Skip to main content

ทุนทางสังคม ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน

7 กุมภาพันธ์ 2567

องอาจ เดชา

 

"บ้านกลาง" ชุมชนกะเหรี่ยงโปว์ ตั้งอยู่กลางหุบเขา ในเขตพื้นที่ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

เราสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบของชุมชนที่รายรอบด้วยภูเขาและผืนป่า มองเห็นต้นไม้ใหญ่ ทั้งมะม่วงยักษ์ มะขามยักษ์ ขนาดหลายคนโอบตั้งตระหง่านอยู่ริมถนน บ่งบอกถึงร่องรอยการตั้งถิ่นฐานมาช้านาน เมื่อทอดสายตาไปยังบนเนินเขาเหนือหมู่บ้าน จะเห็นอนุสาวรีย์รูปทรงแปลกตา ชาวบ้านบอกว่า เป็นอนุสรณ์รำลึกถึงการก่อตั้งการเข้ามาของมิชชันนารีที่เดินเท้าเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ตั้งแต่ประมาณ 300 กว่าปีมาแล้ว ชาวบ้านหลายคนเชื่อว่าอายุของชุมชนแห่งนี้น่าจะมากกว่านั้น คนเฒ่าคนแก่ยังเล่าว่า ในช่วงสมัยมีการสร้างประตูผา แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสายลำปาง-งาว ได้มีการเกณฑ์แรงงานชาวบ้านจากบ้านกลางลงไปใช้แรงงานขุดก่อสร้างประตูผาด้วย

จุดเด่นของชุมชนแห่งนี้คือ ผืนป่าและสายน้ำที่ได้รับมีการดูแลจนอุดมสมบูรณ์มาก ชาวบ้านมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสมดุลเกื้อกูลกัน มีทุ่งนาและไร่หมุนเวียน รายได้ส่วนใหญ่ของชาวบ้านมาจากป่า ไม่ว่าจะเป็น การเลี้ยงวัวควายในป่า การปลูกข้าว การปลูกกาแฟ การเก็บหน่อไม้ การปลูกมะแขว่น การเก็บครั่ง เก็บผักกูด ซึ่งผลผลิตจากป่าทั้งหลายนั้นสร้างรายได้ให้กับทุกครัวเรือน ทำให้ใช้ชีวิตกันอย่างมีความสุข

จึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมหมู่บ้านกลางแห่งนี้ถึงได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ปี 2550 ประเภทชุมชน และเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนศึกษาดูงานของชาวไทยและชาวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้

 

เผชิญปัญหาสัมปทานป่าถึงสามครั้ง กว่าจะเป็นผืนป่าอุดมสมบูรณ์

 

หากย้อนกลับไปค้นหาร่องรอยประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านกลาง จะพบว่า กว่าชุมชนชาวกระเหรี่ยงโปว์กลุ่มนี้จะมีวิถีชีวิตอย่างสันติสุข พวกเขาต้องเรียนรู้ต่อสู้กับปัญหามาแล้วอย่างหนักหน่วงหลายต่อหลายครั้ง

ก่อนหน้านั้น ป่าบ้านกลางผืนนี้ ได้ถูกรัฐจัดสรรให้เป็นพื้นที่ที่ได้รับการสัมปทานไม้สักถึง 3 รอบ

รอบแรกในปี 2493 รอบที่สองในปี 2502 และรอบที่สามในปี 2514 ซึ่งส่งผลทำให้ฝืนป่านี้ถูกทำลายลงอย่างมหาศาล เท่านั้นยังไม่พอ ชาวบ้านบอกว่า หลังจากในปี 2530 จะมีการยกเลิกสัมปทานแล้ว แต่ขบวนการตัดไม้ทำลายป่าก็ยังไม่หมดไปจากพื้นที่ ยังคงมีการลักลอบตัดไม้สักโดยกลุ่มทุนและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จึงทำให้สภาพป่าที่เสื่อมโทรมจากการสัมปทานอยู่แล้ว ต้องเสื่อมโทรมมากทวีคูณ

"จำได้ว่าประมาณปี พ.ศ.2531 - 2532 จะเป็นยุคของพวกนายทุนและผู้มีอิทธิพลจากข้างนอก เข้ามาตัดไม้ ซึ่งไม้ที่ถูกตัดนั้นส่วนใหญ่เป็นไม้สัก และไม้ขนาดใหญ่เพื่อนำไปแปรรูป" ชาวบ้านบ้านกลางบอกเล่าให้ฟัง

 

เหตุการณ์เหล่านี้ ได้นำไปสู่วิกฤติปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาภัยแล้ง ปัญหาน้ำท่วมและดินถล่ม ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงอยู่ของชาวบ้านอย่างรุนแรง จนไม่อาจจะเพิกเฉยต่อไปได้

 

นั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการอนุรักษ์ของชุมชนบ้านกลาง ชาวบ้านมีการรวมตัวกันเป็นคณะกรรมการป่าชุมชนบ้านกลาง มีการตั้งกติกาและกิจกรรมร่วมกันในการอนุรักษ์ป่าและสัตว์ ตามวัฒนธรรมการจัดการป่าที่ถ่ายทอดกันมาแต่เดิม โดยได้นำหลักปฏิบัติคำสอนของทางศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นศาสนาของหมู่บ้านมาใช้ในการอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่าอีกด้วย

 

การดูแลรักษาและพื้นฟูของชาวบ้านกลางอย่างต่อเนื่อง ทำให้สภาพป่าผืนนี้พื้นคืนความอุดมสมบูรณ์กลับมาดังเดิม จนเดี๋ยวนี้ ชาวบ้านกลางสามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างพึ่งพา และเกื้อกูลกันและกัน 

 

เมื่อเรากางแผนที่การจัดการทรัพยากรของหมู่บ้านกลาง จะพบว่า ชาวบ้านที่นี่ได้จัดสรร แบ่งอาณาเขตพื้นที่ไว้อย่างชัดเจน จากพื้นที่โดยรวมประมาณ 18,125 ไร่ ได้มีการแบ่งพื้นที่ตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น ป่าใช้สอย 3,000 ป่าอนุรักษ์ 6,600 ไร่ หมู่บ้านสัตว์ป่า 1,025 ไร่ พื้นที่ป่าสาธารณะ 6,102 ไร่ พื้นที่ทำกิน 1,338 ไร่ และที่อยู่อาศัย 60 ไร่

 

ศาสนา ความเชื่อ มีส่วนช่วยจัดการดูแลป่าอย่างมีส่วนร่วม

 

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ ชุมชนแห่งนี้ได้นำหลักคำสอนของศาสนามาปรับใช้กับการดูแลธรรมชาติได้อย่างสอดคล้อง โดยในวันสำคัญทางศาสนาคริสต์ ตามความเชื่อของชาวบ้านกลาง จะมีการนมัสการพระเจ้า อธิษฐานพระเจ้า เพื่อป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายมากขึ้น  เพราะทุกคนเชื่อว่า ทุกสิ่งในโลกเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง ดังนั้น ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง ดังที่ในพระคัมภีร์พระเจ้าได้ตรัสไว้ว่า "ให้ดูแลรักษาสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง"

‘ศาสนา’ จึงมีส่วนช่วยในการจัดการทรัพยากรโดยศาสนิกมีส่วนร่วม นอกจากนั้น ชาวบ้านกลางมีการตั้ง "กองทุนสิบลด" เพื่อการดูแลและดูแลผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดจากแรงศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระคริสต์ศาสนา การออมเงินในกองทุนนั้นสมาชิกทุกคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป จะต้องหักรายได้เข้ากองทุนทุกๆ หนึ่งร้อยละ 10 บาท ซึ่งการออมเงินนี้ไม่มีข้อบังคับแต่เป็นจิตศรัทธาที่ทุกคนถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด และตัวเลขจากกองทุนสิบลดนี้สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดรายได้ในแต่ละปีของชุมชนได้เป็นอย่างดี

"อย่างถ้าไปเอาหน่อไม้ ทุกวันก็ต้องจ่ายทุกวัน ร้อยละ 10 อย่างเช่นวันนี้ ถ้าผมไปหาหน่อมาขายได้ 300 บาทผมก็ต้องจ่าย 30 บาท ถ้าอย่างเช่น เงินเดือนของพ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ก็ต้องจ่ายเป็นเดือน ไม่ได้บังคับ ถ้าวันไหนไม่ได้ก็ไม่ต้องให้ แต่ข้อบัญญัติของศาสนาคริสต์นี่ต้องหักเลยนะ แต่ถ้าเป็นเงินที่ได้จากการโกง ทุจริต คอร์รัปชันนี่ไม่เอานะ ต้องได้มาจากการลงทุนลงแรง จากแรงงานแรงเหงื่อเท่านั้น" พ่อบุญมาก จีนตา อธิบายให้ฟัง

 

ชาวบ้านกลางมีการตั้ง "กองทุนสิบลด" เพื่อการดูแลและดูแลผู้คนในชุมชน ซึ่งเป็นกองทุนที่เกิดจากแรงศรัทธาเลื่อมใสในคำสอนของพระคริสต์ศาสนา การออมเงินในกองทุนนั้นสมาชิกทุกคนที่มีรายได้ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป จะต้องหักรายได้เข้ากองทุนทุกๆ หนึ่งร้อยละ 10 บาท ซึ่งการออมเงินนี้ไม่มีข้อบังคับแต่เป็นจิตศรัทธาที่ทุกคนถือปฏิบัติร่วมกันอย่างเคร่งครัด

 

นอกจากนั้น ยังมี "กองทุนข้าวสิบลด" เป้าหมายก็เพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน ครอบครัวที่ข้าวไม่พอกินในแต่ละปี

"กองทุนข้าว ถ้าครอบครัวใดได้ข้าวร้อยถังก็ต้องหัก 10 ถัง อย่างผมนี่ทำนาปีหนึ่งได้ 50 ถัง ก็เอาไปเลย 5 ถัง แต่เขาไม่ได้บังคับ มันออกไม่เต็ม ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับ" ชาวบ้านบ้านกลางบอก

คนในชุมชนยังมีการตั้ง กองทุนหน่อไม้ กองทุนข้าว ส่วนหนึ่งชาวบ้านได้นำไปใช้ในการดูแลป่า รวมไปถึงการช่วยเหลืองานศพ งานแต่งงาน ช่วยเหลือชาวบ้านที่ขัดสน หรือป่วยไข้ที่ต้องการเงินไปเข้ารับการรักษาพยาบาล

"กองทุนเหล่านี้ เราเริ่มกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยมาแล้ว สืบทอดกันมา คือเราเน้นกันว่า ทุกข์ของเพื่อนบ้านเป็นทุกข์ของเรา ให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง เป็นข้อบัญญัติใหญ่เลย ข้อบัญญัติใหญ่มีสองข้อ จงรักพระเจ้าด้วยสุดจิตสุดใจของท่านและจงรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง" สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านกลาง บอกย้ำกับเรา

 

ไร่หมุนเวียน…ท่ามกลางกระแสอคติของรัฐไทยว่าคือ ไร่เลื่อนลอย!?

 

บ่ายวันนั้น ผมซ้อนมอเตอร์ไซค์ของพ่อหลวงสมชาติ ลัดเลาะไปตามทางดินที่ลื่นเละด้วยดินโคลน บางช่วงเราผ่านลำห้วย จนต้องผมขอเดินลุยน้ำข้ามไปยังทุ่งนาและไร่หมุนเวียน ในหุบเขาเหนือหมู่บ้าน

ผมมองเห็นแม่เฒ่ากำลังยืนนิ่งอยู่กลางทุ่งข้าวที่กำลังออกรวง เหมือนหุ่นไล่กา แม่เฒ่ากำลังเฝ้าสำรวจตรวจตราว่ามีแมลง เพลี้ยกัดกินเมล็ดข้าวหรือไม่

วิถีการดำรงชีพของผู้คนที่นี่ ยังคงใช้วิถีแบบดั้งเดิมให้เห็น เหมือนกำลังเดินย้อนเข้าไปยุคเก่าแก่ ชาวบ้านที่นี่ยังคงเคี้ยวหมากหยุบหยับหลังทานข้าว ในป่ามีทาก ระหว่างทางเดินเล็กๆ เราเห็นกับดักหนูทำด้วยปล้องไม้ไผ่ วางลอดระหว่างรั้วล้อมรอบไร่ข้าวที่กำลังเขียวสด และภายในแปลงข้าวไร่นั้น มีพืชผักหลายอย่างทั้งพริก มะเขือ ข้าวฟ่าง เผือก มัน ห่อวอ ขึ้นแซมไร่ข้าวไปทั่ว

 

บริเวณรอบๆ ไร่หมุนเวียนของแต่ละแปลงนั้น คือ ผืนป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ให้เห็นเหมือนกำลังโอบกอดปกป้องไร่ข้าวเอาไว้อย่างนุ่มนวล

 

เมื่อมองให้ชัดและลึกลงไป จะมองเห็นร่องรอยของไร่ซาก ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ เริ่มมีต้นไม้ใบหญ้าขึ้นปกคลุมเต็มไปหมด ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นฟูดูแลตัวเอง ไม่นานผืนดินผืนนั้นก็ฟื้นคืนพร้อมกลับมาเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ได้อีกรอบหนึ่ง

ชาวบ้านบอกวิธีการจองพื้นที่ไร่หมุนเวียนกันอย่างง่ายๆ ว่า

"ไร่หมุนเวียนนี่เป็นของส่วนรวม ไม่ได้เป็นของใคร เป็นของชาวบ้านทุกคน"

"เราไม่ได้แบ่งว่านาย ก. ไปทำตรงนี้ นาย ข. ไปทำตรงนี้ แต่มีการจองเฉพาะปีต่อปี...อย่างเช่นถ้าปีนี้เราจะเอาที่ตรงนี้ปลูกข้าวไร่ เราก็ทำเครื่องหมายไว้ ตัดกิ่งไม้ แล้วก็เอาไปปักไว้ คนอื่นก็จะรู้กัน ส่วนมากจะไปจองกันตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมของทุกปี"

ผมพยายามนึกภาพการจองพื้นที่ทำไร่ข้าวของชาวบ้านที่นี่ หมุนเวียน สับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี ทำให้เรารู้ว่า นี่เป็นวิธีการจัดการที่ดินแบบใช้ระบบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน โดยปราศจากความละโมบ อคติ ความเห็นแก่ตัว แอบแฝง เจือปนให้เห็นเลย

"หมู่บ้านเราแบ่งไว้ชัดเจน 3 แบบ แบบแรก ที่อยู่อาศัย นี่แบ่งกันชัดเจน ของใครของมัน แบบที่ 2 ที่นา ก็แบ่งชัดเจน ของใครของมัน แบบที่ 3 ที่ดินสวนไม้ยืนต้น ก็แบ่งกันชัดเจน แต่เรื่องไร่หมุนเวียน ไม่ได้เป็นของใครของมัน แต่เป็นของส่วนรวมเท่านั้น" ชาวบ้านบอก

ชาวบ้านย้ำให้เห็นภาพรวมของการจัดการที่ดินอย่างชัดเจน ขณะที่หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมถึงเลือกใช้วิธีแบบส่วนรวม ทำไมไม่แบ่งกันให้ชัดเจน ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า

"เมื่อก่อน ก็เคยทำแบบนั้น มีการรังวัด แบ่งพื้นที่ทำไร่หมุนเวียน มีการต่อรอง ว่าคนไหนต้องมีพื้นที่ไร่ 4-5 แปลง ต่อมาเริ่มมีปัญหา เมื่อบางคนก็ไปจับจองที่ดีๆ ไป ก็เลยเกิดความขัดแย้งในหมู่บ้านไม่ลงตัว ก็เลยโละทิ้งหันกลับไปใช้วิธีแบบเก่าคือเป็นของส่วนรวมดีกว่า"

 

"ถือว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ในด้านศาสนาก็สอนให้เราอยู่ในความสามัคคีช่วยกันแบ่งปันกัน อีกอย่างเราก็รู้ว่าถึงแม้ว่าจะเคยเป็นไร่ของเรา แต่เราก็ไม่มีสิทธิครอบครองถาวรอะไร เขามาทำก็ทำปีเดียว ปีต่อไปอีกคนจะมาทำ มันก็ไม่ได้เป็นของใคร อีกปีหนึ่งเราจะไปทำ เขาไม่ได้ว่าให้เรามันเกิดจิตสำนึกมาอย่างนี้ แต่ถ้าเป็นบ้านอื่นคงไม่ได้"

 

ผมเกิดคำถามว่า หมู่บ้านนี้ทำระบบนี้ได้ โฉนดเฉพาะบุคคลก็ไม่จำเป็นต้องมี

"ไม่จำเป็น แต่ก็อยากให้รัฐบาลออกสิทธิให้เป็นภาพรวมของหมู่บ้านเท่านั้น ถ้าออกได้นะ ให้เป็นหลักฐานว่าเราจะสามารถชี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาหาเรา ก็จะได้เอาหลักฐานตัวนี้ให้เขาดู ซึ่งจะช่วยลบคำข้อกล่าวหาว่าเป็นไร่เลื่อนลอยเท่านั้นเอง" ชาวบ้านตอบ

ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลางให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า หมู่บ้านนี้เคยถูกทางการ พยายามบีบให้อพยพคนออกจากป่า มาหลายครั้งหลายหน

"ทีแรกก็มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเฉยๆ เตรียมประกาศแล้ว ก็ในแผนที่ของกรมป่าไม้ มันระบุจะขับออกจากป่าหมดเลยนะ มาติดป้าย ประมาณปี 2538 แล้วก็มีการแอบเอาเสาหลักไปฝัง ชาวบ้านรู้ ก็ดึงออกไป คือเรารู้ว่า ถ้าเอาหลักมาปัก ฝังเสาจุดใด ติดไฟด้วย เขาห้ามไม่ให้ทำไร่ ทำอะไรไม่ได้ซักอย่าง แล้วก็ปล่อยข่าวว่าจะอพยพด้วย" ผู้ใหญ่บ้านบอก

 

‘โฉนดชุมชน’ ข้อเสนอการจัดการที่ดินโดยชุมชน

 

โฉนดชุมชน ยังคงเป็นประเด็นร้อนอย่างต่อเนื่องมากระทั่งปัจจุบัน และเป็นความต้องการของชาวบ้านบ้านกลาง ด้วยเหตุผลว่า โฉนดชุมชน จะช่วยป้องกันไม่ให้สิทธิในที่ดินหลุดออกไปจากหมู่บ้าน

ชาวบ้านกลาง ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการมี โฉนดชุมชน ไว้หลายประการ หนึ่ง เพื่อรองรับสิทธิ์ในการทำกินในการอยู่กับป่า สอง ป้องกันเรื่องที่ดินถูกเปลี่ยนมือ และสาม เป็นการจัดการที่ดินโดยชุมชนให้เกิดความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกัน

เรื่องการจัดการที่ดินของบ้านกลาง ถ้าเป็นที่นาที่สวน และที่อยู่อาศัย ชาวบ้านบอกว่าไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะมีการแบ่งเขตกันชัดเจนอยู่แล้ว ห่วงแต่ที่ดินที่เป็นไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นของ “หน้าหมู่” ที่หมุนเวียนกันทำ ส่วนที่ว่าโฉนดชุมชนจะมีรูปร่างหน้าตาจะเป็นอย่างไร ไร่หมุนเวียนผืนนั้นแปลงนั้นจะเป็นของใคร ก็ระบุว่าเป็นของชุมชน เป็นของหมู่บ้าน แต่ในความจริงของโฉนดชุมชนจะเป็นไปได้ไหม ผมเริ่มสงสัย

"เป็นไปได้ น่าจะออกแบบนั้นนะ ไร่หมุนเวียนเป็นของส่วนรวม ผมก็คิดว่าถ้ามันออกเป็นโฉนดไม่ได้ จะออกเป็นสิทธิพิเศษจะได้ไหม สิทธิพิเศษก็คือ พื้นที่ทำกินของชาวบ้านรับรองรวมไปเลย รับรองสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมดว่าเป็นของชุมชน" ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลางตอบ

ชาวบ้านบ้านกลางยืนยันว่า "โฉนดชุมชน" เป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่งที่ขับเคลื่อน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การจัดการที่ดินโดยคนในชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบกรรมสิทธิ์ร่วมหรือสิทธิหน้าหมู่ ให้เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาและการรับรองสิทธิในที่ดินอย่างเหมาะสม

 

ค้านตั้งอุทยานถ้ำผาไท ยันชุมชนอยู่มาก่อนหลายร้อยปี 

 

แม้ชุมชนบ้านกลาง จะอยู่กับป่าอย่างพึ่งพาเกื้อกูลกันมาช้านาน แต่ก็มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามาสู่หมู่บ้านอีกครั้ง เมื่อมีข่าวมาว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความพยายามจะดันร่าง พรบ.อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอ 13 ตำบล ของจังหวัดลำปาง ซึ่งบ้านกลาง เป็นหนึ่งที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มานพ คีรีภูวดล ส.ส.ชาติพันธุ์ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช(อส.) เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เพื่อเตรียมการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติว่า

“พี่น้องกะเหรี่ยงอยู่มาก่อน อุทยานฯ กำลังจะมาทับที่ของพี่น้อง กรณีกะเหรี่ยงบ้านกลาง อ.แม่เมาะ อยู่มาร้อยๆ ปีก่อนกฎหมายใดๆ ก่อนป่าไม้จะประกาศด้วยซ้ำไป สิ่งสำคัญก็ต้องกลับมาหลักการเดิมคือการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ ชุมชนเห็นร่วมอยู่แล้วที่จะมีการอนุรักษ์ แต่จะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เขาดูแลมาร้อยๆ ปีและมันดีอยู่แล้ว ประชาชนก็อยากจะออกความคิดเห็นของตัวเอง กันพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัยออก ทำให้ชัดเจนว่าพื้นที่อุทยานอยู่ตรงไหน พื้นที่ประชาชนอยู่ตรงไหน แต่ถ้าประกาศทับพื้นที่ประชาชน ผมคิดว่าประชาชนมีเหตุผลที่ออกมาคัดค้านยืนหยัดในหลักสิทธิของชุมชน”

ซึ่งกลไกการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนมีความสำคัญ รวมทั้งกลไกขององค์กรส่วนท้องถิ่นทั้งเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นให้ชุมชนมีส่วนร่วม

“ผมคิดว่าเมื่อประชาชนเองก็ไม่ได้คัดค้านการประกาศเขตอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนสำคัญคือว่าเมื่อมีการประกาศกระบวนการทำแผนที่แนวเขตที่จะต้องกันพื้นที่ชุมชนออกมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน หรือที่ประชาขนใช้ร่วมกัน เช่น ป่าชุมชนอนุรักษ์ ป่าชุมชนใช้สอย พื้นที่ต้องถูกกันออก ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ หน่วยงานจะประกาศเขตอนุรักษ์เพิ่มเติม ทุกคนก็อยากอนุรักษ์อยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ทับซ้อนกับพื้นที่บริหารจัดการของชุมชน นั่นคือกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในพื้นที่ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการต่างๆจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก”

 

“ผมคิดว่าเมื่อประชาชนเองก็ไม่ได้คัดค้านการประกาศเขตอุทยานพื้นที่อนุรักษ์ ส่วนสำคัญคือว่าเมื่อมีการประกาศกระบวนการทำแผนที่แนวเขตที่จะต้องกันพื้นที่ชุมชนออกมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน หรือที่ประชาขนใช้ร่วมกัน เช่น ป่าชุมชนอนุรักษ์ ป่าชุมชนใช้สอย" 

 

เช่นเดียวกับ สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง หมู่ 5 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในหมู่บ้าน ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทกล่าวว่า

“จริงๆ การประกาศอุทยานนั้นเราไม่ได้คัดค้าน แต่ว่าก่อนที่จะคุณจะประกาศเป็นเขตอุทยาน คุณต้องมาคุยกันก่อนเรื่องการมีส่วนร่วม แล้วก็การกันพื้นที่ออกจากพื้นที่ที่อยู่อาศัย พื้นที่ทํากิน ไร่หมุนเวียน รวมไปถึงพื้นที่ป่าจิตวิญญาณให้ได้เสียก่อน อีกทั้งที่เป็นอยู่ตอนนี้ สถานะมันก็จะยังเป็นป่าสงวนอยู่ และชุมชนบ้านกลาง ทุกวันนี้ มันถูกทับด้วย พรบ.ป่าสงวน หนึ่งฉบับแล้ว แล้วก็ถูกทับด้วยพื้นที่คุณภาพลุ่มน้ำชั้นหนึ่ง ชั้นสอง ซึ่งก็คือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แล้วมาตอนนี้ ก็จะมาประกาศให้เป็นเขตอุทยานก็จะมาทับอีกทีหนึ่ง ซึ่งการที่จะมาประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท นั้นมีปัญหาเยอะมาก เพราะว่าชาวบ้านในพื้นที่ไม่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ในการจะร่าง พรบ.นี้เลย อีกทั้งที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐ มีการใช้ช่องทางในการพิสูจน์สิทธิ์ โดยใช้หลักเกณฑ์คือใช้ภาพถ่ายดาวเทียม พื้นที่ไหนที่เป็นเหมือนสภาพป่า ก็จะให้เป็นป่า แต่ไม่สนใจรับรู้เรียนรู้เลยว่า พื้นที่ตรงนั้น ชาวบ้านทำเป็นไร่หมุนเวียน มีการพักฟื้นป่าเอาไว้ ที่สำคัญคือบริเวณนั้น ชาวบ้านเขา มีกาแฟ มีมะแขว่น มีหน่อไม้ ซึ่งเป็นรายได้ของชุมชน ซึ่งการประกาศเป็นเขตอุทยาน มันก็ไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ปัญหาเหล่านี้เลย”

ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง บอกอีกว่า ประเด็นที่ชาวบ้านติดใจมากก็คือในแผนที่ที่จะใช้แนบท้ายประกาศกฤษฏีกา เพราะแผนที่ฉบับที่อุทยานฯเตรียมประกาศนั้นเป็นคนละฉบับที่เคยตกลงไว้กับชุมชน โดยชุมชนพยายามยืนยันแผนที่ฉบับเมื่อปี 2563 ที่ชาวบ้านหมู่บ้านต่างๆได้ร่วมสำรวจกับอำเภอและอบต.รวมถึงอุทยานฯ แต่ปรากฏว่าอุทยานฯ กลับไปใช้แผนที่เก่าเมื่อปี 2542 ซึ่งอุทยานฯทำขึ้นมาเองโดยไม่รับฟังเสียงชาวบ้าน และแผนที่ดังกล่าวทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน รวมทั้งไม่ยอมกันพื้นที่ป่าจิตวิญญาณของชุมชนออกด้วย

เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.พรรคก้าวไกล จากกลุ่มชาติพันธุ์ อภิปรายแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาในประเด็นสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยชี้ว่าปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ไม่สามารถแยกออกจากปัญหาที่ดินได้ เนื่องจากกลุ่มชาติพันธุ์วิถีชีวิตผูกพันอยู่กับที่ดินและทรัพยากร เพียงมีสิทธิในที่ดินและทรัพยากร ก็เพียงพอที่จะทำให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิต แต่สาเหตุที่กลุ่มชาติพันธุ์กลายเป็นกลุ่มเปราะบางอยู่ในสังคม ก็เพราะพวกเขาไร้ซึ่งสิทธิ ทำให้ที่ดินทำกินถูกแย่งยึดโดยรัฐ ถูกกีดกันการใช้ทรัพยกร แม้กระทั่งถูกจับกุมดำเนินคดีจากการใช้ที่ดินและผืนป่า นอกจากนี้ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีสัญชาติไทย

“ผ่านมา กรมอุทยานฯ ยังได้เร่งรัดจัดเวทีรับฟังความเห็น เพื่อประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท ที่จังหวัดลำปาง ท่ามกลางข้อสงสัยว่าจะทับสิทธิของชาวกะเหรี่ยง หรือปกาเกอะญอ จนชาวบ้านต้องออกมาเดินขบวนคัดค้าน แล้วความขัดแย้งจะยุติลงได้อย่างไร ในเมื่อปัญหาเดิมท่านไม่มีโยบายแก้ แต่เปิดหัวด้วยการเดินหน้าแย่งยึดที่ดินชาวบ้านต่อ หรือว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่เทคนิคที่ใช้หาเสียงเท่านั้น”

 

ย้ำรัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ แก้ปัญหาที่ดินของพี่น้องชาติพันธุ์

 

สส.ก้าวไกล ย้ำว่า การให้สิทธิในที่ดินแก่กลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากทำให้พวกเขามีความมั่นคงในชีวิตแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยโดยรวมอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันนี้ที่ดินบนพื้นที่สูงของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ผลิตอาหารสำคัญๆ หลายอย่างป้อนตลาดทั้งในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย หากรัฐบาลเพียงยอมรับข้อเท็จจริงว่าพวกเขาได้อยู่ที่นั่นมานานแล้ว และออกเอกสารรับรองสิทธิให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถส่งเสริมพวกเขาใช้ที่ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหน่วยงานรัฐก็จะสามารถรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อให้ต่างประเทศเชื่อถือ เราก็จะสามารถขยายการส่งออกเพื่อนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้ โดยเพื่อผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม อย่างน้อย 3 ประการ

ประการที่ 1 ต้องเร่งแก้ไขกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับป่าไม้และที่ดิน ที่เป็นต้นตอของปัญหา ให้สอดคล้องกับหลักการสากล ที่ประเทศที่มีความก้าวหน้าเขาใช้กัน คือ การยึดระบบนิเวศน์เป็นศูนย์กลางในการพัฒนา หรือ "Eco-centric" ที่มุ่งเน้นจัดการทรัพยากรให้มนุษย์และป่าสามารถอยู่ได้อย่างอย่างอย่างยืน คนในท้องถิ่นสามารถใช้ที่ดินและทรัพยากรเพื่อให้มีชีวิตที่ดีได้ แต่ต้องรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตด้วย

ประการที่ 2 พิสูจน์สิทธิในที่ดินอย่างเป็นธรรมและเปิดโอกาสอย่างถ้วนหน้า ต้องยกเลิกข้อจำกัดเรื่องความลาดชันและชั้นคุณภาพลุ่มน้ำ เพื่อให้ที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถเข้าสู่การบวนการพิสูจน์สิทธิ์ได้ และออกเอกกสารรับรองสิทธิอย่างเป็นธรรมให้

ประการที่ 3 ส่งเสริมบทบาทของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอยู่แล้ว ให้เขามีสิทธิในการจัดการ ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งสิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้เลย คือ ผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีทั้งฉบับของพรรคก้าวไกล และฉบับของภาคประชาสังคมที่ได้ร่วมกันเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว

"การใช้ที่ดินของพลเมืองบนพื้นที่สูง ถูกตีตราว่าเป็นการบุกรุกป่ามาโดยตลอด ผมหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้ จะยอมรับสิทธิและความชอบธรรมในที่ดินของพวกเขา และทำให้ความหวังที่จะได้รับเอกสารสิทธิของพวกเขาเป็นจริงขึ้นมา" สส.ก้าวไกล กล่าวย้ำ

 

ความหวังของชุมชนผู้ปกป้องฐานทรัพยากรธรรมชาติ

 

ถึงแม้ว่า พี่น้องชาวบ้านบ้านกลาง ต้องออกมาเคลื่อนไหว ปกป้องฐานทรัพยากรของชุมชน ต่อสู้กับนโยบายรัฐมายาวนานกว่าสามสิบปี แต่ทุกคนก็ยังคงยืนหยัดต่อสู้ จากรุ่นสู่รุ่น และยังมีความหวัง และให้กำลังใจแก่พี่น้องอีกหลายพื้นที่หลายชุมชน หลายจังหวัด ที่กำลังเผชิญกับปัญหาคล้ายๆ กันในขณะนี้

สมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลางย้ำว่า ตราบใดที่เราอยู่ในพื้นที่ป่า พื้นที่ชุมชนดั้งเดิม หนึ่ง ถ้าเราสู้ เรามีมีความพร้อม มีความสามัคคีในการปกป้อง เรารอดกันทั้งหมู่บ้าน สอง รอดเพราะเรามีความมั่นคงทางอาหาร มีอาหารกิน สาม รอดเพราะเรามีอากาศที่ดี เพราะว่าการต่อสู้ของเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ตัวเอง แต่การต่อสู้ของเรา นั้นเป็นการต่อสู้เพื่อความรอดของชุมชนทั้งหมด ลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องถิ่นฐานตัวเอง แต่ ถ้าเราไม่สู้ก็จะถูกย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ไปอยู่ข้างล่าง อาหารเราอยู่ไหน อากาศก็เป็นพิษ ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราต้องช่วยกันต่อสู้

“ตราบใดที่เราสู้ ด้วยสันติวิธี ด้วยการรวมกลุ่ม โดยมีนักวิชาการ มีกลุ่มต่างๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรเข้ามาช่วยกัน เราไม่มีทางที่จะแพ้ แต่ถ้าเราสู้แบบไม่มีกติกา ไม่มีเพื่อนฝูง อันนี้เราขาดกําลังใจ ขาดการมีส่วนร่วม จะเห็นว่า ทุกวันนี้ชุมชนที่นี่ เราไม่ได้สู้ด้วยแรงของชาวบ้านอย่างเดียวนะ แต่เรามีกลุ่มพันธมิตร องค์กรต่างๆ เข้ามา ทำให้เป็นพลัง เราจึงอยู่รอดได้ เรามีการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ดูงาน แล้วก็หากลุ่มหาก้อน ซึ่งทำให้เรามีพลังที่ยิ่งใหญ่ ฉะนั้น อยากจะให้คนที่ออกมาสู้ ไปศึกษาบทเรียน ว่าพวกผมที่ออกมาสู้สามสิบปีถึงขนาดนี้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีความขัดแย้งกันในชุมชนมากมั้ย จริงอยู่ เรามีปัญหากันมาก แล้วมันไม่ได้ราบรื่น บางคนก็เอาด้วย บางคนไม่เอาด้วย แต่กว่าจะถึงจุดหลอมรวม ในความคิด ให้ตกผลึก มันต้องใช้เวลา อาจจะมีปัญหาบ้างในช่วงแรกๆ  อาจจะมีอุปสรรค แต่ชุมชนออกมาสู้ ก็เพราะเราไม่ได้ต่อสู้เพื่อประโยชน์ตัวเอง แต่เราต่อสู้เพื่อส่วนรวม และการต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดในอนาคตว่า เราเป็นคนหนึ่งที่ร่วมปกป้องผืนดินของบรรพบุรุษ ปกป้องจิตวิญญาณของบรรพบุรุษเรา ซึ่งถ้าเราสู้แบบนี้นะ เราจะไม่มีวันแพ้” ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลางกล่าว

 

ข้อมูลประกอบและอ้างอิง

1. ก้าวไกล ยก 'บางกลอย-ถ้ำผาไท' ย้ำชาติพันธุ์ถูกละเมิดสิทธิที่ดิน,พชร คำชำนาญ,ประชาไท, 12 ก.ย.2023

2. วิถีบ้านกลางป่า วิถีพึ่งพาเกื้อกูลมายาวนาน,ภู เชียงดาว,หนังสือสารคดี ผืนดินแห่งชีวิต,เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย,ก.พ.2553

3. ค้านตั้งอุทยานถ้ำผาไท จ.ลำปาง ยันกะเหรี่ยงอยู่ก่อนนับร้อยปี แนะเปิดให้ชุมชนมีส่วนร่วมแท้จริง,ไทยโพสต์,1ก.ย. 2566

4. แผ่นดินถิ่นเกิด บ้านกลางป่า ศาสนา ความเชื่อ และความหวังใจ,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 123 ก.ย.-ธ.ค.2566

ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านกลาง วิถีคนอยู่ป่าอย่างยั่งยืน
เนื้อหาล่าสุด