Skip to main content

‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง นิเวศการเรียนรู้ รากเหง้าของปกาเกอะญอ

15 ธันวาคม 2566

องอาจ เดชา

 

หากใครมีโอกาสเดินทางไปเยือน อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ นอกจากจะได้เที่ยวชมวิถีชุมชนชาวปกาเกอะญอ และสัมผัสป่าสนธรรมชาติอันงดงามแล้ว อีกสถานหนึ่งที่หลายคนชอบแวะเวียนไปเยือนนั่นคือ ‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง’ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอกัลยาณิวัฒนา ภายในบริเวณศูนย์ปกาเกอะญอ วัดห้วยบง นั้นมีความร่มรื่นปกคลุมด้วยต้นไม้ให้ร่มเงา ทุกคนสามารถเดินเที่ยวชมบรรยากาศจำลองวิถีของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ "หอแสดงภาพจิตรกรรมฝาผนัง" ที่บอกเล่าเรื่องราวของวิถีชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึ่งเกิดจากแนวคิดของพระปลัดสุชาติ สุวัฑฒโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง ที่อยากให้วัด โรงเรียน และชุมชน ร่วมกันจัดทำขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่สืบทอดต่อกันมานับพันปี แต่กำลังสูญหายไปกับโลกสมัยใหม่ได้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ บอกเล่าว่า เมื่อก่อน ถนนหนทางนั้นไม่ดี ทุกคนก็อยู่กันง่ายๆ คนแปลกหน้าไม่เข้ามา ไม่ได้เห็นอะไรๆ ที่มีความอยากเกิดขึ้น จากเดิมนั่งล้อมวงกินข้าว กินน้ำชา คุยกัน แต่พอไฟฟ้าเข้ามา ต่างคนต่างหันหน้าดูทีวีกัน มีโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเสียง ทุกอย่างต้องเสียเงิน

“เมื่อก่อนโทรศัพท์ยังไม่มา ไม่มี ครอบครัวมีความสุข เด็กช่วยงานพ่อแม่ แต่เดี๋ยวนี้ บนดอยก็บนดอยเถอะ ความสะดวกสบายขึ้นมาถึงที่นี่ เด็กมีมือถือกันทุกคน หลักสูตรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตนั้นไม่มี การอนุรักษ์ป่า การสืบชะตา เดปอทู เด็กไม่รู้เลย สิ่งเหล่านี้มันทำให้วิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอหายไปจากสังคม กำลังจะจางหายไปจากสังคม”

เมื่อก่อน ถนนหนทางนั้นไม่ดี ทุกคนก็อยู่กันง่ายๆ คนแปลกหน้าไม่เข้ามา ไม่ได้เห็นอะไรๆ ที่มีความอยากเกิดขึ้น จากเดิมนั่งล้อมวงกินข้าว กินน้ำชา คุยกัน แต่พอไฟฟ้าเข้ามา ต่างคนต่างหันหน้าดูทีวีกัน มีโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเสียง ทุกอย่างต้องเสียเงิน

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก ได้ดำเนินการก่อตั้งศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบงนี้ขึ้นมา เพื่อรื้อฟื้น สืบทอด ไม่ให้วิถีปกาเกอะญอนั้นสูญหายไป  โดยภายในบริเวณรอบๆ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา นั้นจะมีทั้งศิลปวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ เช่น บ้านเรือนสมัยโบราณของชาวปกาเกอะญอ สวนสมุนไพร ป่าเดปอทู เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย โดยทุกวันนี้ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียน ชาวบ้าน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างเดินทางมาเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง


วัชระ พิริยะวรคุณ ประธานแกนนำชาวพุทธ อ.กัลยาณิวัฒนา บอกว่า วัฒนธรรมประเพณี เป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นความสุข ถ้าเปรียบเปรยก็เป็นเหมือนใบไม้สีเขียว เป็นร่มเงา เป็นที่หลบแดดหลบฝน ทำให้เรามีความสุขได้ ดังนั้น วัฒนธรรมที่ดีงาม จึงเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้

รศ.ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้าไปหนุนเสริมกิจกรรมภายในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา มาอย่างต่อเนื่อง บอกว่า พื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา ถือว่ามีทุนวัฒนธรรมและมีธรรมชาติที่สวยงาม ในฐานะของตนนั้นคือการผลิตครู และมองว่า จริงๆ แล้ว คำว่า บวร ซึ่งหมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน ยังมีความสำคัญ และต้องไปด้วยกัน

“เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นให้ทางมหาวิทยาลัยเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เข้ามาหนุนเสริมจัดกระบวนการเรียนรู้ ว่าทำอย่างไรถึงจะให้ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง เป็นศูนย์ที่มีชีวิต ดูได้จากที่นี่มีต้นไม้นับค่าไม่ได้ ผู้คนที่นี่อยู่กับขวัญ 32 ขวัญ นั่นหมายถึงคนอยู่กับธรรมชาติ ทางมหาวิทยาลัยจึงได้เข้ามาหนุนเสริม และเอานวัตกรรมทางสังคมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาปรับใช้เชื่อมโยงกับ บวร ให้ได้”

ว่าที่ ร.ต.นิมิตร ธิยาม รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกว่า ที่ผ่านมา เราจะดูแลเรื่องการศึกษาในระดับมัธยม และเราได้ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ขึ้นมา เรียกกันว่า “กัลยาบ้านฉัน” ก็คือจะเน้นให้นักเรียนกลับไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนเอง โดยได้เชื่อมโยงกับศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบงได้ให้นักเรียนมาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอกันที่นี่

เราได้ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ขึ้นมา เรียกกันว่า “กัลยาบ้านฉัน” ก็คือจะเน้นให้นักเรียนกลับไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชาติพันธุ์ของตนเอง โดยได้เชื่อมโยงกับศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบงได้ให้นักเรียนมาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอกันที่นี่

ทั้งนี้ เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง มีการจัดวงเสวนา เรื่อง การจัดการคุณค่าภูมิปัญญาปกาเกอะญอในภาพจิตรกรรมฝาผนังสู่การต่อยอดมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของคนรุ่นใหม่ โดยมีเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าสนใจ

นางสาววชิราพร ตินิ นักเรียนจากโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาเรียนรู้ ก็คือทางโรงเรียนได้จัดกิจกรรม “กัลยาบ้านฉัน” เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

“เราได้มาศึกษาความรู้ดีๆ ในศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ได้เรียนรู้ผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนัง แล้วนำเรื่องราวจากภาพนั้นมาต่อยอด ขยายองค์ความรู้ผ่านทางสื่อออนไลน์ เชื่อมโยงโดยการเรียนรู้ผ่านการ แสกนคิวอาร์โค้ดที่ทางนักเรียนร่วมกับทางพระอาจารย์ได้ร่วมกันทำขึ้นมาอีกด้วย”

นางสาวแสงก่ำ ตัวแทนเด็กและเยาวชนโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าว่า ตนเองเป็นชาติพันธุ์ไทยใหญ่ แต่มีความสนใจและเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิถีของปกาเกอะญอ ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ ทำให้ตนเองได้เรียนรู้วิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอ มากยิ่งขึ้น

“ทำให้เราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของผู้หญิงผู้ชายของชาวปกาเกอะญอ ทำให้เราได้เห็นภาพวิถีชีวิตตั้งแต่ต้นจนจบเลย ซึ่งเราอยากให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้วิถีปกาเกอะญอกันเยอะๆ”

เช่นเดียวกับ นฤบนาถ  ตัวแทนเยาวชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง และเป็นยูทูบเบอร์  บอกเล่าว่า ที่ผ่านมา ตนเองได้เสนอเรื่องราวของศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ผ่านทางสื่อออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบัน สื่อออนไลน์นั้นสามารถแพร่หลายไปได้ทั่วโลก และทุกคนสามารถศึกษาได้ทุกที่ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็เรียนรู้ได้

“เราจึงได้ให้เพื่อนๆ นักเรียนที่สนใจ มาร่วมกันถอดองค์ความรู้ โดยค้นหาเอกลักษณ์ เรื่องราวจากภาพฝาผนัง จากนั้น เราจะนั่งคุยกันว่า เราจะนำเอกลักษณ์ในภาพฝาผนังนั้น มาบอกเล่าผ่านสื่อออนไลน์อย่างไรต่อไป”  

ในวงเสวนาวันนั้น นายวรายุทธ อุตตะมา อาจารย์โรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกเล่าว่า เมื่อพูดถึงมิติทางการศึกษา ที่ผ่านมา เราถูกรับมาจากส่วนกลางมากเกินไป เป็นความรู้กระแสหลัก ซึ่งบางทีอาจไม่เชื่อมโยงกับเด็กๆในท้องถิ่น อาจทำให้เด็กๆ เยาวชนลืมตัวตนของตัวเองไป  เพราะฉะนั้น ทำให้เราคิดว่า จริงๆ แล้ว ทุกคนล้วนมีตัวตน มีเรื่องราวอยู่แล้ว

“ทำให้เรามองเห็นขุมทรัพย์ทางปัญญาในท้องถิ่น เกี่ยวกับวิถีปกาเกอะญอ จึงพยายามค้นหาทำโปรเจกต์กันขึ้นมา จนกลายมาเป็น เพื่อจะปลูกฝังให้นักเรียน เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวของตนเอง โดยเผยแพร่เรื่องราวผ่านทางสื่อออนไลน์”

นางสาวสุธาลินี จรรยาทอง ศิลปินชาวปกาเกอะญอ หนึ่งในทีมวาดรูปศิลปะบนฝาผนังถ่ายทอดเรื่องราววัฒนธรรมของปกาเกอะญอในศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง บอกเล่าให้ฟังว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมากที่ได้มีส่วนร่วมสร้างสรรรค์งานศิลปะที่นี่ และถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราได้มาเรียนรู้จักตนเอง ผ่านงานภาพวาดของตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าคุณค่าของงานศิลปะนั้นวัดด้วยเม็ดเงินไม่ได้ แต่วัดด้วยจิตใจเท่านั้น

“การสร้างสรรค์งานศิลปะของเรา นั้นกลั่นออกมาจากใจ และมาจากประสบการณ์ชีวิตของเรา ไม่ว่าผ่านจากการทำงาน ทำไร่ทำนา หรือการช่วยทำงานบ้าน  ซึ่งเด็กๆ ควรจะรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ด้วย เพราะตอนนี้ สื่อโซเซียลอะไรๆ ก็เข้ามา ทำให้วิถีเกี่ยวกับการดำรงชีวิตเดิมๆ นั้นเลือนรางหายไป ซึ่งนับวันจะเหลือน้อยมาก ไม่ว่าจะในเรื่อง การช่วยเหลืองานบ้าน เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ตัดฟืน ผ่าฟืน พอตื่นเช้าก็ช่วยพ่อแม่หุงข้าว นับวันสิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีให้เห็นกันแล้ว ดังนั้น จึงอยากให้เด็กๆ เยาวชน และทุกคน ได้อนุรักษ์สิ่งเหล่านี้เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการช่วยเหลืองานบ้าน การทอผ้า การจก การปักผ้า ที่เป็นวิถีของปกาเกอะญอ ควรรักษาเอาไว้ ถึงแม้ว่าจะเทคโนโลยีอะไรจะเข้ามาก็ตาม แต่ส่วนที่มันมีมาตั้งแต่เนิ่นนานของปกาเกอะญอ เราก็ไม่อยากให้ลืมหายไป”

นายเปจัง มิตรสาธิต ศิลปินคนปกาเกอะญออีกคนหนึ่ง ที่ร่วมวาดภาพศิลปะวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ก็บอกสั้นๆ ด้วยสีหน้าอิ่มเอิบว่า พลังของความเชื่อนั้นมีความสำคัญมาก ความเชื่อคือศรัทธา เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความเชื่อดี ความศรัทธาก็จะดีด้วย

หลายคนยังสับสนไม่ค่อยเข้าใจความหมายระหว่างคำว่า การเรียน กับการศึกษา ซึ่งในมุมมองของตนนั้น การเรียนมันหมายถึงแค่ห้องเรียน แต่การศึกษา นั้นมันหมายถึงการเรียนรู้ที่มีทุกหนแห่ง จะเรียนที่ไหนก็ได้ ใต้ต้นกล้วย ใต้เงาไม้ หรืออยากจะไปเรียนธา  ซี่งเป็นบทกวีคำสอนของปกาเกอะญอ ก็ไปเรียนกับคนเฒ่าคนแก่ก็ได้

นายทองดี ธุรวร หรือทองดี ตุ๊โพ ศิลปินปกาเกอะญอ ก็ได้แสดงความเห็นและชื่นชมที่มีการจัดทำศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบงแห่งนี้ เพราะตนถือว่า การศึกษานั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่หลายคนยังสับสนไม่ค่อยเข้าใจความหมายระหว่างคำว่า การเรียน กับการศึกษา ซึ่งในมุมมองของตนนั้น การเรียนมันหมายถึงแค่ห้องเรียน แต่การศึกษา นั้นมันหมายถึงการเรียนรู้ที่มีทุกหนแห่ง จะเรียนที่ไหนก็ได้ ใต้ต้นกล้วย ใต้เงาไม้ หรืออยากจะไปเรียนธา  ซี่งเป็นบทกวีคำสอนของปกาเกอะญอ ก็ไปเรียนกับคนเฒ่าคนแก่ก็ได้

“เคยบอกคนในกระทรวงศึกษาหลายคนแล้ว แต่เขายังไม่เข้าใจ ยังไม่มอง ไม่ลงมือทำกันสักที จนในขณะนี้ ประเทศจีน ญี่ปุ่น ยุโรป เขานำหน้าเราไปนานแล้ว ซึ่งการที่พระอาจารย์ปลัดสุชาติ มาตั้งศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบง นี้ก็ถือว่าเป็นการศึกษา ยกตัวอย่าง ภาพจิตรกรรมฝาผนัง เราสามารถให้เด็กๆ มาเรียนรู้ เพราะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของพี่น้องปกาเกอะญอ ตั้งแต่เกิดจนตายเลย แล้วยังส่งเสริมให้เด็กๆ มาช่วยเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย”

จัดใหญ่งานปีใหม่ปกาเกอะญอวัดจันทร์ มีชาวกะเหรี่ยงเข้าร่วม 3-4 พันคน

พระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร(พระปลัดสุชาติ สุวฑฒโก) เจ้าอาวาสวัดห้วยบง และเจ้าคณะตำบลแม่แดด-แจ่มหลวง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่าระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม 2566 มีการจัดงานประเพณีปีใหม่ปกาเกอะญอ “2 ทศวรรษบุญสัญจร” ขึ้นที่วัดจันทร์ ต.วัดจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา ซึ่งมีประชาชนมาร่วม 3-4 พันคน โดยภายในงานมีการสืบชะตาผู้ข้อมือรับขวัญปีใหม่ การแสดงวัฒนธรรม การแข่งขันตอบปัญหาธรรมะ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน การทำบุญสัญจรร่วมกัน

เจ้าอาวาสวัดห้วยบง ซึ่งเป็นชาวปกาเกอะญอกล่าวว่า ชาวกะเหรี่ยงหรือปกาเกอะญออาศัยอยู่ในอำเภอกัลยาณิวัฒนาจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและคริสต์ ซึ่งในส่วนของศาสนาพุทธนั้นมีความใกล้เคียงกับความเชื่อดั้งเดิมของคนปกาเกอะญอ ดังนั้นจึงสามารถหล่อหลอมไปด้วยกันได้ดี โดยวิถีคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมตั้งอยู่บนความพอเพียง ตั้งแต่เรื่องเครื่องแต่งกายไปจนชีวิตความเป็นอยู่ ทุกอย่างทำไปเพื่อการยังชีพ แต่เมื่อความเจริญเข้ามา ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนสภาพ เช่น การส่งลูกไปเรียนก็ต้องหาเงินเป็นค่าใช้จ่าย การผ่อนรถผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ความสัมพันธ์ในลักษณะเดิมเปลี่ยนแปลง

“ที่นี่เราพยายามทำให้ศาสนาเข้ามาเป็นแกนกลางในการทำให้ชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของบรรพบุรุษปกาเกอะญอ พระสงฆ์ที่นี่ต้องทำหน้าที่เสมือนผู้นำทางจิตวิญญาณด้วย อาตมาได้พูดกับพระลูกวัดอยู่เสมอว่าอยู่ให้ต่ำ ทำให้สูง คือชาวบ้านไม่ว่าจะเป็นใครก็ต้องให้เขาเข้าถึงพระได้ ไม่ว่าเขาจะคลานหรือเดินมาก็ตาม แต่พระต้องทำจิตใจให้สูงกว่าชาวบ้าน เพราะพระไม่ได้มีปัญหาครอบครัว หรือต้องทำมาหากินอะไร ถ้าไม่โลภ” พระครูพิศิษฏ์พัฒนสาร กล่าว

ทั้งนี้ ปีใหม่ปกาเกอะญอ ไม่ตรงกับปฎิทินปีใหม่ไทยหรือปีใหม่สากล โดยจะดูจากจันทรคติที่ชาวปกาเกอะญอเรียกว่า “ลาปรือซี” ในคืนเดือนดับที่อยู่ในช่วงเดือนธันวาคมหรือมกราคมของทุกปี โดยพระสงฆ์ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา ได้มีโอกาสไปร่วมประเพณีปีใหม่ที่ประเทศพม่าและกลับมารื้อฟื้นปีใหม่ปกาเกอะญอชุมชนขึ้นเมื่อ พ.ศ.2552 โดยเน้นด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีและความเชื่อ เช่นพิธี “กี่จึ๊”(การผูกข้อมือเรียกขวัญคน) โดยมีสโลแกน รวมพล รวมบุญ รวมปัญญา”


นักวิชาการปกาเกอะญอ หนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ให้ออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ด้วยตนเอง

นอกจากนั้น ใน อ.กัลยานิวัฒนา ที่ผ่านมา ก็มีหลายองค์กรร่วมกันสนับสนุน ยกตัวอย่างเช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสล.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 ก็ได้เข้ามาสนับสนุน โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ กสศ.ในพื้นที่ด้วย

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินปกาเกอะญอ และนักวิชาการด้านชาติพันธุ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งเป็นลูกหลานชุมชนมือเจะคี ได้กล่าวในเวทีเยาวชนชาติพันธุ์ โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ(กสศ.) เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า เรากำลังหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ให้ออกแบบสังคมของตัวเองได้ และมีทักษะในการอยู่รอด อยู่ร่วม ท่ามกลางสังคมชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน

เรากำลังหนุนเสริมคนรุ่นใหม่ ให้ออกแบบสังคมของตัวเองได้ และมีทักษะในการอยู่รอด อยู่ร่วม ท่ามกลางสังคมชาติพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างซับซ้อน

สุวิชาน บอกว่า เราพูดถึงเรื่อง ทักษะของการ "ฮู้คิง" สมรรถนะของคนรุ่นใหม่ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลง คือ 1.ทักษะการอ่าน แล้วมองบ้านเมืองชุมชนของตัวเอง และทำความเข้าใจให้ลึกและชัดเจน 2.ทักษะของการเชื่อมโยง มองสังคม มองโลก เพราะเราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว คนมักจะพูดกันว่าโลกนั้นกว้าง โลกของพี่น้องชาติพันธุ์นั้นก็กว้างขึ้น โลกของคนรุ่นใหม่ก็กว้างขึ้น ดังนั้น ทุกวันนี้ เราเข้าใจเฉพาะบ้านตัวเองไม่พอแล้ว 3.ทักษะการสร้างหรือการออกแบบพื้นที่กลางของการอยู่ร่วมกัน เราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เมื่อเราแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเข้าใจกัน และ 4.การจัดหรือออกแบบกระบวนการ เพื่อที่จะเรียนรู้ อยู่ร่วม อยู่รอด เป็นการสร้างนิเวศการเรียนรู้

“สิ่งแรกที่ต้องมีคือ ‘ฮู้คิง’ภาษาเหนือหมายถึง รู้จักตนเอง เราต้องมีทักษะในการอ่านบ้านอ่านเมือง อ่านโลก เข้าใจโครงสร้างเชิงระบบ ปัจจัย เงื่อนไข หรือข้อจำกัดใด ที่ทำให้เป็นอย่างนั้น สองคือ ทักษะในการจัดการเรียนรู้โดยมีพื้นที่กลางในการเรียนรู้ และแบ่งปันทรัพยากร คือทางออกทางรอดของชุมชนชาติพันธุ์ในสังคมไทยและสังคมโลก สามคือ ทักษะในการออกแบบการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึง และใช้ความรู้ร่วมกันได้ จัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองกับสถานการณ์ในสังคมปัจจุบันอย่างเท่าทัน”

สุวิชาน บอกย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ กระบวนการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนตัวเองพร้อมทั้งสร้างเครือข่ายหรือนิเวศการเรียนรู้ของสังคมชาติพันธุ์คนรุ่นใหม่ ทำหน้าที่หนุนเสริม แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และบทเรียนต่อกัน

“เพราะคน ๆ เดียวส่งเสียงไม่ได้ สร้างพลังไม่ได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ฉะนั้น การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น เมื่อทำงานร่วมกัน สานพลัง ร่วมเรียนรู้ จึงจะอยู่รอด”

ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง เป็นแหล่งเรียนรู้ ที่รวบรวมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่สืบทอดต่อกันมานับพันปี ได้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง นักเรียน นักศึกษา โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรหน่วยงานใด ที่สนใจไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง ต.บ้านจันทร์ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ 58130


Youtube : ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง
FB: พระปลัดสุชาติ สุวฑฒโก

ข้อมูลและภาพประกอบ
1.ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่
2.ทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
3.โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ปี 2565
4.มือเจะคี...วิถีปกาเกอะญอ บนความเปลี่ยนแปลง,องอาจ เดชา.ประชาไท, 25 ก.พ.2023
5.จัดใหญ่งานปีใหม่ปกาเกอะญอวัดจันทร์ คาดมีชาวกะเหรี่ยงเข้าร่วม 3-4 พันคน,สำนักข่าวชายขอบ 07/12/2023
 

‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
‘ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา’ วัดห้วยบง
เนื้อหาล่าสุด