องอาจ เดชา
กะเบอะดิน...ดินแดนมหัศจรรย์
กะเบอะดิน ชุมชนเล็กๆ ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีประชากรในหมู่บ้านราว 300 คน นับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์
ชื่อของหมู่บ้านกะเบอะดิน มาจากคำว่า “กะเบอะ” ซึ่งเป็นชื่อของหม้อชนิดหนึ่งในภาษา “ปกาเกอะญอ” ซึ่งเมื่อมารวมกับคำว่าดินจะแปลว่า “หม้อดิน” ที่ชาวบ้านในหมู่บ้านในสมัยก่อนจะทำปั้นหม้อดินเพื่อขายให้ตามหมู่บ้านต่างๆ จนกระทั่งถูกนำมาตั้งเป็นชื่อของหมู่บ้านแห่งนี้ ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนบ้านกะเบอะดินได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของพวกเขาเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติ และธรรมชาติรอบตัวในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาชีพของชาวบ้านในชุมชน ล้วนต้องพึ่งพิงธรรมชาติไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง รวมแม้กระทั่งพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชน จึงทำให้กะเบอะดิน คือดินแดนมหัศจรรย์ที่หลายคนชื่นชอบในความเงียบ ง่าย งามตามธรรมชาติ
แต่แล้ว จู่ๆ ก็มีสิ่งแปลกปลอมได้คืบคลานเข้ามาอย่างเงียบๆ ใช่แล้ว สิ่งแปลกปลอมนั้นชื่อ “เหมืองแร่” และ “อุโมงค์ผันน้ำ” ที่กำลังเข้ามาทำลาย ความงาม ความมหัศจรรรย์ของผืนดินถิ่นเกิด ผืนป่าและสายน้ำ ?! จนทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ รวมตัวกัน คัดค้านต่อต้านโครงการนี้มาอย่างต่อเนื่องนานหลายปี
ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนบ้านกะเบอะดินได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตของพวกเขาเข้ากับทรัพยากรธรรมชาติ และธรรมชาติรอบตัวในการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันหรืออาชีพของชาวบ้านในชุมชน ล้วนต้องพึ่งพิงธรรมชาติไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง รวมแม้กระทั่งพิธีกรรมและความเชื่อของชุมชน จึงทำให้กะเบอะดิน คือดินแดนมหัศจรรย์ที่หลายคนชื่นชอบในความเงียบ ง่าย งามตามธรรมชาติ
พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวงแก้ว หนึ่งในแกนนำเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์หมู่บ้านกะเบอะดิน เล่าให้ฟังว่า “ที่พวกเราลุกขึ้นมาต่อสู้ก็เพราะว่าอยากจะปกป้องทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนและวิถีชีวิตที่เราพึ่งพาอาศัยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเราคิดว่าทรัพยากรที่มีในในหมู่บ้านเราทุกวันนี้ มันไม่ควรที่จะถูกทำลายไปเพราะว่ากลุ่มนายทุนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวแบบนี้”
จากข้อมูลจากเอกสารราชการในยุคแรกที่สืบค้นได้บ่งบอกอายุของการเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 180 ปี
“ตามหลักฐานทางการที่เราได้ข้อมูลมา หมู่บ้านนี้อายุประมาณ 180 กว่าปี แต่พอเราสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ เขาบอกว่า จริงๆ แล้วหมู่บ้านนี้มีอายุไม่ใช่แค่ 180 กว่าปี แต่เราอาศัยอยู่ตรงนี้มา 200-300 ปีมาแล้ว”
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ มีการค้นพบวัตถุโบราณ เช่น กล้องยาสูบ ที่บ่งชี้ความเป็นชุมชนดั้งเดิม ซึ่งถูกพบและปรากฎให้เห็นอย่างน้อย 4 จุด ในพื้นที่หมู่บ้าน สอดคล้องกับประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อมก๋อยมีการอาศัยอยู่กันมาอย่างยาวนาน ที่สำคัญ แหล่งค้นพบกล้องยาสูบโบราณนั้นอยู่บริเวณเดียวกันกับพื้นที่ที่มีการยื่นขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน
สิ่งแปลกปลอมที่ชื่อ โครงการเหมืองแร่
พรชิตา เล่าให้ฟังว่า จริงๆ โครงการเหมืองแร่นี้ เริ่มมีมานานแล้ว ตั้งแต่เธอยังไม่เกิดด้วยซ้ำ
“ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า เมื่อหลายสิบปีก่อน เขามาทำรั้วปักหมุดอะไรไปก่อนแล้ว ซึ่งเขาบอกกันว่า มีการค้นเจอแร่ที่เขาเรียกว่า ถ่านหินบิทูมินัส เป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีกว่าลิกไนต์มาก เพราะให้ค่าความร้อนในการเผาไหม้สูงกว่าลิกไนต์หลายเท่า แล้วเขาก็ทำข้อมูล มีการเข้ามาสำรวจขุดเจาะในพื้นที่บ่อยๆ แล้วเขาก็เริ่มลงมือเมื่อปี 2543 มีการขอประทานบัตรเหมืองแร่ปี 2543 คือเป็นปีที่เราเกิดพอดีเลย” พรชิตาเล่า
หลังจากนั้น ในปี 2555 ทางโครงการเหมืองแร่ ได้มีการทำรายงาน EIA สำเร็จ
“เป็น EIA ที่แบบเขาทำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้อะไรเลย หลังจากนั้นในปี 2562 เขามีป้ายมาติดที่บ้านผู้ใหญ่บ้านว่า เขาจะมารับฟังความคิดเห็นชาวบ้าน"
"ตอนนั้นก็มีกระแสทางโซเชียลในเพจอมก๋อย มีการสื่อสารกันว่า...เราคนอมก๋อย จะปล่อยให้มีเหมืองแร่ที่บ้านเราจริงๆ เหรอ ซึ่งก็มีคนมาคอมเม้นท์แสดงความคิดเห็นกันมากว่า ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็ไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการเหมืองแร่ เพราะมันจะทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”
พรชิตา บอกว่า กลุ่มเยาวชนกะเบอะดิน จึงได้รวมตัวกันออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้ โดยมีภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้เข้ามาต่อสู้ร่วมกับเรา ซึ่งทางภาคีเครือข่ายยุติเหมืองแร่ ก็เข้ามาแนะนำให้กับทางชาวบ้าน หมายถึงว่าร่วมกันกำหนดเป้าหมายยุทธศาสตร์หรือว่าธงระดับต่างๆ ให้กับทางชุมชน และก็ลุกขึ้นมาที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในปี 2562 เป็นต้นมา
“อันดับแรกเลยก็คือ การให้ความรู้ก่อน ให้ทุกคนมีความรู้ด้านกฎหมายเรื่องของแร่ รวมไปถึงกฎหมายด้านสิทธิด้วยว่า การสร้างเหมืองแร่นั้นจะมีผลกระทบอะไรบ้างในชีวิต สุขภาพ การสัญจร เรื่องวัฒนธรรม และการเกษตร เราเริ่มทำข้อมูลแล้วก็คุยก็คุยตามแผนยุทธศาสตร์ ว่าจะเอายังไงดี โดยกิจกรรมของเรา ก็มีตั้งแต่การทำข้อมูลชุมชน ทำหนังสือคัดค้าน การทำเครื่องหมายสัญลักษณ์ ซึ่งเราก็มีธง มีดาวชัดเจนแล้ว ดาวของเราก็คือให้ยุติเหมืองแร่ และเรามีธงชัดเจน ว่าด้วยเรื่องสิทธิชุมชน และเน้นความเป็นคนเท่ากัน”
เช่นเดียวกับ ณัฐฏนัย วุฒิศีลวัตร เยาวชนบ้านกะเบอะดิน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ออกมาร่วมคัดค้านไม่เอาเหมืองแร่ บอกว่า เพื่อที่จะปกป้องวิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้าน ไม่ให้สูญเสียพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกิน เพราะว่า ปกติทำเกษตรกรรม ทำสวน ปลูกข้าว พริก กะหล่ำ มะเขือ ฟักทอง กันเป็นหลัก กระทบต่อเศรษฐกิจของชาวบ้าน นอกจากนั้น การทำเหมืองแร่ มันจะเกิดผลกระทบกับพื้นที่ป่า ก็จะมีมลภาวะ ฝุ่นควันมากมายตามมาด้วย
“ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนกะเบอะดิน เราจะมีการรวมตัวกัน ก็จะมีการประชุมกันเป็นครั้งคราว ตอนเย็นๆ จะนั่งคุยกัน แล้วจะมีเฟส (เฟซบุกเพจ) กะเบอะดิน...ดินแดนมหัศจรรย์ เอาไว้สื่อสารกัน กลุ่มเยาวชนที่เรารวมกลุ่มกันมันก็มีอีกหลายหมู่บ้าน ซึ่งถือว่ากลุ่มเยาวชนนี้มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เรื่องนี้มาก ถ้าเกิดไม่มีเยาวชน ผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ เขาก็ไม่ค่อยรู้อะไรมาก ไม่กล้าที่ออกจะออกมาต่อสู้กัน ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามา ก็กลัวอยู่ แต่ตอนนี้กลุ่มเยาวชนเราก็ถือว่าเป็นกำลังหลักของชาวบ้าน ซึ่งเราก็ให้ความรู้เรื่องสิทธิเรื่องกฎหมายให้กับชาวบ้านด้วย”
ณัฐดนัย ฝากบอกไปยังสังคม รวมไปถึงภาครัฐด้วยว่า ที่ต้องออกมาคัดค้านในครั้งนี้ ต้องการให้ที่ดินทำกินทรัพยากรอยู่เหมือนเดิม ไม่ให้ใครเอาไป ไม่ได้ต้องการเหมืองแร่แล้ว เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย
"ถ้าเกิดไม่มีเยาวชน ผู้ใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เขาก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ เขาก็ไม่ค่อยรู้อะไรมาก ไม่กล้าที่ออกจะออกมาต่อสู้กัน ถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามา ก็กลัวอยู่ แต่ตอนนี้กลุ่มเยาวชนเราก็ถือว่าเป็นกำลังหลักของชาวบ้าน ซึ่งเราก็ให้ความรู้เรื่องสิทธิเรื่องกฎหมายให้กับชาวบ้านด้วย”
ในขณะที่ ณัฐทิตา วุฒิศีลวัตร หรือเดือน เยาวชนกะเหรี่ยงบ้านกะเบอะดิน ที่ออกมาคัดค้านเหมืองแร่ บอกว่า ตอนแรกก็รู้สึกใจหายเหมือนกัน ที่รู้ข่าวว่าเขาจะทำเหมืองแร่ในหมู่บ้านของเรา
“กังวลว่า ชุมชนจะได้รับผลกระทบและการเหมืองแร่จะมาสร้างปัญหาให้กับชาวบ้าน ซึ่งมันไม่ได้ประโยชน์อะไรกับหมู่บ้านเลย มีแต่นายทุนเท่านั้นที่จะได้รับผลประโยชน์ 100% การทำเหมืองแร่ นอกจากมันจะทำลายวิถีชุมชนบนดอยแล้ว มันจะส่งผลกระทบต่อสังคมไทยในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย”
ศบ.อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน เล่าถึงที่มาโครงการเหมืองแร่นี้ว่า ชาวบ้านรู้กันมานานแล้ว แต่หลังจากที่เห็นใบอนุญาตสัมปทานบัตร ผ่านทางเวบไซต์ ทาง Facebook ทางโซเชียลของเขา ทำให้ทุกคนตื่นตัว เริ่มค้นหาผลดีผลเสียของเหมืองแร่ ผ่านทางสื่อต่างๆ มีการศึกษาเรื่องเหมืองแร่ต่างๆ ในประเทศ ยกตัวอย่างเช่นที่แม่เมาะ จ.ลำปาง เราเห็นถึงผลกระทบแล้วก็เห็นถึงความไม่น่าอยู่และความเสื่อม โทรม คนในชุมชนก็เริ่มมีความกังวลใจอย่างยิ่งว่า ถ้ามีเหมืองแร่เข้ามาในกะเบอะดิน แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรและเราจะมีวิธีแก้อย่างไร เราจะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร
“ตอนแรกเราก็ไม่รู้จะทำยังไง เราก็ได้ติดต่อขอคำปรึกษาทางนักศึกษาอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาลงพื้นที่ มาให้ความรู้อธิบายถึงความเป็นมาของเหมือง และผลกระทบของเหมืองแร่ ทำให้ชุมชนเราก็ตื่นตัวกันในช่วงเวลานั้น ก็ตื่นตัวกันอย่างมาก เราก็บอกเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็เชื่อว่าถ้าเหมืองมาเมื่อไหร่ เราก็คงจะอยู่ไม่ได้ เราก็ปรึกษาทีมทนายหลายๆ หน่วยงาน จากภาคประชาชน เครือข่ายต่างๆ เราก็หาแนวร่วมกัน โชคดีที่เราได้เจอกับหลายๆ เครือข่ายภาคประชาชน ที่ให้ความสนใจกับเรื่องนี้และพร้อมที่จะช่วยเหลือเรา ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องตื่นตัว ต้องหาวิธี เราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว หลังจากนั้นเราก็เริ่มหาวิธีคัดค้านในทุกวิถีทาง”
เยาวชนคนรุ่นใหม่คือจุดแข็งที่มีพลังในการเคลื่อนไหว
ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน บอกว่า จุดแข็งอันหนึ่งของการต่อสู้ในครั้งนี้ก็คือ เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันออกมาปกป้องชุมชนของตนเองจำนวนมาก ทุกคนจะลุกขึ้นตื่นตัวกันช่วงนั้น จำได้ว่าไม่มีใครไปทำงานของตัวเองเลย ทุกคนต่างช่วยกันเฝ้าระวังคนแปลกหน้าที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน ทุกคนจะวิ่งไปวิ่งมากับมอเตอร์ไซค์บ้าง กับรถยนต์บ้าง พยายามหาวิธีตั้งรับกับบุคคลที่เข้ามาเรื่องเหมืองแร่กันอย่างไร
“ผมรู้สึกว่า เยาวชนจะมีพลังมากที่ พูดได้เต็มปากว่ามีพ่อแม่พี่น้อง ปู่ย่าตายายที่ไม่ค่อยรู้หนังสือแล้วก็ไม่ค่อยจะให้ความสนใจเท่าไหร่ก็มีเยอะพอสมควร แต่คนที่ถูกเลือกก็คือเยาวชนกลุ่มนี้ และที่สังเกตก็คือ คนรวมตัวกันส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิงด้วย ทั้งนี้ก่อนหน้านั้น น้องๆ ผู้หญิงกลุ่มนี้แทบจะไม่กล้าเผชิญหน้ากับผู้ใด และก็พูดภาษาไทยไม่ค่อยคล่อง ไม่ค่อยเก่ง ซึ่งในตอนแรกๆ ผมก็จะเป็นล่ามให้กับชาวบ้านแล้วก็เป็นคนที่พูดแทนน้องๆ บ้าง แต่พอเกิดสถานการณ์แบบนี้ มาถึงตอนนี้ ระยะหลัง น้องๆ เริ่มที่จะมีความกล้าหาญ และก็ได้ไปดูงานหลายๆที่ เริ่มมีการพัฒนาตัวเอง มีศักยภาพขึ้นมาใหม่ ก็เริ่มที่จะพูดต่อหน้าทุกคนมากขึ้น”
นั่นคือที่มาที่ไป และเหตุผลที่ทำให้เยาวชนกะเบอะดินและชาวบ้าน ออกไปชุมนุมเคลื่อนไหวกันอย่างต่อเนื่อง
เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย ยื่นหนังสือถึงนายอำเภอ ย้ำจุดยืน“ชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่”
วันที่ 30 มี.ค.65 เครือข่ายยุติเหมืองแร่อมก๋อย จำนวน 200 คน ได้เดินทางที่ว่าการอำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ได้ยื่นหนังสือต่อนายอนุรักษ์ ศิลป์ไพราช ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง ผู้แทนนายอำเภออมก๋อย โดยเครือข่ายฯ ได้ตั้งขบวนออกจากที่ว่าการอำเภออมก๋อย ไปยังสนามกีฬาอำเภออมก๋อย ขณะเดินขบวนมีการแจกจ่ายแผ่นพับ ถือธงสีเขียว ป้ายข้อความ “เหมืองแร่ถ่านหิน 3 ปีการต่อสู้และก้าวย่างของคนอมก๋อย” และกล่าวปราศรัยถึงที่มาขอการคัดค้านเหมืองแร่ ถึงพิษภัยของถ่านหินเหมืองแร่ รวมทั้งตะโกน เช่น เหมืองแร่ออกไป ออกไปเหมืองแร่ เป็นต้น ระหว่างนั้น แกนนำแต่ละหมู่บ้านส่งตัวแทนกล่าวปราศรัยถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น มลพิษ หากมีตั้งเหมืองแร่ในพื้นที่ วิถีชีวิตของชุมชนเป็นต้น
ขยับการเคลื่อนไหว ร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง
ต่อมาวันที่ 4 เม.ย. 2565 ชาวบ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50 คน ร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง โดยยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ของเหมืองถ่านหินอมก๋อย บ้านกะเบอะดิน เนื่องจากชาวบ้านมีความกังวลว่าเหมืองถ่านหินจะส่งผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวกะเบอะดิน
การฟ้องครั้งนี้เป็นการคัดค้านความถูกต้องของรายงาน EIA ชาวบ้านกะเบอะดินขอให้ศาลเพิกถอนรายงาน EIA ฉบับนี้ และดำเนินการจัดทำ EIA ฉบับใหม่ขึ้น ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง
เนื่องจาก รายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้จัดทำขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว นั้นขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และยังมีข้อมูลหลายประการ EIA ฉบับดังกล่าวไม่ครอบคลุมผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็นที่ชาวบ้านกะเบอะดินมีความกังวล ถ้าหากโครงการยังเดินหน้าต่อไปจะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สิทธิการใช้ทรัพยากร รวมถึงสิทธิการมีอากาศสะอาดหายใจและสิทธิการเข้าถึงน้ำสะอาด
ความกังวลเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย ทำให้ชาวบ้านกะเบอะดินจึงรวมตัวกันศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับชุมชน (CHIA) ขึ้นมา เพื่อแสดงให้เห็นความบกพร่องของรายงาน EIA ของโครงการเหมืองแร่และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง โดยศาลปกครองได้รับคำฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยของชาวบ้านกะเบอะดินไว้พิจารณา และเป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของจังหวัดเชียงใหม่ในปีนี้
“ศาลได้รับคำฟ้องไว้และก็ออกเลขคดีให้เราแล้ว คือเลขที่ ส 1/65 เป็นคดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของเชียงใหม่ในปีนี้” สุมิตรชัย หัตถสาร ตัวแทนทีมทนายกะเบอะดิน บอกเล่าถึงกระบวนการยื่นฟ้อง
ทั้งนี้ พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย ได้บอกย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้ทำการต่อสู้เพื่อหยุดเหมืองแร่อมก๋อยในทุกโอกาส ที่เราสามารถทำได้ พวกเราคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินโดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดทำคู่มือการประเมินผลกระทบสุขภาพชุมชน หรือ CHIA เพื่อยืนยันความไม่ถูกต้องของ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA พวกเรามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน และพวกเราจะต่อสู้จนกว่าจะได้รับชัยชนะ
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา พวกเราได้ทำการต่อสู้เพื่อหยุดเหมืองแร่อมก๋อยในทุกโอกาส ที่เราสามารถทำได้ พวกเราคัดค้านการสร้างเหมืองแร่ถ่านหินโดยใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดทำคู่มือการประเมินผลกระทบสุขภาพชุมชน หรือ CHIA เพื่อยืนยันความไม่ถูกต้องของ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA
หลายคนตั้งคำถามกับน้องๆ เยาวชนกะเบอะดินว่า การเรียกร้องต่อสู้ที่ผ่านมารู้สึกกังวล หวาดกลัวหรือถูกข่มขู่หรือไม่?
“ที่ผ่านมา กลุ่มพวกเรารู้สึกกังวลหรือว่ามีกลัวไหม มันก็จะมีบ้าง หรือคำถามที่ว่า ลุกขึ้นมาต่อสู้แบบนี้ไม่กลัวนายทุนหรือ เขามีตังค์เยอะนะ เขามีปืนนะ หรือว่าเขาจะฆ่าเราได้นะ เมื่อก่อนเราเคยกลัวหรือมีบ้าง แต่ช่วงหลังนี้ไม่มีแล้วค่ะ เพราะว่าเราก็ชัดเจนในอุดมการณ์หรือชัดเจนในเป้าหมายแน่นอนอยู่แล้ว ก็ได้เรียนรู้เรื่องของการพัฒนาศักยภาพ เรื่องของกฎหมายอะไรหลายๆ อย่างแล้ว ว่า โอเค เรามีสิทธิ์ที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้นะ เรามีสิทธิ์ที่เราจะลุกขึ้นมาร่วมฟ้องนะ ทำหนังสือคัดค้านได้นะ เพราะเรารู้ว่าสู้เพื่อบ้านเกิดของตัวเองนะคะ แล้วก็จะไม่กลัวอะไรแล้ว แต่ว่าเราอาจจะต้องทำตัวไม่ให้เป็นจุดเด่น หรือไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งจ้องเราเกินไป” ตัวแทนเยาวชนบ้านกะเบอะดิน บอกย้ำและยืนยันอย่างหนักแน่น
“ที่ผ่านมา กลุ่มพวกเรารู้สึกกังวลหรือว่ามีกลัวไหม มันก็จะมีบ้าง หรือคำถามที่ว่า ลุกขึ้นมาต่อสู้แบบนี้ไม่กลัวนายทุนหรือ เขามีตังค์เยอะนะ เขามีปืนนะ หรือว่าเขาจะฆ่าเราได้นะ เมื่อก่อนเราเคยกลัวหรือมีบ้าง แต่ช่วงหลังนี้ไม่มีแล้วค่ะ"
เปิดข้อโต้แย้ง 7 ข้อ จากชาวบ้านอมก๋อยและทีมทนายความต่อข้อเสนอของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย 2565 ทางเพจกะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์ ได้โพสต์ข้อความหลังจากที่บริษัทฯได้ยื่นข้อเสนอให้ชาวบ้านกะเบอะดินที่ผ่านมา ซึ่งทางชาวบ้านและทีมทนายความได้ยื่นข้อโต้แย้งตามหลักกฎหมาย ทั้งหมด 7 ข้อ จากประเด็นข้อเสนอของบริษัทฯ ดังนี้ |
สิ่งแปลกปลอม อีกหนึ่งที่ชื่อว่า “อุโมงค์ผันน้ำยวม”
ประเด็นความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่อมก๋อยยังไม่จางหาย ก็ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่อีกตัวหนึ่ง เมื่อกรมชลประทานได้มีความพยายามที่จะผลักดัน “โครงการผันน้ำยวม” เพื่อเพิ่มต้นทุนน้ำให้เขื่อนภูมิพล ช่วยเหลือเกษตรกรในภาคกลาง โดยใช้งบประมาณ 70,000 ล้านบาท ปัจจุบัน ได้มีการเร่งรัดจัดการกระบวนการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ (EIA) ซึ่งในรายงานอีไอเอไม่มีข้อมูลที่ครอบคุลม ไม่มีส่วนร่วมของประชนผู้ได้รับผลกระทบ ในอำเภอสบเมย อำเภออมก๋อย และอำเภอฮอด โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นใดๆ
โครงการขุดอุโมงค์ผันน้ำยวมลงสู่เขื่อนภูมิพล ยังมาพร้อมกับแผนการสร้างเสาส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งทั้งสองโครงการนี้จะต้องผ่านบ้านกะเบอะดิน และอีกหลายชุมชนในอำเภออมก๋อย ชาวบ้านให้เหตุผลว่า หากโครงการใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นจริง จะทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าต้นน้ำ และมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาด้วย
จากรายงานพบว่า หมู่บ้านกะเบอะดิน เป็นอีกชุมชนหนึ่งซึ่งจะได้รับผลกระทบจากโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม เป็นจุดกองดินจุดที่ 4 ที่จะใช้พื้นที่ 91 ไร่ ซึ่งจุดกองดินเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นพื้นที่ทำกินชาวบ้าน ชุมชนจึงมีข้อกังวลใจ หากมีโครงการนี้เกิดขึ้น ดังนั้นหมู่บ้านกะเบอะดินจึงไม่เห็นด้วยกับโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ที่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน
ศบ.อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน บอกว่า ปัญหาที่กำลังเกิดกับบ้านกะเบอะดินและคนอมก๋อย ก็คือโครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม ซึ่งจะมีมาพร้อม สายส่งไฟฟ้าแรงสูงควบคู่กันไปด้วย ซึ่งตนเองและชาวบ้านก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นเช่นกัน เพราะว่ามันจะพาดผ่านหมู่บ้านกะเบอะดิน โดยจะมีจุดกองดินด้วย
“หลังจากที่ผมได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับอาจารย์ มช. และพี่น้องเครือข่ายต่างๆ เพื่อไปรับรู้ถึงข้อมูลปัญหาในแต่ละชุมชนที่จะได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ต้นทางและปลายทางแล้ว จะรู้ว่าชาวบ้าน ทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน ต่างก็ไม่เอาโครงการผันน้ำยวม และออกมาร่วมกันต่อสู้ แม้ว่าจะไม่มีความรู้ ไม่รู้กฎหมายไม่รู้อะไรสักอย่างเลย ก็น่าสงสารอยู่ แต่ถ้าเป็นไปได้ด้วยหัวใจ เราก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งนั้น”
เช่นเดียวกับ สะท้าน ชีววิชัยพงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน เปิดเผยว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำยวม นี้ ทางกรมชลประทาน ได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีข้อมูลที่พบว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง กระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจที่ดำเนินการหลายปี พบว่า ไม่เคารพชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ แต่กลับอ้างว่าชุมชนมีส่วนร่วมไปแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่โครงการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาจไม่กล้าแสดงออกเพราะว่าส่วนหนึ่งไม่มีสัญชาติ และในพื้นที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่งและสกอร์ ที่ผ่านมาหมู่บ้านไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานอย่างเพียงพอ
“นอกจากโครงการผันน้ำแล้ว ยังมีโครงการสายส่งไฟฟ้าที่จะใช้ในการสูบน้ำ ชาวบ้านก็ไม่ได้รับข้อมูล ทั้งๆ ที่พวกเราคัดค้านมาตลอด แต่ไม่ปรากฏในอีไอเอ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งมหาวิทยาลัยนเรศวร และกรมชลประทานเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านพยายามตั้งคำถามเรื่องที่อยู่ในเขตป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับป่า กับน้ำ แต่การศึกษาผลกระทบไม่ครอบคลุม เราพยายามเสนอไป ทำหนังสือไป เพื่อให้มีการศึกษาให้ครอบคลุมแต่ไม่มีความคืบหน้า กรมชลประทานกำหนดพื้นที่เป้าหมายแคบมาก ที่ระบุว่าจะกระทบแค่หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย เพียงบ้านเดียว ทั้งที่ โครงการผันน้ำยวม นี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ประกอบไปด้วยพื้นที่มีอยู่ 3 จังหวัดคือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน โดยจะเกิดผลกระทบเกิดขึ้นจริงกว่า 40 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน อำเภอท่าสองยาง จ.ตาก และอำเภอฮอด อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ด้วย”
ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หมู่บ้านกะเบอะดิน
สะท้าน ยังแสดงความเป็นห่วงต่อพี่น้องชาวบ้านกะเบอะดินและคนอมก๋อยด้วยว่า โครงการนี้มันจะเจาะภูเขาเป็นอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถึงขั้นรถสิบล้อวิ่งสวนทางกันได้เลย และมันจะทะลุทั้งอำเภออมก๋อยเลย ไปถึงหมู่บ้านกะเบอะดิน และอีกหลายหมู่บ้านในพื้นที่อมก๋อยที่ได้รับผลกระทบ
“ผมเป็นห่วงเหมือนกันว่าถ้าพี่น้องกะเบอะดิน และหมู่บ้านของพี่น้องปกาเกอะญออยู่บนอุโมงค์ ถ้าสมมุติว่าเกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ชาวบ้านจะได้รับผลกระทบรุนแรงหรือไม่ ส่วนผลกระทบอีกอันหนึ่ง ก็คือ จะมีจุดทิ้งกองดิน ซึ่งมันเป็นกองดินมหึมา ซึ่งไม่รู้มันจะไปทิ้งที่ไหน”
ที่ผ่านมา สะท้านได้เข้าไปร่วมเชื่อมจัดกิจกรรมกับน้องๆ เยาวชนกะเบอะดิน มาสองสามรอบ นอกจากนั้น ก็จะมีทีมนักวิชาการจากศูนย์ชาติพันธุ์ มช. ทีมงานแม่น้ำนานาชาติ ฯลฯ เข้าไปร่วมประชุมชี้แจง ให้ความรู้กับชาวบ้าน น้องเยาวชน คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะผู้หญิง จะเป็นกำลังหลัก ที่ได้ร่วมกันออกมาต่อต้าน ออกมาปกป้องพื้นที่ของเขา โดยเราได้บอกกับทุกคนว่า อย่าลืมนะ ว่าตอนนี้มันไม่ใช่แค่เรื่องเหมืองแร่ ยังมีโครงการผันน้ำยวมด้วย ที่จะเข้ามายังกะเบอะดินด้วย
สะท้าน บอกด้วยว่า ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าโครงการเหมืองแร่ กับโครงการผันน้ำยวม นั้นต่างก็สร้างความเสียหายมากพอๆ กันเลย
“โครงการเหมืองแร่นั้น อยู่บริเวณป่าต้นน้ำของกะเบอะดิน และยังเป็นต้นน้ำของแม่น้ำเงาด้วย ซึ่งถ้ามีการขุดเหมืองแร่ตรงนี้ สารพิษอะไรต่างๆ มันก็ต้องไหลลงสู่แม่น้ำไปด้วย จะมีปัญหามากพอสมควรเหมือนนะครับ ทางที่ดี คือไม่ต้องเปิดตัวโครงการเหมืองแร่นี้เลย ส่วนโครงการผันน้ำยวม ผมคิดว่ามันอาจสร้างความเสียหายเยอะกว่า เนื่องจากมันครอบคลุมผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด ซึ่งกินพื้นที่ป่ามหาศาลกันเลย”
ชนเผ่าก็คือคน มีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกัน
พรชิตา ฟ้าประทานไพร หรือ ดวงแก้ว หนึ่งในแกนนำเยาวชนกะเหรี่ยงโปว์หมู่บ้านกะเบอะดิน บอกว่า อยากให้สังคมข้างล่าง หน่วยงานรัฐ และกลุ่มนายทุนทั้งหลาย ได้เข้าใจบริบทชุมชนหรือว่าแบบเคารพสิทธิของชุมชนของเราด้วย ว่ามันควรจะเป็นแบบไหน อะไรที่ควรและไม่ควรจะเป็น เพื่อที่จะให้ชาวบ้าน ชุมชน อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมีความสุข ตามแบบวิถีชีวิตของตัวเองต่อไป
“เพราะนี่คือวิถีชีวิตของเราที่ได้รับสืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มันก็ไม่ควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเพราะว่าการเห็นแก่ตัวของนายทุนแค่ไม่กี่คน”
ในขณะที่ ศบ.อรรถพล อำรุงพนม ศิษยาภิบาลคริสตจักรบ้านกะเบอะดิน ย้ำจุดยืนของพี่น้องชาวบ้านกะเบอะดินเอาไว้ในตอนท้ายด้วยว่า อยากจะส่งสารไปยังสังคมข้างล่าง ให้กับคนทุกระดับทุกอาชีพ รวมทั้งหน่วยงานรัฐได้รับรู้และเข้าใจด้วยว่า เราคือชนเผ่า แม้ว่าเราจะเกิดมาบนดอยสูง แม้ว่าเราไม่ได้มีศักยภาพพอที่จะต่อสู้กับคนที่มีความรู้สูงได้ แต่เรามีสิทธิมนุษยชนเท่าเทียมกันหมด อยากจะให้ทุกคนรับรู้ว่า เราคือชนเผ่า แต่เราก็คือคนด้วยกัน อยากจะให้ทุกหน่วยงานได้เข้าใจถึงความเป็นอยู่ของเรา ว่าเราอยู่กับป่า เราอยู่กับพื้นที่ที่เราอยู่ นี่คือเราพอใจที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าเราจะไม่มีเหมือนเขา แต่ตาดำๆ ของเราก็คือเรามองโลกใบเดียวกัน
“เราอยากจะเห็นสภาพสิ่งแวดล้อมเหมือนเดิม เราไม่อยากจะให้ที่อยู่อาศัยของเราถูกทำลาย และเราก็ไม่อยากให้ใครมารบกวนวิถีความเป็นอยู่ของเรา เพราะว่า ป่าก็คือชีวิต น้ำก็คือชีวิต ลำธารแม่น้ำทุกสายก็คือชีวิตของเรา เราพึ่งพาอาศัย เราอยู่ได้ด้วยทุกวันนี้ก็เพราะสิ่งเหล่านี้อยู่กับเรา ถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกทำลายไป ถูกเปลี่ยนไป ทุกชีวิตของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย และต้องเกิดขึ้น ได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม เราจะไม่ให้โครงการนี้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด แม้กระทั่งชีวิตแลกกับอะไรก็ตาม เราก็จะไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อลูกหลานของเราที่จะอยู่ต่อไปได้”
ข้อมูลประกอบ
1.เมื่อกะเบอะดิน มีสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อเหมืองแร่ กับอุโมงค์ผันน้ำเข้ามาทำลายฯ, วารสารผู้ไถ่ ฉบับที่ 119 พ.ค.-ส.ค.2565
2.วรรณา แต้มทอง,คดีสิ่งแวดล้อมคดีแรกของปี ชาวบ้านกะเบอะดินร่วมฟ้องเพิกถอน EIA เหมืองแร่อมก๋อยต่อศาลปกครอง,ประชาไท, 4-4-2022
3. กมธ.แนะรัฐบาลชะลอโครงการผันน้ำยวม,สำนักข่าวชายขอบ, 04/12/2021
4.ภาพและข้อมูลจากเพจและหนังสือ กะเบอะดิน ดินแดนมหัศจรรย์