ถนนหนทางคดเคี้ยวลัดเลาะไปตามแนวเขาของปักษ์ใต้ ยิ่งเดินทางไปลึก เราก็ยิ่งรู้สึกถึงความชุ่มชื้นสดชื่น ว่ากันว่า นี่คือหมู่บ้านที่เป็นแหล่งโอโซนชั้นยอดของประเทศไทย ‘คีรีวง’ หมู่บ้านแห่งขุนเขา ลำธาร และเสียงหัวเราะของผู้คน
แม้ว่าระยะหลังชื่อของ ‘คีรีวง’ ดูจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ด้วยมีแนวทางการรวมตัวของ ชุมชนที่เข้มแข็งและมีระบบออมทรัพย์เป็นของตัวเอง ทำให้คีรีวงเป็น “ชุมชนพึ่งพาตนเอง” ที่สามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสธารของความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาได้
จากการศึกษาค้นคว้าของ ฉัตรียา เลิศวิชา พบว่า คีรีวงเป็นหมู่บ้านกลางหุบเขา ที่มีแหล่งอากาศบริสุทธิ์มาก ตั้งอยู่ที่อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมมราช เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่สามารถพลิกฟื้นขึ้นมา หลังจากต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงทางภัยพิบัติจากธรรมชาติในช่วงก่อนทศวรรษ 2530 รวมถึงปัญหาการปรับตัวเข้าสู่กระแสธารของความเปลี่ยนแปลง
การเข้ามาของเงินทุนและการพัฒนาในช่วงทศวรรษดังกล่าว คนในหมู่บ้านต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินและความยากจน กระทั่งประมาณ ปี 2523 ชาวบ้านในชุมชนได้รวมกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้น จนสามารถสะสมทุนภายในชุมชนและเอาชนะปัญหาหนี้สินได้สำเร็จในเวลาไม่ถึง 10 ปี
คีรีวง ยังมีจุดเด่นในการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากอยู่ห่างไกลจากการพัฒนาของภาครัฐ แต่ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคและเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาตนเองของชุมชนได้ โดยในปี 2532 คีรีวงศ์สามารถยกระดับตนเองขึ้นเป็นหมู่บ้านพึ่งพาตนเองได้ โดยเฉพาะกรณีของกลุ่มออมทรัพย์ ที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ว่า ชาวบ้านในชุมชนจะการใช้บริการกลุ่มออมทรัพย์ลดลงจากการเข้ามาของธนาคารพาณิชย์ แต่กลับกลายเป็นว่า กลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้านคีรีวงศ์ เดินไปในทิศทางตรงกันข้าม เพราะชาวบ้านยังคงนิยมใช้บริการกลุ่มออมทรัพย์มากกว่าใช้บริการธนาคารพาณิชย์ ทำให้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น 3,000 คน มีเงินฝากออมทรัพย์จาก 10 ล้านบาท ในปี 2532 เพิ่มขึ้นเป็น 90 ล้านบาทในปี 2558 ตัวเลขดังกล่าว สะท้อนว่าจำนวนเงินฝากภายในชุมชนเพิ่มขึ้น 9 เท่า ในเวลาไม่ถึง 30 ปี
อีกหนึ่งความเข้มแข็งของชุมชน คือ อาชีพที่ชาวคีรีวงยังคงยึดถือในวิถีเกษตรกร ทำให้แนวทางทางสังคมของชุมชนดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การรวมกลุ่มเพื่อสร้างผลประโยชน์มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้การทำงาน ออกแบบกิจกรรมต่างๆ ยึดหลักผลประโยชน์ของคนในชุมชนสูงสุด แม้ว่าธุรกิจที่เป็นชื่อเสียงของหมู่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นกิจการโฮมสเตย์ รีสอร์ท ร้านอาหาร หรือ งานหัตถกรรมต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นตามกระแสการท่องเที่ยวที่ถูกโปรโมทจากภาครัฐในช่วงหลัง แต่พื้นที่คีรีวงศ์ที่คนไทยหลายคนรู้จัก ยังคงพึ่งพิงอาชีพที่มาจากการเพราะปลูกผลไม้ และกว่า 90% ของรายได้ของคนในชุมชนมาจากการเป็นเกษตรกรดังเดิม