องอาจ เดชา
เมื่อพูดถึงพะตี “จอนิ โอ่โดเชา” หลายคนรู้จักกันดี ว่าเป็นปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่สนใจปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม และถือว่าเป็นต้นแบบนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมชาติพันธุ์มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
พะตีจอนิ เล่าความหลังให้ฟังอย่างสนุกสนาน ว่าจริงๆ ชื่อ “จอนิ” มันเพี้ยนมาจากคำว่า “เจแปนนิส” ก็เพราะว่าตนเองนั้นเกิดในช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทหารญี่ปุ่นบุก และเดินทัพ เข้ามาในประเทศไทย หลายเส้นทาง
“คิดว่า ญี่ปุ่นมันบุกมาหลายทาง เส้นทางแม่วาง-ขุนยวม ก็เป็นอีกหนึ่งเส้นทาง ที่ทหารญี่ปุ่นได้มาถึงแถวนี้ ก็ถือว่าเป็นช่วงที่ข้าวยากหมากแพง ลำบากทุกข์ยาก อดอยาก ไม่มีข้าวกิน ครอบครัวของลุงมีทั้งหมด 8 คน ต้องล้มป่วยล้มตายกันไป 6 คน จนกระทั่งเหลือแต่พ่อกับพะตีจอนิสองคนเท่านั้น”
หมู่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ นี้แต่เดิมเคยเป็นดินแดนเก่าแก่ของชาวลัวะ แล้วต่อมามาเจอสงครามโลกครั้งที่สอง พอสงครามสงบลง ทำให้ชุมชนบนดอยนั้นอดทนกันอยู่อย่างลำบาก มีปัญหาหลายๆ อย่างตามมาไม่รู้จักจบสิ้น แต่ละบ้านข้าวไม่พอกิน เกลือแพง ก็เริ่มมีปัญหาทะเลาะวิวาทเรื่องที่ดิน มีคนเอาเปรียบกัน พะตีก็อยู่อย่างอดอยาก พ่อของพะตีจอนิ ก็จะพยายามเอาตัวให้รอด ไปไหนก็มีพะตีจอนิ ติดสอยห้อยตามไปด้วย จึงทำให้พะตีจอนินั้นมีความผูกพันกับพ่อ และได้เรียนรู้ซึมซับเรื่องราวต่างๆ จากพ่อมากขึ้น จนทำให้พะตีจอนิ ได้เรียนรู้เรื่องราวของสังคม และอยากเปลี่ยนแปลงสังคมมากขึ้น
“ตอนเป็นเด็ก ลุงจะไปกับพ่อตลอดเวลาเลย ชอบไปนั่งฟังคนเฒ่าคนแก่ บางคนอายุ 70-80 ปี บางคนอายุ 100 กว่าปีก็มี คนเฒ่าจะชอบเล่านิทาน ลุงจะฟังเขาเล่าจนหมด พอหมดเรื่องแล้ว ก็ไปค้นหาคนเฒ่าคนใหม่เล่านิทานให้ฟังอีก พอเราโตมา จึงกลายเป็นนักเล่านิทาน จะเก่งเรื่องการเล่านิทานปกาเกอะญอไปเลย มีเรื่องเล่าเยอะมากไม่มีวันจบหรอก” พะตีจอนิ เล่าให้ฟัง
"คนเฒ่าจะชอบเล่านิทาน ลุงจะฟังเขาเล่าจนหมด พอหมดเรื่องแล้ว ก็ไปค้นหาคนเฒ่าคนใหม่เล่านิทานให้ฟังอีก พอเราโตมา จึงกลายเป็นนักเล่านิทาน จะเก่งเรื่องการเล่านิทานปกาเกอะญอไปเลย มีเรื่องเล่าเยอะมากไม่มีวันจบหรอก”
ครูบาอาจารย์ ล้วนคือ แบบอย่างของพะตีจอนิ โอ่โดเชา
พะตีจอนิ เล่าให้ฟังว่า ตอนเป็นเด็กน้อย ก็ติดสอยห้อยตามพ่อมาโดยตลอด พอโตขึ้นมาหน่อย พ่อพาไปเป็นเด็กวัด ไปฝากเรียนกับครูบาอุ่นเฮือน วัดหลวงขุนวิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ จากนั้นก็ไปอยู่กับครูบาปิยะ วัดต้นแหนน้อย อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ก็คือ ในปี ค.ศ.1953 คุณพ่อโฟญีณี และคุณพ่อยอแซฟ เซกีน๊อต ได้ไปสำรวจพื้นที่ชุมชนบนดอยที่อำเภอจอมทอง แล้วได้ทำการสร้างศูนย์อบรมเด็กชาวไทยภูเขาแม่ปอนขึ้นที่นั่น ต่อมา พะตีจอนิ ได้มีโอกาสไปเรียนรู้ กินนอนอยู่ที่นั่น และก็ได้มีโอกาสเรียนรู้กับพ่อนิพจน์ เทียนวิหาร ได้เรียน เทวศาสตร์แห่งการปลดปล่อย ด้วย ในขณะที่เรียนหนังสือที่แม่ปอน ก็ได้เรียนทั้งหนังสือไทย หนังสือปกาเกอะญอ และภาษาโรมัน จนกระทั่ง ปี 2520 พะตีจอนิจึงได้รับเชื่อเป็นคาทอลิก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จากนั้น ก็หวนคืนบ้านเกิดที่บ้านหนองเต่า ซึ่งทำให้พะตีจอนิ ได้สัมผัสรับรู้เห็นถึงปัญหามากมายหลายเรื่อง
แน่นอน การที่พะตีจอนิ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน ให้ลืมตาอ้าปาก มีข้าว มีนา ทำให้หลายครอบครัวในชุมชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่ได้ทำให้กลุ่มนายทุนที่เคยปล่อยให้กู้ยืมข้าว ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนกระทั่งหาทางกลั่นแกล้งเอาผิดพะตีจอนิ ในฐานะผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ว่ามีการฉ้อโกงเงินหลวง
พะตีจอนิ เล่าให้ฟังว่า จำได้ว่าในช่วงปี 2515 นั้น พะตีจอนิ ได้รับรู้ถึงปัญหาของหมู่บ้าน เรื่องมีนายทุนพยายามเอารัดเอาเปรียบชาวบ้าน คือเอาข้าวสารให้ชาวบ้านกู้ยืม 1 ถัง แต่ต้องจ่ายคืน 3 ถัง ในขณะที่ไปถามหมู่บ้านอื่นๆ เขาให้ยืม 1 ถัง ก็ใช้คืน 1 ถัง
“แบบนี้มันไม่มีความยุติธรรมเลย พะตีก็เลยพยายามหาทางช่วยเหลือชาวบ้าน”
ต่อมา ในช่วงปี 2519 พะตีจอนิ โอ่โดเชา ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ในยุครัฐบาลคึกฤทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นยุคข้าวยากหมากแพง พะตีจอนิพยายามหาทางออกอยากแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน จึงตัดสินใจนำโครงการผันเงิน นั้นมาจัดตั้งเป็นกองทุนธนาคารข้าว เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน ให้ยืม 1 ถัง แล้วใช้คืน 1 ถัง อีกทั้งพะตีจอนิ ยังชักชวนชาวบ้านที่ยากจน ที่ไม่มีนา ไม่มีข้าว ให้ไปช่วยกันขุดเบิกนาขึ้นมาใหม่ แล้วให้เลือกเอาพื้นที่ตรงไหนก็ได้ตามใจ
แน่นอน การที่พะตีจอนิ เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้าน ให้ลืมตาอ้าปาก มีข้าว มีนา ทำให้หลายครอบครัวในชุมชนกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่ได้ทำให้กลุ่มนายทุนที่เคยปล่อยให้กู้ยืมข้าว ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนกระทั่งหาทางกลั่นแกล้งเอาผิดพะตีจอนิ ในฐานะผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ว่ามีการฉ้อโกงเงินหลวง มีการนำงบประมาณมาใช้ผิดประเภท ทั้งๆ ที่พะตีจอนิ นำเงินผันนั้นมาตั้งเป็นธนาคารข้าว และชักชวนชาวบ้านไปช่วยกันขุดเบิกนาขึ้นมาใหม่ สามารถปลดแอกความอดอยากยากจนได้
เข้าสู่ยุคเงินเป็นใหญ่ สุดท้ายกลายเป็นหนี้สิน
“พอหลังจากมีธนาคารข้าว ทุกคนมีนา มีไร่ มีข้าวพอกิน เงินเริ่มเป็นใหญ่ มีถนน มีไฟฟ้าเข้ามา คนเริ่มอยากได้เงิน อยากได้ทีวี ตู้เย็น มอเตอร์ไซค์ ทำให้หลายคนเริ่มมีการขายที่ดิน หลายคนทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทุกคนเริ่มเจอปัญหาหนี้สิน”
ครอบครัวของพะตีจอนิ ซึ่งมีลูกทั้งหมด 5 คน ก็พยายามปรับตัวเรียนรู้กับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเดิมเคยมีช้าง ไว้ชักลากไม้ในยุคสัมปทานป่า ก็เปลี่ยนมาลองทำธุรกิจท่องเที่ยว ทัวร์ป่า นำช้างมาให้นักท่องเที่ยวขี่ช้าง และล่องแพไม้ไผ่ ทำทัวร์แม่วาง สุดท้ายก็ไปไม่รอด เพราะทำไปทำมา ต้องไปกู้เงินจากธนาคารมาทำ กลายเป็นหนี้หมุนเวียน ทำไปก็ใช้หนี้ไป ไม่ไหว จึงหยุดกิจการ ถอยกลับมาในหมู่บ้าน ก็ไปทำเกษตรเชิงเดี่ยว สุดท้ายก็เจอปัญหาแบบเดิมๆ อีก
ระหว่างช่วงรอยต่อของความเปลี่ยนแปลง ชุมชนบนดอยนั้นกลับต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน มาอย่างหนักหน่วง ต่อเนื่องและยาวนาน
เมื่อรัฐในยุคสมัยนั้น มีนโยบายจะเอาคนออกจากป่า หลังจากมีรัฐประกาศกฎหมายหลายฉบับมาทับเขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกินของชาวบ้าน หลายชุมชนบนดอย
จนทำให้พะตีจอนิ ต้องออกมาเป็นผู้นำชนเผ่าในการเรียกร้องเคลื่อนไหวต่อสู้
“คือตอนนั้น พะตีมีความตั้งใจจะเดินขบวน ก่อนที่จะเดินขบวน เราก็อยู่กับพ่อนิพจน์ ขอพ่อมาเดินขบวน เขาบอกว่าเขาเป็นพระเดินไม่ได้ ผมก็เลยไปขอความช่วยเหลือจากนักพัฒนา ที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ นอกจากนั้น ยังมีครูบาอาจารย์อีกหลายคนที่ทำให้พะตีจอนิได้เจอ แล้วได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน อย่างเช่น อาจารย์ชยันต์ วรรธนะภูติ, อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ,เดช พุ่มคชา เป็นต้น”
มีอยู่ช่วงหนึ่ง เราจะเห็นพะตีจอนิ ไปเข้าร่วมประชุมตามห้องประชุมมหาวิทยาลัยต่างๆ บ้างก็ลงไปที่กรุงเทพฯ ไปหน้าทำเนียบ กับพี่น้องสมัชชาคนจน
“ช่วงนั้น พะตีจะให้พฤ ลูกชาย เป็นคนขับรถ พาไปร่วมประชุม ร่วมชุมนุมกัน บางครั้งก็พากันตระเวนไปส่งข่าวให้กับพี่น้องชนเผ่าตามหมู่บ้านต่างๆ จนประมาณปี 2537 ถือว่าเป็นยุคที่พี่น้องชาวบ้าน พี่น้องชนเผ่าออกมาชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมกันที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ ปักหลักชุมนุมกันเป็นเดือนๆ คือเราก็อยากแสดงพลัง เรียกร้องสิทธิชนเผ่ากันบ้าง”
ในสายตาของพะตีจอนิ มองคนรุ่นใหม่ และได้ให้แง่คิดดีๆ ต่อเด็กรุ่นใหม่เอาไว้อย่างน่าสนใจ
พะตีจอนิ บอกว่า คนรุ่นใหม่ รุ่นลูกรุ่นหลานจะต้องสร้างตัวเองใหม่ ให้มีความภาคภูมิใจในความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ในขณะเดียวกัน กระบวนการต่อสู้เคลื่อนไหวก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ แต่จะสืบทอดจะต่อสู้กันอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
“แต่อยากให้กลับไปเรียนรู้เรื่อง ฟ้าเจ็ดซ้อน ดินเจ็ดชั้น ให้เข้าใจกันเสียก่อน พะตียึดหลักว่า “แหล่หน่า ทอจึ เอ๊ะเหน่แค่ะ จุ๊เหน่บอ เคลอเหน่เหล่อ พคีเหน่โฆพอ คลี่เหน่ที โกเหน่แหม่ แมโหล่ลอ” (9 คุณลักษณะผู้นำปกาเกอะญอ) ต้องใช้นิทานมาสำรวจว่า ถ้าอย่างนี้พะตีจะไปเดี่ยวๆ ไม่ได้ จะต้องไปหาคนที่หูกว้าง มือยาว แหลมกว่าเข็ม หนักกว่าหิน เบากว่านุ่น ร้อนกว่าไฟ เย็นกว่าน้ำ และต้องเข้าใจว่าวิญญาณของปกาเกอะญอนั้นมี 32 ขวัญ และก็มีฟ้า 7 ซ้อน ดิน 7 ชั้น มันอยู่ทุกหนทุกแห่ง”
พะตีจอนิ ย้ำว่า เพราะที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เด็กๆ ออกมาเรียกร้องแล้วก็ติดคุก ซึ่งผมรู้สึกไม่ดี ไม่พอใจที่ไปจับเด็กอย่างนั้น เพราะถ้าคุณจับ 1 ก็ยังเหลืออีก 100 เพราะฉะนั้น "เราจะต้องมีความหวังใหม่อยู่เสมอ”
พะตีจอนิ ยังบอกถึงต้นตอของปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นในสังคมไทย ในประเทศไทย หรือในโลกใบนี้ เอาไว้อย่างน่าสนใจ
“ที่มันเป็นปัญหากันอยู่ในขณะนี้ ก็มีอยู่ไม่กี่อย่างนี่แหละ 1.เพราะคิดไม่เหมือนกัน 2.แย่งดิน น้ำ ป่า 3.ทะเลาะกันเรื่องอำนาจ 4.ขัดแย้งเรื่องเผ่าพันธุ์ ผิวสีขาว สีดำ สีแดง และ 5. ทะเลาะกันเรื่องเงินตรา ที่เราเห็นผู้คนทะเลาะกัน ฆ่ากันตาย ก็เพราะ 5 ข้อนี่แหละ อันนี้เป็นประสบการณ์โดยตรงของลุง ที่เป็นปัญหาในยุคนี้”
พะตีจอนิ บอกอีกว่า เพราะฉะนั้น เด็กรุ่นใหม่ จะต้องไปคิดกันเยอะๆ คิดกันยาวๆ เพราะสิ่งมีชีวิตในโลกนี้ ก็ทำอะไรเหมือนๆ กัน คือ วันหนึ่ง นั้นโง่ 3 ครั้ง และฉลาด 3 ครั้ง คือเราต้องทดลองถูกบ้างผิดบ้าง กว่าจะเรียนรู้และเข้าใจได้
“ยกตัวอย่าง สมัยที่พะตีเป็นผู้ใหญ่บ้าน จะมีลูกบ้านทะเลาะ มีกรณีพิพาทเรื่องที่ดินที่นากัน ทะเลาะกันเถียงกันไม่รู้จบ พะตีก็เลยบอกว่างั้นให้ใช้เวลาคุยกันไกล่เกลี่ยกัน 1 ปี ถ้าครบ 1 ปีแล้ว ยังไม่จบ ก็จะบอกว่า ถ้าผ่านไปหนึ่งปียังทะเลาะกันอยู่ ถ้าไม่พอใจ ก็ฆ่ากันให้ตายไปเลย อือ พอเจอพะตีพูดแบบนี้ ทั้งสองคนเริ่มคิดได้กันแล้วเว้ยเฮ้ย”
ประสบการณ์ที่ผ่านมา ของพะตีจอนิ โอ่โดเชานั้น มีทั้งสุขและทุกข์ มีทั้งสมหวังและผิดหวัง ได้อย่างหนึ่ง สูญเสียอะไรไปอย่างหนึ่งเสมอ
โดยเฉพาะกับครอบครัว พะตีจอนิ ยอมรับว่า ที่ผ่านมา เขาต้องออกจากบ้าน ไปร่วมขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อทวงสิทธิชนเผ่า แต่จำต้องทิ้งครอบครัว โดยเฉพาะภรรยา อยู่กับลูกๆ เพียงลำพัง บางครั้งออกไป หายไปเป็นเดือนๆ ก่อนกลับเข้ามาบ้าน
แน่นอน บทเรียนอันเจ็บปวดข้างในนี้ ทำให้พะตีจอนิ ในวัย 78 ปี นี้ได้กลับมานั่งฉุกคิด ตรึกตรอง และอยากจะถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของคนรุ่นก่อนนั้นด้วย ว่าขับเคลื่อนต่อสู้ได้ แต่อย่าลืมว่ายังมีครอบครัวอยู่ข้างหลัง ที่ต้องการดูแลเอาใจใส่
“ตอนหลังมานี้ ลุงอยากจะฟื้นฟูจิตวิญญาณครอบครัว โดยการวางพื้นฐานครอบครัวให้กลับมาผูกพันแน่นแฟ้นกันใหม่ โดยลุงจะบอกกับลูกหลานทุกคนว่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ปีหนึ่งเราจะต้องมาเจอกัน 2 ครั้ง ที่บ้านหลังใหญ่นี้ เป็นเหมือนการกลับมาสถาปนาครอบครัวกันใหม่ให้แน่นแฟ้น ก็พยายามเรียกลูกหลาน มานั่งพูดคุยกัน คือเราต้องสร้างความภาคภูมิใจตนเองก่อนให้ได้”
‘สวนของคนขี้เกียจ’ สวนเติบโตเองตามธรรมชาติ ผลิดอกออกผล
ที่สำคัญ พะตีจอนิ ยังคงบอกย้ำว่า ที่สุดแล้ว คนเราต้องคืนกลับอยู่กับธรรมชาติ ไม่ให้พังทลายไปกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เราต้องหันกลับมาสู่รากเหง้าของปกาเกอะญอเหมือนเดิม ทำนา ทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ และทำสวนของคนขี้เกียจอีกด้วย
อย่างที่หลายคนรับรู้กัน พะตีจอนิ เคยทำการเกษตรแบบปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อการขายเพราะหวังทำรายได้และทำติดต่อกันอยู่เกือบ 10 ปี แต่กลับมีหนี้สินจากค่าปุ๋ยเคมีและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น ทำให้พะตีจอนิ ยอมแพ้ต่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปล่อยสวนให้หญ้ารกและพืชผลขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่นั้นมา แต่ 10 กว่าปีให้หลัง สวนที่ถูกปล่อยทิ้งไม่มีการดูแลเพราะความขี้เกียจก็ได้ผลิดอกออกผล และทำให้พะตีได้อีกบทเรียนหนึ่งว่า ‘การทำสวนที่ดีที่สุดคือปล่อยให้สวนได้เติบโตเองตามธรรมชาติ’ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘สวนคนขี้เกียจ’ เช่นทุกวันนี้
‘สวนคนขี้เกียจ’ หรือ ‘สวนจอเกอะโดะ’ สวนที่มีชื่อมาจากนิทานเรื่องคนขี้เกียจที่คนปกาเกอะญอเล่าต่อกันจนกลายเป็นปรัชญาชีวิตส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น
พะตีจอนิ ชี้ให้ดูสวนคนขี้เกียจหลังบ้าน แปลงเล็กๆ ในพื้นที่ 2 ไร่ ที่พะตีจอนิลงมือปลูกทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างละเล็กอย่างละน้อย บางครั้งก็โยนเมล็ดพันธุ์ลงไปในดิน ให้มันงอก เติบโตขึ้นมาเอง พะตีบอกว่า ดูพื้นที่แค่นี้ แต่มีพันธุ์ไม้พันธุ์พืชหลากหลายมากกว่า 85 ชนิด
“ป่าหลังบ้านนี้ ลุงใช้เวลาทั้งหมด 30 กว่าปี ตอนนี้มีหมดทุกอย่าง ทั้งมะม่วง มะละกอ กล้วย อะโวคาโด อ้อย ไผ่ หวาย มีไม้ยืนต้น มีสมุนไพร และพืชใต้ดินอีกเป็นจำนวนมาก ดูสิ มีหมดเลย มองดูดีๆ นี่มันคือบทกวีที่ชีวิตเลยนะ” พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ บอกกับเราด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดี
ปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากการทำงานของปราชญ์ชนเผ่ามาทั้งชีวิต
“การที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่พะตีจอนิในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ เยาวชนลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้ เรียนรู้และเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชนเผ่า ว่าสิ่งที่พะตีจอนิกำลังทำอยู่นั้นคือส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อการศึกษา และจะทำให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้และภูมิใจว่า จริงๆ แล้วการศึกษานั้นอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในรากเหง้าของตัวเราเอง”
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ครั้งที่ 34 โดยสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีมติให้พะตีจอนิ โอ่โดเชา ปราชญ์ชนเผ่าปกาเกอะญอ เป็นผู้ได้รับปริญญารัฐศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชา การบริหารงานภาครัฐและเอกชน
ทั้งนี้ ทางสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า นายจอนิ โอ่โดเชา เป็นปราชญ์ที่มีความรู้ในการจัดการบริหารป่า รู้จักและเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งตามวิถีทางของ บรรพบุรุษชาวปาเกอะญอ และได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นถ่ายทอดแก่สังคม ซึ่งเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน จนเป็นที่ประจักษ์ โดยเริ่มงานอนุรักษ์ป่าตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2516 ควบคู่กับการสร้างกิจกรรมการพัฒนารวบรวมเครือข่ายชาวไทยภูเขา 13 เผ่า ร่วมจัดทำแผนพัฒนาเพื่อดูแลรักษาป่าไม้และทำเกษตรเชิงอนุรักษ์ ได้ดำเนินการบวชป่า 50 ล้านต้น เนื่องในวโรกาสปีกาญจนาภิเษก ปีพุทธศักราช2539 จัดตั้งธนาคารข้าวร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ 100 องค์กร ร่วมแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน จัดตั้งเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มแม่น้ำวาง จำนวน 40 หมู่บ้าน
จากการทุ่มเทในการทำงานจึงทำให้ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิได้รับการประกาศจากคณะกรรมการ “คนดีศรีสังคม” ให้เป็น ปราชญ์แห่งขุนเขา อีกทั้งได้รับยกย่องเป็น “บุคคลผู้ที่มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม” ตามคำประกาศของคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ในด้านงานวิชาการ ได้ทำการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ตามวิถีของบรรพบุรุษจนสามารถรวบรวมและเรียบเรียงเป็นหนังสือเรื่อง “ป่าเจ็ดชั้นปัญญาปราชญ์” ซึ่งสะท้อนถึงความเข้าใจอันลุ่มลึก และตกผลึกทางความรู้ ด้านป่าไม้ และธรรมชาติ
ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวแสดงความชื่นชมยินดีกับพะตีจอนิ โอ่โดเชา ว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เป็นผู้มีภูมิปัญญาและยังสามารถนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่นั้นมาปรับใช้ในวิถีชีวิตของตนเอง และเป็นแบบอย่างให้กับพี่น้องชนเผ่าได้อย่างดี
“การที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้มอบปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ให้แก่พะตีจอนิในครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการให้เด็กๆ เยาวชนลูกหลานของพี่น้องชนเผ่าได้รับรู้ เรียนรู้และเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาชนเผ่า ว่าสิ่งที่พะตีจอนิกำลังทำอยู่นั้นคือส่วนหนึ่งและมีคุณค่าต่อการศึกษา และจะทำให้ลูกหลานชนเผ่าได้รู้และภูมิใจว่า จริงๆ แล้วการศึกษานั้นอยู่ในวิถีชีวิต อยู่ในรากเหง้าของตัวเราเอง” ดร.สมคิด แก้วทิพย์ กล่าว
ในขณะที่ ชิ-สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ ที่มาร่วมงานได้กล่าวแสดงความยินดีกับพะตีจอนิ โอ่โดเชา ว่า รู้สึกดีใจที่สถาบันการศึกษาหลายแห่ง นักวิชาการหลายท่านนั้นเริ่มมองเห็นคุณค่า องค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชนเผ่ามากขึ้น โดยผ่านตัวผู้รู้ อย่างเช่นพะตีจอนิ โอ่โดเชา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ได้นำชีวิตเป็นทั้งผู้ให้ ผู้แบ่งปันวิทยาทานให้กับผู้คน สังคมมายาวนานหลายทศวรรษ
“หลายๆ ครั้ง หลายๆ ปัญหาวิกฤติของสังคมไทย มีการถกเถียงและหาทางออกของปัญหา ก็มักมีหลายคนหยิบยกเอามุมมองความคิดของพะตีจอนิ มาปรับใช้ในการแก้ปัญหาอยู่บ่อยครั้ง ฉะนั้น ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะหันมาให้ความสนใจ ให้ความสำคัญต่อภูมิปัญญาชนเผ่า และไม่ใช่มีเพียงแค่ชนเผ่าปกาเกอะญอเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายชนเผ่าที่มีองค์ความรู้ มีภูมิปัญญาที่มีคุณค่าในการนำมาปรับใช้ในสังคมไทย ดังนั้น ผมคิดว่าเราจะต้องเปิดพื้นที่ตรงนี้ให้มากยิ่งขึ้น”
ชิ สุวิชาน กล่าวถึงพะตีจอนิ อีกว่า เขาเป็นปราชญ์ เป็นผู้นำชนเผ่าที่มีคุณค่า มีความกล้าหาญ ที่ได้เอาตัวเองเข้าแลก เข้าต่อสู้กับปัญหา เอาตัวเองไปทดลองอย่างเช่น การทำสวนขี้เกียจ การทำป่าเจ็ดชั้น ซึ่งได้ลงมือทำ จนเห็นผล เป็นการเอาตัวตนอธิบายและหาทางออกให้กับสังคมไทยได้
“ในมุมมองของผม ในฐานะที่เป็นลูกหลานปกาเกอะญอ มองว่า พะตีจอนิ ในเวลานี้เป็นเหมือนพี่เลี้ยงของนักต่อสู้เคลื่อนไหวรุ่นหลังๆ ซึ่งแน่นอนว่า ที่ผ่านมานั้น ใช่ว่าแกจะได้รับผลตอบแทนดีงามเสมอไป แต่บ่อยครั้งพะตีจอนิ นั้นเจ็บปวดเพราะถูกทิ่มแทงจากคนรอบข้างที่ไม่เข้าใจจนหัวใจตัวเองบาดเจ็บ แต่ถึงอย่างไร พะตีจอนิ ก็ยังยืนหยัดที่ก้าวเดินตามแนวทางของตนเอง นั่นคือสิ่งที่พะตีจอนิได้บอกย้ำกับหลายๆ คนว่า บางครั้งเราไม่ได้หลีกเลี่ยง แต่ต้องหลบหลีก, เผชิญหน้าโดยไม่ปะทะ และบางครั้งยอมให้ถูกทิ่มแทงบาดเจ็บ แต่คอยช่วยเยียวยาบาดแผลให้คนอื่น” ชิ สุวิชาน บอกเล่าถึงตัวตนของพะตีจอนิ โอ่โดเชา
ข้อมูลและอ้างอิง
1. ถอด ‘คลังความทรงจำ’จากคนรุ่นก่อน สู่คนรุ่นใหม่ ก้าวเดินอย่างไรอย่างมีคุณค่าความหมายและไม่ผิดทาง,,วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 118,เดือนมกราคม-เมษายน 2565
2. ‘สวนจอเกอะโดะ สวนคนขี้เกียจ หรือ Lazy Garden’ ของ พะตีจอนิ โอ่โดเชา, The Cloud, 6 กันยายน 2018
3. พะตีจอนิ โอ่โดเชา, สาวิตรี พูลสุขโข,สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา,7 กันยายน 2562