Skip to main content

‘กอนกูยปุระ’ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักชาติพันธุ์ชาวกูย

19 สิงหาคม 2567

 

เมื่อพูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ หลายคนอาจจะนึกถึงภาพของชาวเขาบนดอยเป็นภาพแรก อาจเพราะเป็นภาพจำของสังคมไทยต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง หรือที่เรียกกันว่า Zomia แต่ความจริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีมากมาย และกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็น ชาวกะเหรี่ยง ชาวปะกาเกอะญอ ม้ง ทางภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์อุรักลาโว้ย ในภาคภาคใต้ หรือกลุ่มภูไท ไทโย้ย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโซนจังหวัดสกลนคร และในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก มี ‘ชาติพันธุ์กูย’ ที่อาศัยอยู่มาในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์

หากใครมีโอกาสเดินทางไป อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่หนึ่งที่มีลูกหลานชาวกูยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ชาวกูยจะมีลักษณะพิเศษและมีวิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับช้าง หากใครได้เดินทางไปยังอำเภอศรีขรภูมิ ทันทีที่ก้าวออกจากสถานีรถไฟ ภาพที่เห็นคุ้นตาจะเป็นภาพช้างที่เดินอยู่ตามท้องถนน ซึ่งเรียกวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างว่า “กูยอาเจียง” หรือ ชาวกูยที่เลี้ยงช้าง

อย่างไรก็ตาม ชาวกูย ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันกับชาติพันธุ์เขมร เพราะมีภูมิประเทศและลักษณะที่คล้ายคลึงกันหลายประการ แต่สิ่งที่ทำให้สามารถแยกชาติพันธุ์กูยออกจากชาติพันธุ์เขมรได้คือ ระบบภาษา หรือการนับเลขที่เป็นคนละภาษากับชาติพันธุ์เขมรโดยสิ้นเชิง  ปัจจุบันยังได้เกิดสมาคมชาวกูยแห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อพยายามรวบรวมลูกหลานคนกูยและระบบความรู้ วัฒนธรรม คติชนความเชื่อของบรรพบุรุษ ฯลฯ เพื่อการอนุรักษ์สืบต่อไป

หนึ่งในบุคคลสำคัญที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ก็คือ ติ๊ก กอนกูย รองประธานสมาคมชาวกูยแห่งประเทศไทย  ผู้พยายามผลักดันศูนย์การเรียนรู้ชาติพันธุ์กูย “กอนกูยปุระ” ขึ้น ในอำเภอศรีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้แลกเปลี่ยนของชาวกูยในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง โดยมีทั้งการสาธิตบ้านแบบของชาวกูย  เสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่ม และข้อมูลบันทึกต่างๆ เพื่อเป็นความรู้ให้กับคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป  

ทั้งนี้ ชาวกูย เป็นหนึ่งในชาติพันธุ์ที่ร่วมลงชื่อในกฎหมายสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทย เพื่อผลักดันให้มีการโอบรับความหลากหลายของคนทุกชาติพันธุ์ในประเทศนี้ และที่น่าสนใจก็คือ เครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มชาติพันธุ์กูยเป็นอีกกลุ่มที่มีความเข้มแข็งสูง เนื่องจากชาวกูยอาศัยในพื้นที่อีสานใต้มาอย่างยาวนาน จึงทำให้มีการจัดงาน การรวมกลุ่ม การแสดงออกทางวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ตนอยู่เสมอ โดยในทุกปีชาวกูยจะร่วมจัดงานวันกูยโลกขึ้น เพื่อพบปะและทบทวนวัฒนธรรมของชาวกูยในประเทศไทยและสืบสานประเพณีกูยให้คงอยู่สืบไป


 

‘กอนกูยปุระ’ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักชาติพันธุ์ชาวกูย