Skip to main content

‘เชียงดาว’พลิกเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว สร้างโมเดลสู่เมืองแห่งการเรียนรู้นำร่องของประเทศ

26 พฤศจิกายน 2566

องอาจ เดชา 

 

เมื่อพูดถึงเสน่ห์ของ "เชียงดาว" หลายคนรู้จักกันดีว่า เป็นเมืองในหุบเขา ที่มี "ดอยหลวงเชียงดาว" ตั้งตระหง่านสูงเด่นเป็นสง่า อีกทั้งเป็นเมืองต้นกำเนิดแม่น้ำปิง เป็นเมืองชายแดน เมืองท่องเที่ยว และเป็นเมืองแห่งความหลากหลายทางชาติพันธุ์

ปัจจุบัน ได้มีการผลักดันให้ “เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้”  โดยการริเริ่มของคนท้องถิ่นและ มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ได้จัดทำโครงการ “Learning Stations : เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้” ร่วมกันระหว่างโรงเรียนและชุมชน สร้างพื้นที่การเรียนรู้ดีๆ เพื่อเด็กเชียงดาว ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับการศึกษาทางเลือก โดยเปิดประสบการณ์ใหม่ Play & Learn ทั่วเมืองเชียงดาว

ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ดูแลโครงการ Learning Station Chiangdao : เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) บอกเล่าที่มาของโครงการนี้ว่า เนื่องจากในพื้นที่อำเภอเชียงดาว นั้นมีปราชญ์ท้องถิ่นและคนที่มีองค์ความรู้ย้ายมาอยู่เชียงดาวกันเยอะมาก แต่ว่าคนเชียงดาวส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง ที่ผ่านมาจึงมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเฉพาะกลุ่ม ทางเราก็เลยมีความคิดกันว่า อยากจะให้การศึกษา การเรียนรู้ในรูปแบบนี้ได้เข้าถึงชุมชนท้องถิ่นกันมากยิ่งขึ้น ก็เลยเปิดตัวโครงการนี้ขึ้นมา โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่า ภายใน 3 ปีนี้เราจะสร้าง เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยตอนแรกเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะเชื่อมกับทางโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ อยากให้เด็กๆ นักเรียนได้ออกมาเรียนรู้ให้มากกว่ากิจกรรมทั่วไป ซึ่งที่ผ่านมา เวลาทางโรงเรียนพาเด็กๆ นักเรียนมาทำกิจกรรมกับทางมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ส่วนมากจะมองเพียงแค่มาเด็กมาร่วมกิจกรรม แต่ไม่ได้เข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตรของโรงเรียน ไม่ได้ถูกนับเป็นเกรด คะแนน หรือเป็นหนึ่งในสาระการเรียนรู้ให้เกิดการพัฒนาในฐานกิจกรรมสร้างสรรค์เลย  

“เราก็เลยมาคิดออกแบบ ให้มันมีรูปแบบที่สามารถจะไปร่วมกันได้กับโรงเรียน กับระบบการศึกษา เพราะเราเชื่อว่า ในเชียงดาวมีพื้นที่การเรียนรู้มากมายหลายแห่ง ซึ่งจริงๆ แล้ว เด็กๆ นั้นพร้อมจะเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ว่าผู้ใหญ่อย่างพวกเราจำเป็นจะต้องอำนวยความสะดวก สร้างพื้นที่สำหรับให้เด็กได้เรียนรู้ สามารถเอาไปขมวดให้กิจกรรมเหล่านี้ไปอยู่ในหมวดสาระการเรียนรู้  ซึ่งที่ผ่านมา ทางมะขามป้อมเราทำมาอย่างต่อเนื่องกับทางคุณครู โดยสามารถมีการวัดผลประเมินผลได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาระการเรียนรู้ การปฏิสัมพันธ์ การเข้าสังคม การฝึกทักษะ การยืดหยุ่น เหล่านี้เราสามารถทำได้หมดเลย”  

“ในส่วนของมะขามป้อม จะรับผิดชอบการจัดกิจกรรม การเรียนคู่ขนานไปกับทางโรงเรียน และศูนย์การเรียนรู้ภายในชุมชน โดยสามารถเก็บเป็นเครดิตแบงค์ให้กับเด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง จะมีการออกแบบว่า ทำอย่างไรถึงจะเอากิจกรรมที่เด็กๆ ได้ออกมาเรียนรู้ตามสถานีการเรียนรู้ต่างๆ นี้ไปให้คุณครูนำไปออกแบบกันว่าจะสามารถนำไปเป็นเครดิตแบงค์ พัฒนาสาระการเรียนรู้เหล่านี้ไปปรับเป็นเกรด คะแนน ในหลักสูตรกันได้อย่างไร เราได้เริ่มต้นจับมือกับ 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนชุมชนบ้านวังจ๊อม โรงเรียนบ้านทุ่งละคร และโรงเรียนบ้านทุ่งหลุก มาประเดิมร่วมมือนำร่องกันไปก่อน ว่าจะออกแบบกันอย่างไร ว่าในเทอมการศึกษา สามารถพาเด็กๆ ออกมาเรียนรู้ตามสถานีการเรียนรู้ต่างๆ นี้ได้สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง และจะประเมินผลวัดผลออกมาเป็นเกรด เป็นคะแนนได้เท่าไร อย่างไรกันบ้าง”

ทั้งนี้ โครงการ Learning Station Chiangdao : เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ตั้งแต่ปี 2565 โดยได้เปิดนำร่อง 4 สถานีการเรียนรู้ คือหลักสูตรธรรมชาติยั่งยืน แก้งค์ถิ่นนิยม, หลักสูตร Smartfarmer สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี เกษตรอินทรีย์, หลักสูตรผ้าย้อมคราม Studio Chiangdao Blue และหลักสูตรเซรามิคเพื่อการเติบโตภายใน จาก Hand in Hand Studio เป็นต้น

 

เรียนรู้ ดิน หิน สี แร่ธาตุ น้ำ ป่า จากผืนป่าต้นน้ำดอยเชียงดาว

ยกตัวอย่าง ‘สถานีถิ่นนิยม’ นำเสนอการเรียนรู้โดย ‘จิราวรรณ คำซาว’ ได้พาเด็กๆ ไปเดินป่าต้นน้ำ บริเวณสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ซึ่งทำให้เด็กๆ สนุกสนาน ตื่นเต้นและได้สาระการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันด้วย ไปเรียนรู้สนุกกับสีสัน รูปทรงธรรมชาติในดิน น้ำ ป่า ท้องฟ้า บันทึกเรื่องราวธรรมชาติด้วยภาพเหมือนทางพฤษศาสตร์ (Botanical Art Illustration) เรียนรู้เรื่อง สีสันแห่งลำธาร เรียนรู้ความแตกต่างความอ่อนแข็งของหินแต่ละชนิด มีการเรียนรู้ค้นหาสีหินแร่ธรรมชาติ หินตะกอนสีต่างๆ นำมาฝนจนกลายเป็นสี แต่งแต้มจนกลายเป็นงานศิลปะของเด็กๆ

จิราวรรณ บอกเล่าให้ฟังว่า สถานีถิ่นนิยม เราจะเน้นเรื่องการพัฒนาทรัพยากร 2 อย่าง คือเราจะพัฒนาทรัพยากรคน กับพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ตอนนี้เราเน้นในเรื่องของการพัฒนาคน ก็คือรุ่นเด็ก ปลูกฝังการรู้จักทรัพยากรธรรมชาติก่อนที่เขาจะรู้จักทรัพยากรธรรมชาติ มันจะต้องรู้สึกยังไง ต้องให้เขารู้สึกปลอดภัยจากธรรมชาติ เป็นพื้นที่ที่ต้องสนุกสนานและมีความปลอดภัย เพราะฉะนั้น การเข้าป่า นั้นถือว่าเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ เชื่อมโยงเรื่องของคนกับธรรมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน  ก่อนจะเอาไปต่อยอดในอนาคตของเด็กๆ ต่อไป  เริ่มจากให้เด็กมาเรียนรู้ธรรมชาติ สนใจมาเรียนรู้  รู้สึกเป็นมิตรกับเส้นทางที่เราพาเดิน

"เราอยากให้เขาเรียนรู้ลักษณะในธรรมชาติมีรูปร่าง รูปทรงอะไร สีอะไร ให้เขามองธรรมชาติ  ไม่ใช่แบบมองอะไรมีแต่ความกลัว เช่น กลัวงู กลัวมืด แข็ง เจ็บ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันเป็นความทุกข์  แต่เราอยากให้เด็กๆ เข้ามาแล้วสัมผัสกับสิ่งที่เป็นความสุข  สิ่งที่สวยงาม มีกี่สี รูปร่างเป็นยังไงบ้าง  แล้วเอารูปร่างเหล่านั้นมาประกอบเป็นตัวตนของเด็ก"

 

“กิจกรรมครั้งนี้ เราอยากให้เขาเรียนรู้ลักษณะในธรรมชาติมีรูปร่าง รูปทรงอะไร สีอะไร ให้เขามองธรรมชาติ  ไม่ใช่แบบมองอะไรมีแต่ความกลัว เช่น กลัวงู กลัวมืด แข็ง เจ็บ ซึ่งเป็นสิ่งที่มันเป็นความทุกข์  แต่เราอยากให้เด็กๆ เข้ามาแล้วสัมผัสกับสิ่งที่เป็นความสุข  สิ่งที่สวยงาม มีกี่สี รูปร่างเป็นยังไงบ้าง  แล้วเอารูปร่างเหล่านั้นมาประกอบเป็นตัวตนของเด็ก ก็คือเอารูปร่างของเมล็ดไม้มาประกอบเป็นรูปตามจินตนาการที่ว่า  แล้วแต่งแต้มโดยการเอาสีธรรมชาติซึ่งเราก็ให้เด็กๆ เข้าไปสัมผัส ไม่ใช่แค่ดอกไม้ ต้นไม้ แต่เราจะให้เรียนรู้ในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตด้วย เราเรียกว่า แร่ธาตุ และก็ให้เด็กเรียนรู้และผ่านการเลือกสี มาประกอบกับตัวตนของเขา  ซึ่งเป็นกิจกรรมแค่เบื้องต้น คือให้เด็กดึงตัวตนของเขาออกมา เชื่อมกับความเป็นจริงที่มันเป็นสีในธรรมชาติ แล้วก็หลังจากนั้นก็เมื่อเด็กรู้สึกดีกับป่า ก็อยากเข้าป่า แล้วอย่าลืมว่าการที่เด็กๆ เข้าป่านั้น มันจะทำให้เขาเผยตัวตนของตัวเอง เช่น ความไม่มั่นใจ ความกังวล  ความกลัว หรือความสงบ  จินตนาการมันจะเปิดได้กว้างกว่าการเรียนรู้ที่อยู่ในห้องสี่เหลี่ยม ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ มันก็จะเปิดเสรีภาพในการเรียนรู้ของเด็กได้กว้างขึ้น”

จิราวรรณ บอกอีกว่า เนื่องด้วยสภาพพื้นที่ของเชียงดาว นั้นเป็นพื้นที่ที่มีชีวิต มีความโดดเด่นทางด้านธรรมชาติเป็นอย่างมาก จนได้รับการยกย่องจากยูเนสโก ยกให้ดอยเชียงดาว เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก ยกตัวอย่าง ในครั้งนี้ เราพามาสำรวจเรียนรู้เรื่องป่าดิบแล้ง นอกจากนั้น ยังมีป่าเต็งรังที่มีเห็ดที่น่าศึกษาเรียนรู้ มีป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าต้นน้ำ ซึ่งแต่ละสภาพป่า มันก็จะมีสัตว์ มีแมลงที่หลากหลายแตกต่างกัน  แล้วตนคิดว่าป่าในเชียงดาว ถือเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีอยู่ครบหลากหลาย เยอะที่สุดในประเทศก็ว่าได้  เรามีแต่ป่าเกือบครบทุกประเภท ยกเว้นป่าชายเลนที่เราจะต้องลงไปที่ทะเล แล้วสามารถเรียนรู้ระบบนิเวศได้ 


“ซึ่งการเรียนรู้ธรรมชาติในป่า ลำพังแค่หาสัตว์แมลง ดอกไม้พืช ก็สามารถให้เด็กๆ นักเรียนนั้น นำไปต่อยอดการเรียนในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ จินตนาการ  ทักษะความเป็นผู้นำ ทักษะการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน  การเอาตัวรอดในป่า โดยใช้ห้องเรียนธรรมชาติ และให้ธรรมชาตินั้นเป็นครู ต้นไม้เป็นครู โดยพวกเราคอยเป็นฝ่ายสนับสนุนเฝ้ามองเขา ให้เด็กปลอดภัยแค่นั้นเอง”

ทั้งนี้ จิราวรรณ ในฐานะคนท้องถิ่นเชียงดาวคนหนึ่ง ที่เพิ่งจบปริญญาเอก เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย ได้ให้แง่คิดว่า ทำยังไงถึงจะให้สถาบันการศึกษา และคุณครูได้เปลี่ยนมุมมองจากเรียนในระบบ ในห้องสี่เหลี่ยม ได้พาเด็ก ปล่อยเด็กออกมาเรียนรู้กับห้องเรียนธรรมชาติแบบนี้

“ปัจจุบัน เขาเน้นเรื่องของวิชาการ แต่สุดท้ายวิชาการหนึ่งที่เราต้องเรียนรู้คือวิทยาศาสตร์ ซึ่งวิทยาศาสตร์นั้นเราจะเรียนรู้แค่ในหนังสือไม่ได้หรอก โดยเฉพาะชีววิทยา ซึ่งในตำรา บางอย่างมันเป็นแค่หลักการเท่านั้นแหละ แต่เราต้องมาดูของจริง เพราะฉะนั้น การที่พาเด็กมานอกห้องเรียนทำให้ได้เห็นของจริง แล้วจะเกิดความรู้สึก เห็นรูปร่าง รูปทรงจากสัมผัส คือมันจะทำให้เราจำมากกว่า 10 เท่า  ดังนั้น เราควรจะใช้คุณครูที่เป็นต้นไม้ ดอกไม้ หรือในธรรมชาติ ให้เป็นสื่อให้เด็กได้พัฒนา และเราอยากจะให้คุณครูพาเด็กๆ มาออกมานอกพื้นที่แบบนี้ แล้วจะเห็นว่าวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวกับธรรมชาตินั้นอยู่ในเชียงดาวเยอะมาก  ถ้าคุณครูไม่รู้จะจัดการเรียนการสอนยังไง ก็สามารถก็ติดต่อกับโครงการนี้ได้  เพื่อที่เราจะได้ร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ด้วยกัน”

 

มัดย้อม มัดใจ...กับสถานีสตูดิโอ เชียงดาวบลู (Studio Chiangdao Blue)

ศิริพร สรรค์ศิริกุล  หรือป้าหุยของเด็กๆ เจ้าของสถานีสตูดิโอ เชียงดาวบลู (Studio Chiangdao Blue) ที่ถือเป็นผู้รู้  ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการทำผ้ามัดย้อมด้วยครามแบบครบวงจร ตั้งแต่การลงมือเพาะเมล็ดพันธุ์ ลงมือปลูกครามและห้อมเอง ไปจนถึงการออกแบบ การย้อมคราม จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์งานศิลปะที่สอดคล้องกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนได้เป็นอย่างดี

กิจกรรมครั้งนี้  ได้ถ่ายทอดความรู้ที่สั่งสมมายาวนาน ให้กับเด็กๆ ในพื้นที่เชียงดาว ได้เรียนรู้การย้อมครามเบื้องต้น ออกแบบลายมัดย้อม จนเด็กๆ ได้ผ้ามัดย้อมกลับบ้านด้วยความภูมิใจ ที่มีเพียงชิ้นเดียวที่ไม่เหมือนใครในโลก

“องค์ความรู้ที่เราได้ร่ำเรียนมา ป้าก็ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาหมด ไปเรียนเรื่องมัดย้อมกับครูที่อีสาน  ไปเรียนรู้ที่ญี่ปุ่นด้วย แล้วก็มาประมวลความรู้ เรื่องการย้อมผ้า ซึ่งการย้อม มันก็ต้องมีวิทยาศาสตร์เรื่องครามด้วยนะ  คือถ้าเราเข้าใจที่มาที่ไป กระบวนการทำงานของคราม เราก็จะรู้สึกอิสระมากขึ้น ในการที่จะอยู่กับเขา  แต่ถ้าอย่างเราทางอีสาน เขาจะมีองค์ความรู้ ในรูปแบบการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะแฝงในเรื่องของความเชื่อด้วย เช่นนั้นทำให้เขาจะไม่ค่อยกล้าที่จะแหกขนบ  แต่ถ้าเกิดว่าเรามาขยับอีกมุมหนึ่ง คือเรียนรู้ครามแบบวิทยาศาสตร์ ก็จะทำให้เราเข้าใจว่าที่มันเกิดปัญหาขึ้นมา เรารู้แล้วเราไล่ดูได้ว่า อาจจะด่างน้อยไป หรือว่าเปรี้ยวน้อยไป อุณหภูมิไม่พอ อะไรแบบนี้ มันก็จะสนุกกับคราม แล้วก็จะรู้สึกว่าเราเป็นเพื่อนกัน  ไม่ใช่ว่าครามคือพระเจ้า เราก็จะถอดความรู้ออกมาเป็นวิทยาศาสตร์  แล้วเราสามารถออกแบบ ให้เป็นอิสระ ว่าจะให้เป็นสไตล์ไหน ซึ่งเราจะเลือกวัตถุดิบที่ให้สีให้มันมีความคงทนด้วย อย่างเช่น ก่อนที่จะลงมือมัดย้อม เราจะเอาผ้าไปเคลือบกับน้ำถั่วเหลืองก่อน เพื่อให้ครามติดเนื้อผ้าคงทน เป็นต้น”

 

เสน่ห์ของเชียงดาว เหมาะมากสำหรับเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 


ป้าศิริพร บอกว่า คือเรามองว่าไม่มีที่ไหนที่จะเหมาะเท่าเชียงดาวอีกแล้ว ที่จะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม พลังงานที่นี่ ธรรมชาติที่นี่ แค่ตรงนี้คุณเข้ามา คุณก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย มันสงบ แล้วมันก็สามารถที่จะโฟกัสอะไรได้  คุณสามารถปรับความวุ่นวะวุ่นวาย หรือความสนใจวิตกกังวลออกไปได้ที่นี่  คุณสามารถสวิสต์ตัวเองได้ปุ๊บ มันก็จะมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นมา

“คุณอาจจะมานั่งย้อนคิดทบทวนตัวเอง  แต่ละคนอาจจะมีคำถามในใจ ว่าปัจจุบันนี้เหนื่อยยาก วุ่นวาย  เสียเวลา เครียด แต่ว่าจะหาทางออก แต่ยังอยู่ในพื้นที่เก่าๆ มันก็ยาก  แต่ถ้าย้ายมาอยู่ในที่ใหม่ๆ อะไรที่เคยมีคำถามลึกๆ ในใจ  มันอาจจะมีแสงสว่างนิดๆ เข้ามา คุณก็แค่วิ่งตามแสงนั้นไป แล้วคุณก็อาจค้นหาเส้นทางชีวิตตัวเองได้ ว่าจริงๆ ถ้าเกิดเรายังไม่ใช่  เราไม่เข้าใจกับชีวิตปัจจุบันที่มันเป็นอยู่ ซึ่งตนเองมองว่า เชียงดาวเป็นพื้นที่ที่สร้างโอกาส โดยเฉพาะโอกาสที่เรียนรู้กับสิ่งที่มันเป็นธรรมชาติและภูมิปัญญา ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะสนใจอะไร บางคนสนใจเรื่องผ้า บางคนสนใจเรื่องสี  บางคนสนใจเรื่องไม้ไผ่  บางคนสนใจเรื่องดิน ก็แล้วแต่ว่าคุณจะโฟกัส  อย่างน้อยๆ มันก็เปิดโอกาสให้คุณได้เรียนรู้”

เจ้าของสถานีสตูดิโอ เชียงดาวบลู (Studio Chiangdao Blue) ยังได้พูดถึงระบบการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วในแต่ละพื้นที่นั้นมีการศึกษาทางเลือก มีหลากหลาย แต่ว่าระบบการศึกษาไทยโดยเฉพาะในระบบ ยังมองไม่ทะลุตรงนั้น

“ก็คือมันเป็นระบบการศึกษาไทย เป็นระบบซึ่งมันยากที่จะบริหารจัดการให้มันหลากหลาย คือ กลายเป็นปรัชญาการสร้างคนในระบบโรงงาน  ซึ่งตอนนี้มันล้าสมัยแล้ว  มันไม่ตอบโจทย์แล้ว ตอนนี้ก็น่าเห็นใจเด็กๆ ที่มันไม่ตอบโจทย์แล้ว ทำไมเราต้องไปเดินอยู่ในกรอบเก่าๆ ซึ่งจริงๆ แล้ว ศักยภาพของเด็กนั้นมีมากกว่าผู้ใหญ่เลยนะ  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจินตนาการ มีความเป็นอิสระไม่มีที่สิ้นสุด  พลังงานก็มี แค่คุณจัดจัดสรรสิ่งแวดล้อม หรือโอกาสให้มันถูกต้องนะ  เด็กก็จะสามารถมีชีวิตเหมือนกับต้นไม้ ถ้าเราพาไปในที่ๆ ไม่ถูกกับเขา เขาก็ยังแคระแกรนอยู่ตรงนั้น  แต่แค่เราย้ายมาอยู่ให้ถูกที่  โอ้โห...เด็กมันเกิดการพัฒนา เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น การพาเด็กมาเรียนเรื่องมัดย้อมในครั้งนี้ เราแค่พูดกับเด็กนิดเดียว พอเขาเริ่มเข้าใจ เราก็ปล่อยเลย เด็กสามารถลงมือทำกันได้เลย และสีหน้าแววตาของแต่ละคนนั้นมีความสุขมาก”

นอกจากนั้น ยังมีสถานีการเรียนรู้สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี นำการเรียนรู้โดย พี่แหม่ม ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ซึ่งถือเป็นปราชญ์ท้องถิ่นของเชียงดาวอีกคนหนึ่ง ที่มุ่งมั่นบุกเบิกเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจรของเชียงดาว โดยกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ การขยายพันธ์ุพืชรูปแบบต่างๆ การแปรรูปสินค้าเกษตร รวมถึงการออกแบบพื้นที่สำหรับผู้ที่สนใจเริ่มต้นทำการเกษตรอินทรีย์สำหรับมือใหม่ เป็นต้น

 

เน้นสร้างเชียงดาวเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองแห่งการเรียนรู้ ควบคู่กันไป


ประกายดาว ผู้ดูแลโครงการ บอกว่า เราอยากเปิดสถานีการเรียนรู้ แบบนี้ไปตลอดทั้งปี เพื่ออยากจะพิสูจน์ทดลองดูว่า สิ่งที่เราทำนี้ มันมีคนสนใจ มีความต้องการในชุมชนไหม และเด็กๆ มีความสนใจที่อยากเข้ามาเรียนรู้กันไหม เด็กมีความสนใจในเรื่องไหนบ้าง หลังจากนั้น ภายในสามปีนี้ เราก็จะสามารถประเมินได้ และอาจมีการเพิ่มสถานีการเรียนรู้ ในพื้นที่อำเภอเชียงดาวต่อไป ให้สอดคล้องกับความเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลก และให้เชียงดาวเป็นเมืองท่องเที่ยวควบคู่ไปกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ซึ่งอยากให้นักท่องเที่ยวได้มาเชียงดาวแล้วได้มากกว่ามานอนพักและถ่ายรูป แต่มาเที่ยว มาพัก และได้เรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันไปด้วย ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

“การทำกิจกรรมแบบนี้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ต่อคนเชียงดาว ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ ในส่วนของผู้ใหญ่ก็จะได้ประโยชน์ตามมามากมาย ไม่ว่าจะมีรายได้จากการเปิดร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และที่พักด้วย"

“การทำกิจกรรมแบบนี้ เชื่อว่าจะได้ประโยชน์ต่อคนเชียงดาว ทั้งเด็กๆ และผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ ในส่วนของผู้ใหญ่ก็จะได้ประโยชน์ตามมามากมาย ไม่ว่าจะมีรายได้จากการเปิดร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก และที่พักด้วย ล่าสุด ตอนนี้ทางโครงการ ได้มีการออกแบบให้มีการ์ดสะสมแต้ม สะสมคะแนนให้กับเด็กๆ ที่มาเรียนรู้ ถ้าเรียนรู้ครบ 4-5 สถานี ก็สามารถนำแต้มสะสมนั้นไปแลกเครื่องดื่ม กับทางร้านอาหาร ร้านกาแฟในเชียงดาวที่เข้าร่วมโครงการกับเราด้วย ก็จะเป็นส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กๆ และส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนให้เม็ดเงินหมุนเวียนในท้องถิ่นของเราด้วย และในเฟสต่อไป เราอยากขยายสถานีการเรียนรู้ และขยายไปตามโรงเรียนต่างๆ เช่น โรงเรียนบ้านจอมคีรี บ้านถ้ำ ก็แสดงความสนใจอยากเข้าร่วมโครงการ  รวมไปถึงอยากขยายไปยังโรงเรียนในระดับมัธยม หรือ กศน. หรือกลุ่มบ้านเรียนโฮมสคูล กันต่อไป เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้กับเด็กในหลายๆ กลุ่มวัยได้มาเรียนรู้กันได้”

ต่อมา ในช่วงเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการจัด ‘กิจกรรมเมษามาม่วน’ โดยมีการจัดกิจกรรมในรูปแบบห้องเรียนธรรมชาติ ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ริมแม่น้ำปิง เชียงดาว เช่น ‘ห้องเรียน เธอ ฉัน กันและกัน’ ของพี่กล้วยและพี่บอมบ์ จากกลุ่ม Songs Birde โดยพี่ๆ ได้พาเด็กๆ มาเรียนรู้และเล่าเรื่องผ่านงานศิลปะ ทั้งวาด ตัด ปะ ติด สนุกจนลืมอายุกันไปเลย

“เรื่องราวบางอย่างที่อยู่ในใจ สามารถคลี่คลายลงได้เมื่อถูกเล่าผ่านศิลปะ” หนึ่งในผู้เข้าร่วมสะท้อนความรู้สึก

นอกจากนั้น ยังมี ‘ห้องเรียน เบเกอรี่ง่ายๆ ไม่ง้อเตาอบ’ ของพี่พลอย Mountainella cafe ซึ่งห้องเรียนนี้เด็กๆ มาเรียนกันแบบเต็มคลาสมาก แต่ละคนได้ลงมือทำขนมด้วยตัวเองแบบทุกขั้นตอนกันไปเลย ทั้งชั่ง ตวง วัด ปั่น ตัก ทำเอง ชิมเอง อร่อยสุดๆ แถมพี่พลอยไม่หวงสูตร ของร้านเลย แถมสอนทั้งการคำนวนเพื่อขายอีกด้วย แล้วยังมีอีกหลายห้องเรียน ที่เปิดให้ทุกคนทุกวัยเข้าร่วมเรียนรู้ด้วยกัน

 

องค์กรหน่วยงานให้ความสำคัญ ร่วมกันขับเคลื่อน จัดตั้งคณะกรรมการ“เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้”


หลังจากที่กิจกรรม เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้จัดขึ้นมาเป็นปีที่สอง ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปในทิศทางที่ดีมากขึ้น จนทำให้องค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาชนให้ความสำคัญและสนใจกันมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการประชุมจัดตั้งคณะกรรมการ“เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้” เพื่อสร้างความร่วมมือในการผลักดันนโยบายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ โดยมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย อาทิปลัดอำเภอ เทศบาล อบต. ตัวแทน ส.ส. ผอ.ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว (สกร.อำเภอเชียงดาว)พัฒนาชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจ โรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง องค์กรภาคประชาชน เข้าร่วมประชุมเพื่อร่วมมือกันผลักดันนโยบายเมืองแห่งการเรียนรู้
    
การประชุมจัดตั้งคณะกรรมการ“เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้” ในครั้งนี้ ทำให้ได้ทิศทางการทำงานชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการผลักดันนโยบาย เข้าไปสู่กลไกท้องถิ่น หรือบรรจุในเทศบัญญัติ เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมต่อไป หลังจากนั้น ทุกองค์กร หน่วยงาน โดยเฉพาะสถานศึกษาในพื้นที่ สามารถบูรณาการการเรียนรู้ ทำห้องเรียนข้ามขอบภายในโรงเรียน และออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามสถานีการเรียนรู้ต่างๆ ภายในพื้นที่อำเภอเชียงดาว 


จัดมหกรรมตุลามาแอ่ว พลิกเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว-การเรียนรู้ในชุมชน


และเมื่อวันที่ 1-31 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา มีการจัด ‘มหกรรมตุลามาแอ่ว: เทศกาลเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ฤดูหนาว’ ขึ้นตลอดทั้งเดือนเลย โดยครั้งนี้ ได้มีสถานีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นเกือบ 20 แห่ง กระจายไปทั่วอำเภอเชียงดาว อาทิเช่น ห้องเรียน“สีแห่งความสุขสมดุล” การทำสีธรรมชาติจากก้อนหินและดินจากพื้นที่แหล่งต้นน้ำ, ห้องเรียน สิทธิมนุษยชน “Peace So Creazy” โดย Amnesty International Thailand, ห้องเรียนปั้นดิน สีหิน ไข่ขาว โดย  โดย Musashi pottery, ห้องเรียนเวทมนต์ของสีธรรมชาติ โดย ครูทราย, ศิลปะดีต่อใจ โดยครูเมย์ ,ห้องเรียนฟ้อนล้านนาเพื่อการบำบัดฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ โดยแม่ครูแววดาว ศิริสุข,วิชาช็อกโกแลตพาเพลิน, วิชาภาพยนตร์บำบัด โดยหมอหนุม,ห้องเรียนผาลาย :วิชาเดินดอยสำรวจวิถีชุมชน 5 ชาติพันธุ์ เป็นต้น

แต่ละห้องเรียนนั้น ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากเด็กๆ เยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงเด็กๆ ผู้ปกครองจากข้างนอก และนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ทุกคนสามารถเข้าร่วมเรียนรู้อย่างอิสระและมีความสุข สามารถเลือกเรียนตามที่ตนเองสนใจ ตามสโลแกนที่ตั้งไว้คือ “โอกาสแห่งการเรียนรู้ ที่เราเลือกได้เอง”

ที่สำคัญ สร้างเศรษฐกิจในชุมชนได้ด้วย เพราะการทำให้ เชียงดาวเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้ทำให้มีผู้คน นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ เข้ามาเรียนรู้และมาพักที่เชียงดาวกันแล้ว ที่น่าสนใจก็คือ กิจกรรมดังกล่าว ยังได้ร่วมกับผู้ประกอบการร้านค้าในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม “แต้มการเรียนรู้กินได้” ให้กับลูกค้าผู้เรียนกันด้วย

อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต Think Forward Center พรรคก้าวไกล บอกว่า เชียงดาว เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากๆ สำหรับชีวิตการเรียนรู้ของครอบครัวผม ทั้งในแง่บอร์ดเกม และ self-directed learning ของแดนไท เมื่อได้ยินว่า เชียงดาว พร้อมประกาศเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ผมก็ดีใจมากๆ และพา ส.ส.ก้าวไกล กลุ่มก้าวกรีน มาเรียนรู้เรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ ที่มะขามป้อมอาร์ทสเปซ

“สิ่งที่ชอบมากๆ คือ ประเด็นการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งฐานมือ(ทำ)  ฐานหัว (คิด) และฐานใจ และมีกิจกรรมการเรียนรู้มากมาย โดยวิทยากรทั้งจากภายในและภายนอก กระจายกันอยู่ตามพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ทั่วทั้งเชียงดาว และกระจายตามวันต่างๆ ตลอดทั้งเดือนตุลาคม และมีสโลแกนว่า “ตุลามาแอ่ว” การเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ของเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้สามารถบันทึกและสะสมในหนังสือเดินทางการเรียนรู้ แถมยังใช้เป็น ‘แต้มการเรียนรู้กินได้’ สามารถใช้ลดราคาตามร้านค้า ร้านอาหาร และที่พักต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้ด้วย”

 

หวังสร้าง เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นโมเดลการเรียนรู้ พื้นที่นำร่องของประเทศ

 

ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) บอกเล่าว่า เชียงดาว ถือว่าเป็นเมืองรุ่มรวยด้วยทรัพยากรและเต็มไปด้วยผู้ที่มีทักษะการเรียนรู้มากมายหลายแขนง และยังมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เราจึงมีต้นทุน มีเสน่ห์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเราสามารถพัฒนาเมืองเชียงดาวให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ให้เป็นเอกลักษณ์ได้

“เพราะฉะนั้น เราจะสร้างความร่วมมือกันได้อย่างไร ให้แต่ละองค์กร หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อำเภอ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว พัฒนาชุมชน โรงเรียนในพื้นที่เชียงดาว มาร่วมกันจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องสอดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือการศึกษาทางเลือก ซึ่งถ้าเราทำให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เชียงดาวก็จะเป็นโมเดล เป็นพื้นที่นำร่องของประเทศได้เลย”



ข้อมูลประกอบ
1. มะขามป้อม อาร์ต สเปซ ผุดโครงการ ‘Learning Stations : เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้’ สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้แก่เด็กๆ ในเชียงดาว,องอาจ เดชา,ประชาไท, 23 เม.ย. 2022-
2. ภาพกิจกรรม จากเพจ เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ "Chiangdao Learning City"
 

เด็กๆ เรียนรู้วิถีธรรมชาติจากการเดินสำรวจป่าต้นน้ำ อ.เชียงดาว
เด็กๆ เรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียน
เด็กๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ที่ อ.เชียงดาว
"สถานีถิ่นนิยม" ปลูกฝังให้เด็กๆ รักในทรัพยากรธรรมชาติ
สถานีการเรียนรู้ ห้องเรียนใต่ร่มไม้ใหญ่ริมแม่น้ำปิง
ห้องเรียนธรรมชาติผ่านผลงานศิลปะ
ผ้ามัดย้อมครามจากฝีมือของเด็กๆ
การเรียนรู้ศิลปะจากธรรมชาติรอบตัว
เชียงดาว เมืองแห่งการเรียนรู้
เนื้อหาล่าสุด