‘ชุมชนคลองบางหลวง’ เชื่อมต่อการท่องเที่ยวชุมชนริมน้ำฝั่งธนบุรี ให้เป็นพักใจของคนกรุง
จากชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเก่า ‘ชุมชนคลองบางหลวง’ เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากขึ้นโดยเฉพาะเหล่าวัยรุ่นที่เดินทางไปเยือนบ้านศิลปิน สถานที่กิจกรรมที่มีกลิ่นอายชนบทริมน้ำและทำให้มีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่มองเห็นโอกาสนี้ จึงร่วมกันทำให้ทั้งชุมชนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้ทุกที่ ทั้งยังประสานความร่วมมือไปยังชุมชนริมน้ำอีกหลายแห่งที่อยู่ใกล้กัน เพื่อสร้างการท่องเที่ยวทางน้ำที่ใช้เรือไปเยี่ยมเยือนกันได้ตลอดเวลา
จุดเริ่มต้นความนิยมของนักท่องเที่ยวที่ ‘ชุมชนคลองบางหลวง’ ฝั่งธนบุรี มาจากการที่ศิลปินกลุ่มหนึ่งขอซื้อบ้านไม้เก่าแก่สองชั้นหลังหนึ่งริมคลองบางหลวง มาทำเป็นสถานที่ทำงานและจัดแสดงผลงานศิลปะ
พร้อมกันนั้นพวกเขายังค่อยๆ สร้างกิจกรรมขึ้นเพื่อต้อนรับผู้มาเยือนและชาวชุมชน เช่น การเปิดร้านกาแฟ เวิร์คชอปต่าง ๆ เช่น ร้อยลูกปัดในแบบของตัวเอง ระบายสีหน้ากาก รวมถึงจัดแสดง ‘หุ่นละครเล็ก คลองบางหลวง’ ที่มีคณะเก่าแก่อยู่คู่กับชุมชนมานมนานให้ผู้สนใจมาชมฟรี ทำให้สถานที่แห่งนี้ค่อยๆ เป็นรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ มีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาว Gen Z ที่แวะมาพักผ่อนฮีลใจตัวเองกับความเนิบช้า หลีกหนีจากความเร่งรีบของเมืองได้ไม่ยาก เพราะเดินทางสะดวก มีสถานีรถไฟฟ้าบางไผ่อยู่ใกล้ๆ
ชนิสรา ละอองดี แกนนำชุมชนศิรินทร์และเพื่อน เขตภาษีเจริญ เล่าว่า เดิมทีใครไปใครมาที่นี่ก็จะรู้จักเฉพาะบ้านศิลปินเท่านั้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวกระจุกที่จุดเดียว ทั้งชุมชนจึงมาคุยว่าจะถ้าเอาต้นทุนต่างๆ ของชุมชนมาคิดร่วมกันดูก็น่าจะสามารถกระจายให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นได้ ชุมชนก็ได้ประโยชน์
ทั้งนี้ ต้นทุนของพื้นที่มีทั้งความสงบแบบชนบทของสายน้ำลำคลอง มีอาหารอร่อย รวมถึงสามารถเสริมกิจกรรมที่เป็นของชุมชนเข้าไปได้ เช่น บ้านหลังหนึ่งที่ติดกับสะพานโค้งเป็นช่างไม้ ก็เอาเศษไม้มาทำเป็นแผ่นข้อความให้ผูกคำอวยพรให้อธิษฐานก็เป็นที่นิยมมากและเป็นจุดที่ถ่ายรูปสวย
ปัจจุบัน ทั้งชุมชนคลองบางหลวงสามารถกลายเป็นจุดเช็คอินและเดินได้ทั่วไม่ใช่เฉพาะการมาเที่ยวบ้านศิลปินอีกต่อไป อย่างไรกก็ตาม ชนิสรา บอกว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ง่าย ต้องค่อยๆ ทำกันมาหลายปี เธอเล่าว่า ต้องคุยกับบ้านนั้นบ้านนี้และต้องสร้างความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ที่มาสำเร็จชัดน่าจะช่วงรัฐบาลชุดก่อน และการที่กรุงเทพมหานครเน้นเรื่องการท่องเที่ยวทางคลอง ชุมชนคลองบางหลวงจึงได้ใช้จังหวะนี้ เปิดตัวโครงการใหม่ๆ ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งชุมชน
แต่เป้าหมายของชาวคลองบางหลวงยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น ชนิสรา บอกว่า การพัฒนาเป็นเรื่องที่ไม่มีที่สิ้นสุด ปัจจุบันการท่องเที่ยวได้ทำให้เศรษฐกิจชุมชนคลองบางหลวงดีขึ้นมากและกระจายไปทั่ว ดังนั้น ก้าวต่อไปจึงอยากเชื่อมร้อยการท่องเที่ยวทางคลองเข้าด้วยกันกับชุมชนโดยรอบให้เติบโตขึ้นเช่นกัน เพราะแต่ละพื้นที่ก็มีเสน่ห์ของตัวเองที่สามารถเดินทางถึงกันและไปต่อร่วมกันได้
ในวันนั้นเอง ชนิสรากับเครือข่ายได้ชวนพวกเราล่องไปตามคลองบางหลวง ออกคลองด่านเพื่อไหว้พระใหญ่ที่วัดปากน้ำ จากนั้นจึงพาไปลงเรือที่ท่าวัดกำแพง ซึ่งมีประติมากรรมนูนสูงพระพุทธรูปยืนที่กำแพงนอกโบสถ์ มีความสวยงามและไม่เหมือนที่ไหน ส่วนข้างในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ซึ่งว่ากันว่า ภาพพระแม่ธรณีบีบมวยผมของที่นี่มีความละเอียดอ่อนช้อยที่สุดในฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ เมื่อไหว้พระเสร็จแล้วก็สามารถออกมาเดินเล่นที่ตลาดน้ำด้านนอกได้ จากจุดนี้ยังสามารถนั่งเรือไปจุดท่องเที่ยวชุมชนทางน้ำได้อีกหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำสองคลอง และตลาดน้ำตลิ่งชัน หรืออาจจะออกไปทางคลองภาษีเจริญก็ได้ เป็นต้น
นี่ก็คือฉากทัศน์การท่องเที่ยวจังหวะต่อไปของเครือข่ายชุมชนริมน้ำฝั่งธนบุรี ที่จะช่วยกันทำให้เรื่องราวของชาวฝั่งธนเชื่อมร้อยกันด้วยสายน้ำที่เคยผูกพันชีวิตเข้าด้วยกันมาแต่อดีต ก่อเกิดเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ร่วมกัน ที่ไม่ว่าจะแวะมากี่ครั้งก็จะรู้สึกประทับใจไม่รู้ลืม