‘งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง วัดเจริญศรี’ ประเพณีแห่งศรัทธาและความร่วมใจของประชาในท้องถิ่น
ณัฐฐฐิติ คำมูล
เช้าตรู่วันสุดท้ายของปี ถือเป็นวันสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพราะ “หลวงพ่อพระเสี่ยง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดเจริญศรี จะถูกอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะบูชาเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยสำหรับวันขึ้นปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง
ความพิเศษของงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงคือบรรยากาศแบบ "ลาวล้านช้างโบราณ" ผู้คนที่มางานต่างแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างจัดเต็ม จนทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนยุคกลับไปอยู่ในยุคสมัยลาวล้านช้าง ซึ่งเป็นภาพความงดงามที่หาไม่ค่อยได้จากที่อื่น แต่ความพิเศษมากกว่านั้นคือขั้นตอนและกระบวนการเตรียมงาน ที่ได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน เพื่อเนรมิตงานประเพณีแห่งความศรัทธาของคนในชุมชน ให้กลายเป็นงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงที่ทุกคนจะได้อิ่มบุญกันถ้วนหน้า และนี่คือเรื่องราวความร่วมมือกันของวัด ชุมชน และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรมของคนในท้องถิ่นให้กลายเป็นงานประเพณี ที่จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของผู้เลื่อมใสศรัทธาและนักท่องเที่ยวจากพื้นที่อื่นในอนาคตอันใกล้
จุดเริ่มต้นงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง
อาจพูดได้ว่าพระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย เจ้าอาวาสวัดเจริญศรี คือผู้ริเริ่มความคิดในการจัดงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงขึ้น เพื่อให้ประชาชนในและนอกพื้นที่ ที่เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อพระเสี่ยงได้มีโอกาสมากราบไหว้สักการะ โดยงานทั้งหมดจะกินเวลา 1 วันสำหรับการแห่หลวงพ่อพระเสี่ยงไปทั่วหมู่บ้่านในช่วงเช้า การรำถวายองค์หลวงพ่อ และเปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้สักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงเพื่อความเป็นศิริมงคลของชีวิต
“วัตถุประสงค์ของงานนี้ก็คืออยากสักการะบูชาหลวงพ่อพระเสี่ยงท่าน เพราะหลวงพี่และชาวบ้านต่างก็ได้เจอปาฏิหารย์จากท่านหลายครั้ง แล้วหลวงพี่ก็เล็งเห็นว่าหลวงพ่อพระเสี่ยงก็เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่เราควรยกย่องเชิดชู โดยหลวงพี่นั้นไม่ได้อยากเด่นดังอะไร แต่ก็อยากทำเพื่อเป็นบุญกุศลของตัวเอง และเพื่อความเป็นศิริมงคลของคนในชุมชน จึงเกิดเป็นงานนี้ขึ้น” พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย เริ่มต้นเล่า
หลวงพ่อพระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างโบราณ มีอายุราวๆ 600 ปี เชื่อกันว่าถูกอัญเชิญข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังประเทศไทยในสมัยเดียวกับหลวงพ่อพระใส ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดโพธิ์ชัย อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย โดยที่มาของชื่อหลวงพ่อพระเสี่ยงนั้นไม่มีความชัดเจนว่าเป็นมาอย่างไร แต่สันนิษฐานว่ามาจากความนิยมของชาวบ้านที่นิยมยกพระเสี่ยงทาย
“เคยมีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรมาตรวจสอบพระพุทธรูปองค์หลวงพ่อพระเสี่ยง แล้วเขาก็แจ้งให้ทราบว่าหลวงพ่อพระเสี่ยงมีอายุมากกว่า 600 ปีแล้ว เป็นพระพุทธรูปรุ่นราวคราวเดียวกับหลวงพ่อพระใส มันจึงคล้องกับตำนานเรื่องเล่าที่ชาวบ้านเขาเล่าต่อๆ กันมา นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ก็ระบุชัดเจนว่าศิลปะการหล่อพระพุทธรูปแบบนี้เป็นฝีมือของช่างหลวงในวังเท่านั้น แต่ในส่วนของการขึ้นทะเบียนนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ตัดสินใจว่าจะไม่ขึ้นทะเบียน จะขอดูแลกันเอง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้บังคับ และให้ชาวบ้านได้ทำหน้าที่ดูแลรักษาองค์หลวงพ่อพระเสี่ยงมาจนถึงทุกวันนี้” เจ้าอาวาสวัดเจริญศรีกล่าว
ส่วนเหตุผลที่งานประเพณีจัดขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคมนั้น เจ้าอาวาสวัดเจริญศรีกล่าวว่า จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับองค์หลวงพ่อพระเสี่ยง
"ที่เลือกวันนี้เป็นเพราะ หนึ่งมันเป็นวันส่งท้ายปี และสองคือช่วงปีใหม่แบบนี้ ลูกหลานชาวบ้านก็จะเดินทางกลับบ้าน มารวมตัวกันเป็นวันครอบครัว เมื่อมีกิจกรรมงานบุญแบบนี้ พวกเขาก็จะได้พร้อมหน้าพร้อมตากันมาร่วมทำบุญ และที่สำคัญคืออากาศไม่ร้อน คนที่เข้าร่วมขบวนและนางรำก็ไม่ร้อน เพราะถ้าอากาศร้อนก็คงจะลำบากกันทีเดียว” พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย กล่าว
งานแห่งความศรัทธาที่ชาวบ้านร่วมใจ
แม้งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงจะเป็นงานบุญเล็กๆ ในหมู่บ้านชนบทห่างไกลสำหรับใครหลายคน แต่งานนี้ถือเป็นงานใหญ่ที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความสำคัญ และทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่เพื่อทำให้งานบุญนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี เรียกได้ว่าสำหรับงานบุญนี้ ใครถนัดงานไหนก็ไปร่วมงานกำลังศรัทธาได้เลย
“เรื่องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้น เรามองเห็นแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาร่วมงานหรือร่วมกิจกรรมมากขึ้นนะ อย่างนางรำก็มีเด็กวัยรุ่นมาร่วมรำเยอะแยะเลย ปีนี้คงมีนางรำร่วมร้อยคนเลยล่ะ มันก็สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น"
นับตั้งแต่ “กลุ่มนางรำ” ซึ่งเป็นหนุ่มสาวน้อยใหญ่จากในหมู่บ้าน ที่มารวมตัวกันอยู่ในบริเวณลานวัดของวัดเจริญศรีในช่วงเย็น หลายวันก่อนวันงาน เพื่อฝึกซ้อมท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงาม และเพื่อให้ทุกคนร่ายรำเป็นจังหวะเดียวกัน แม้จะเหน็ดเหนื่อย แต่นางรำทุกคนก็ไม่ยอมแพ้ และตั้งใจฝึกซ้อมอย่างจริงจัง กลายเป็นภาพที่น่าประทับใจมากๆ สำหรับผู้ที่ได้รับชม
ส่วนบริเวณลานหญ้าหน้าวัด ก็คราคร่ำไปด้วยหนุ่มๆ ทั้งผมดำและผมขาวมาร่วมกันตัดหญ้า กวาดลาน และยกโต๊ะมาวางเรียงกันสำหรับเป็นโรงทาน ขณะที่บางส่วนก็ทำหน้าที่ล้างลานวัดให้สะอาด สำหรับเป็นพื้นที่รองรับผู้มาร่วมงานทุกคน ซึ่งทุกคนต่างทำงานอย่างแข็งขัน สลับกับเสียงพูดคุยหัวเราะสนุกสนาน และมีช่วงเวลาหยุดพักบ้างให้ได้นั่งหายเหนื่อย ก่อนจะกลับไปทำงานของตัวเองโดยไม่ปริปากบ่น
ด้านหลังของวัดจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อาสาประดิษฐ์ “บายศรีโบราณ” แบบลาวล้านช้างที่สวยงามและหาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน พร้อมกับประดับตกแต่งราชรถและจัดทำเครื่องสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง ที่ทุกชิ้นเป็นงานทำมือที่ละเอียดและใช้ความพยายามในการทำสูงมาก ถือเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทักษะในการสร้างสรรค์ให้มีความประณีต วิจิตร และงดงาม แต่เยาวชนกลุ่มนี้ก็มาช่วยงานด้วยความเต็มใจ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากทางวัด
เมื่อเดินออกจากรั้ววัดเจริญศรี ก็จะพบกลุ่มแม่ๆ ที่ล้อมวงนั่งทำ “หมากเบ็ง” หรือเครื่องสักการะของชาวอีสาน ทำด้วยใบตองอย่างง่ายๆ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะทำหมากเบ็งให้ครบ 100 อัน สำหรับให้คน 100 คนได้ถือร่วมในขบวน ซึ่งสนม พรมศร หรือ “แม่หนม” ของคนในพื้นที่ คือตัวตั้งตัวตีของทีมคุณแม่ที่มาร่วมกันทำหมากเบ็งอย่างแข็งขัน เป็นงานฝีมือแห่งความตั้งใจของแม่ๆ ที่อยากให้ทุกคนได้มีโอกาสถือเครื่องสักการะไปถวายหลวงพ่อพระเสี่ยง และคุณแม่ทุกคนยังรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่จะให้ถึงงานวันจริงที่พวกเธอจะได้แต่งตัวด้วยชุดสวยออกมาเฉิดฉายกันปีละครั้ง
“เรื่องการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนนั้น เรามองเห็นแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่จะเข้ามาร่วมงานหรือร่วมกิจกรรมมากขึ้นนะ อย่างนางรำก็มีเด็กวัยรุ่นมาร่วมรำเยอะแยะเลย ปีนี้คงมีนางรำร่วมร้อยคนเลยล่ะ มันก็สะท้อนให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น ซึ่งเราก็ไม่ได้กำหนดว่าใครต้องมาร่วมงานตรงไหน แค่เขามาร่วมงาน เราก็ดีใจแล้ว หรือแม้แต่โรงงาน ปีนี้ก็มีชาวบ้านมาจองโรงทานกันเยอะมาก ก็ทำให้เรามองเห็นว่าคนในชุมชนตื่นตัวกับงานนี้มากขึ้นเหมือนกัน” พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย บอก
เศรษฐกิจที่กำลังขับเคลื่อน
ไม่ใช่แค่ความร่วมมือของชาวบ้านเท่านั้น เฉลิมชัย ที่รักษ์ ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ระบุว่า องค์การบริหารส่วนตำบลก็ได้ร่วมสนับสนุนเงินงบประมาณ เพื่อจัดงานในปี พ.ศ.2566 อีกด้วย เนื่องจากทางหน่วยงานภาครัฐได้เล็งเห็นความสำคัญของงานนี้ ว่าเป็นงานบุญของคนในชุมชนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็จะกลายเป็นงานประเพณีสำคัญของตำบล ที่อาจจะเติบโตเป็นงานใหญ่ประจำปีของอำเภอหรือของจังหวัด และช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย
“ตอนแรกเราไม่มีขบวนแห่หลวงพ่อพระเสี่ยงแบบนี้ มีแค่อัญเชิญท่านออกมาให้ประชาชนได้สักการะในช่วงปีใหม่หรือสงกรานต์เท่านั้น แต่พระอาจารย์ก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของหลวงปู่ จึงได้จัดงานแห่สักการะขึ้นมาด้วย ซึ่งปีนี้ก็เป็นปีที่ 3 แล้ว ชาวบ้านที่ได้ยินหรือรู้เรื่องเกี่ยวกับการแห่หลวงพ่อพระเสี่ยงก็มาร่วมงานมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งทางหน่วยงานราชการหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นก็ได้จัดงบประมาณมาช่วย อย่างปีนี้เราก็ได้งบ 50,000 บาท” เฉลิมชัยระบุ
แม้งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงยังเป็นงานเล็กๆ ที่อาจจะดึงดูดคนให้มาร่วมงานได้ไม่มากนัก แต่เฉลิมชัยเชื่อว่าอีกไม่นาน งานนี้จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน ด้วยธีมงาน “ลาวล้านช้างโบราณ” ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร ก็สามารถเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสบรรยากาศย้อนยุค ที่จะหาประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้จากที่ไหน และต้องเป็นที่วัดเจริญศรีแห่งนี้เท่านั้น
“พองานใหญ่ขึ้น คนรู้เรื่องมากขึ้น มันก็อาจจะไม่ใช่แค่งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง หลวงพี่มองว่าปัจจุบันนี้คนโหยหาความเป็นโบราณ และงานในรูปแบบนี้ก็ไม่ค่อยมีคนจัด งานนี้ก็เลยน่าจะเป็นงานที่ดึงคนที่มีความต้องการแบบนี้ให้มาร่วมงานได้ แล้วทุกภาคส่วนช่วยเหลือเราเต็มที่ อย่างทาง อบต. ก็พูดเลยว่ายินดีช่วยเหลือและสนับสนุนงานนี้ เขาเชื่อว่างานนี้จะไม่หยุดแค่นี้ ต่อไปภายภาคหน้า ถ้างานเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนเห็นในโซเชียลมีเดียมากขึ้น เขาก็อยากจะมา เมื่อนักท่องเที่ยวมา เศรษฐกิจก็ตามมา ไม่แน่เราอาจจะได้เห็นร้านเช่าชุดลาวโบราณ แบบที่ร้านให้เช่าชุดไทยในอยุธยาก็ได้นะ” พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย กล่าวปิดท้าย