับสนุนความรู้ ค้นคว้าวิจัยสายพันธุ์กาแฟ เพื่อส่งเสริมปลูกกาแฟในพื้นที่ มีองค์ความรู้ในการผลิตกาแฟที่มีอยู่แล้วจำนวนมาก เหล่านี้สามารถส่งเสริมต่อยอดยกระดับให้มีประโยชน์กับชุมชนได้ โดยเฉพาะผู้นำชาวบ้านหลายท่านที่ต่อสู้ให้คนอยู่กับป่า เช่น นายบุเจ้  ไศลทองเพริศ ชนเผ่าปกาเกอะญอ อดีตนายก อบต.แม่วิน ผู้ที่สนับสนุนทำกาแฟเลพาทอมาอย่างต่อเนื่อง คอยให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางให้เลพาทอ ทำธุรกิจกาแฟที่ชุมชนมีส่วนร่วม ให้เอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ เอื้อประโยชน์กับชุมชน และให้เลพาทอเป็นหน่วยช่วยระดมทุนเพื่อรักษาป่ารักษาสิ่งแวดล้อม” สมคิดกล่าว

ปัจจุบัน มีชาวบ้านในชุมชนที่เข้าร่วมการพัฒนากาแฟ คือหมู่บ้านหนองเต่า หมู่บ้านห้วยอีค่าง หมู่บ้านป่าไผ่ หมู่บ้านห้วยหอย ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่

อำนวย นิยมไพรนิเวศน์  แกนนำเกษตรอินทรีย์บ้านหนองเต่า และหนึ่งในผู้ประกอบการกาแฟเลพาทอ เล่าว่า พื้นที่ลุ่มน้ำวางตอนบน เป็นที่พื้นที่อาศัยของกลุ่มชนเผ่า 3 ชนเผ่า คือ คนเมือง ม้ง และปกาเกอะญอ  พื้นที่แม่วินหรือเครือข่ายลุ่มน้ำวาง เมื่อหลายสิบปีก่อนเคยเจอเรื่องความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่ดิน การประกาศอุทยานฯ ทับที่ทำมาหากิน ชาวบ้านโดนไล่ออกจากป่า พ่อแม่พี่น้องต้องไปหน้าศาลากลาง หน้าทำเนียบ เพื่อต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน  ผู้นำครอบครัวหลายคนต้องออกไปเพื่อต่อสู้ พอผู้นำครอบครัวออกไป ก็เริ่มเกิดปัญหาในครอบครัวไม่มีรายได้ ทุกคนเหนื่อยล้ามาก เราต้องสู้กับความไม่เป็นธรรมของที่ดินของเรา ทุกคนต่างต้องช่วยกันทำมาหากินเพื่อหารายได้เพื่อความอยู่รอดของเรา แต่เราก็ไม่เคยทำลายป่า เราไม่ทำลายบ้านของเราเอง เพราะมันคือที่อยู่ ที่ทำกินของเราที่เราต้องรักษาไว้

อำนวยเล่าว่า หลังกระแสการพัฒนาเริ่มเข้ามาในพื้นที่ของชาวบ้าน ปรากฏว่าเกษตรกรใช้สารเคมีเยอะมาก จนส่งผลกระทบและทำลายธรรมชาติ หน่วยงานต่างๆ เอาพืชผักมาจากข้างนอกมาให้ชาวบ้านปลูกที่ไม่ใช่พืชผักดั้งเดิม แต่เป็นพืชจากต่างประเทศ เป็นพืชเมืองหนาว รวมทั้งปุ๋ย สารเคมี พืชแต่ละตัวก็มีสารเคมีที่ใช้แตกต่างกันไป บ๊วยต้องใส่ตัวนี้ อะโวคาโดต้องใส่ตัวนี้ พลับต้องใส่ตัวนี้ นั้นคือช่วงเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา

อำนวยเล่าว่า กาแฟก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวหนึ่งที่เข้ามาในรุ่นปู่ย่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ภายใต้โครงการขององค์การสหประชาชาติ ที่เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ ซึ่งใช้เวลา 3 ปีกว่าจะเก็บเกี่ยวได้ พอ 3 ปีเก็บเกี่ยวได้ รัฐจะรับซื้อคืน ชาวบ้านบางคนก็แปรรูปเองบ้าง แต่ด้วยขั้นตอนยุ่งยาก ชาวบ้านจึงหมดความสนใจ

2-3 ปีต่อมา มีพืชตัวอื่นก็เข้ามาอีก เริ่มมีบ๊วย พลับ สาลี่ มาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและรับซื้อผลผลิต แล้วก็ปล่อยทิ้ง พืชตัวอื่นก็เข้ามา ทุกคนก็ตามไปปลูกตัวใหม่ กาแฟก็ถูกทอดทิ้งไป บางคนก็มีพื้นที่ไม่พอ พืชตัวใหม่มาก็ตัดพืชตัวเดิมทิ้ง โดยเฉพาะกาแฟ ซึ่งเป็นพืชที่ชาวบ้านไม่รู้จัก กินก็ไม่เป็น เพราะไม่ใช่พืชดั้งเดิมชาวบ้าน จนถึงตอนนี้เริ่มเข้ามาส่งเสริมการปลูกพืชผักระยะสั้น ซึ่งต้องใช้พื้นที่โล่ง ทำให้ต้องตัดต้นไม้ทิ้ง สิ่งเหล่านี้บั่นทอนทั้งคนที่อยู่กับป่าและธรรมชาติ

ในฐานะที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ อำนวยและเพื่อนๆ บนดอยสูง จึงพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะดำรงวิถีชีวิตในการอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืนที่สุด ในขณะเดียวกันก็ยังรักษาการผลิตอาหารที่ดีส่งตรงถึงผู้บริโภคอย่างมีคุณภาพและปลอดภัยได้ด้วย

“ทำยังไงเราจะมีอาหารที่ดีกิน และป่าก็ยังอยู่ได้ด้วย ไม่ใช่ถางป่าปลูกผักไปเรื่อยๆ ถ้าทำอย่างนั้นวันหนึ่งก็จะไม่มีใครสักคนที่อยู่รอดได้  สิ่งที่เราทำทุกวันนี้คือใช้ประโยชน์จากป่าหลายๆ ระดับชั้น เรามีต้นไม้ระดับสูง กลาง มีไม้คลุมดิน มีไม้เลื้อยบนต้นไม้ แม้แต่ใต้ดินก็ยังมี กาแฟที่เราปลูกก็เป็นกาแฟใต้ร่มไม้ในป่า เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เราอยากมีโอกาสเล่าให้ผู้บริโภคฟัง เพราะวิถีชีวิตที่ดีต้องนำพาไปสู่ความยั่งยืน” อำนวยกล่าว

ว่ากันว่า เลพาทอ ทุกวันนี้ ถือว่าเป็น Power sharing และ Eco Living โดยชุมชนและชาวบ้านที่อยู่กับป่า สามารถดำรงชีพได้พร้อมกับการช่วยดูแลป่า รักษาป่า เป็นการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้กลับมาช่วยกันรักษาทรัพยากรที่ดินทำกินของรุ่นพ่อแม่ และสร้างการมีส่วนร่วมจากคนเมือง โดยทุกๆ การซื้อกาแฟ 1 แก้ว คืน 1 บาทสู่ชุมชน เพื่อนำกลับไปดูแลรักษาฐานทรัพยากรของพวกเขาด้วย

 

ข้อมูลประกอบและอ้างอิง
1.กาแฟ ชาติพันธุ์  วิถีพึ่งพา การจัดการป่าอย่างยั่งยืน, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 110 พ.ค.-ส.ค.2562
2.สัมภาษณ์ สมคิด ตุ้มอินมูล ผู้ร่วมก่อตั้ง LAPATO Organic Coffee ‘เลพาทอ’ กาแฟอินทรีย์ของชาวปกาเกอะญอบ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จังหวัดเชียงใหม่
3..สัมภาษณ์ ดีปุนุ - บัญชา มุแฮ, วิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟอราบิก้า และหัตถกรรม ดอยป่าแป๋ อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน,หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Pa'Ka Coffee
4.สัมภาษณ์ ทองดี ธุรวร,ผู้ก่อตั้ง กาแฟวัชพืชหลังเขา อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
6.กาแฟรักษาป่า กาแฟที่ถอยหลังไปข้างหน้าตามแบบ LAPATO,07 January 2018,www.ldm.in.th
7..เพชร มโนปวิตร,กาแฟใต้ร่มไม้…อนุรักษ์ป่าด้วยพืชเศรษฐกิจ,ForestCoin.Space,Jul 30, 2018
 

‘กาแฟชาติพันธุ์’ วิถีคนกับป่าที่ยั่งยืน
‘กาแฟชาติพันธุ์’ วิถีคนกับป่าที่ยั่งยืน
‘กาแฟชาติพันธุ์’ วิถีคนกับป่าที่ยั่งยืน
‘กาแฟชาติพันธุ์’ วิถีคนกับป่าที่ยั่งยืน
เนื้อหาล่าสุด