มูฮำหมัด ดือราแม
สุไลมาน เจ๊และ นายกสมาคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (POSBO) ผู้จัดการฟาร์มเลี้ยงแพะขุน “ศูนย์เรียนรู้ นาประดู่มหานครฟาร์ม” บ้านตลาดใหม่ ต.นาประดู่ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี บอกว่า นาประดู่มหานครฟาร์ม เลี้ยงแพะขุนพันธุ์บอร์ และพันธุ์ชามี่ โดยพันธุ์บอร์ เป็นแพะเนื้อที่โตเร็ว ตรงตามความต้องการของตลาด เป็นสายพันธุ์ผสมแอฟริกาใต้ ออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่คลอดจนถึง 3 เดือนก็จะมีน้ำหนักเกือบๆ 30 กิโลกรัม ต่างจากแพะบ้านทั่วไปที่ต้องใช้เวลา 2 ปีกว่าจะได้น้ำหนัก 30 กิโลกรัม
ส่วนพันธุ์ชามี่เป็นแพะนมที่โตเร็วเช่นกัน มีต้นกำเนิดจากประเทศไซปรัส โดยสั่งซื้อพ่อพันธ์แม่พันธุ์จากครือเจริญโภคภัณฑ์(CP) แต่เลี้ยงเพื่อเอานมมาเลี้ยงลูกแพะพันธุ์บอร์ ไม่ได้รีดนมขาย
สุไลมาน บอกว่า ที่ฟาร์มเน้นแพะเนื้อโดยใช้พ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี เมื่อได้ลูกออกมาก็ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 3 เดือนหรือเมื่อมีน้ำหนักประมาณ 30 กิโลกรัม ก็จะส่งขายหรือส่งไปเชือดที่ศูนย์วิจัยคณะทรัพยากรธรรมชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งมีโรงเชือดมาตรฐานฮาลาล
โรงเชือดที่ ม.อ.ชำแหละ จะเอาเฉพาะส่วนที่จะทำเนื้อสเต็กส่งลูกค้า ส่วนที่เหลือทางฟาร์มนำมาขายเอง โดยนำไปหมักสมุนไพรทำเป็นเนื้อแดดเดียว เนื้อแพะบดทำเบอร์เกอร์หรือทำไส้อั่ว แล้วส่งขายทั่วไปหรือทางออนไลน์ จัดเก็บอย่างถูกต้องจะเก็บได้นาน 2 ปีโดยไม่เสียรสชาติ
นอกจากนี้ ยังขายแพะแบบตัวเป็นๆ โดยชั่งกิโลขาย ถ้าตัวใหญ่มากๆ น้ำหนัก 40-50 กิโลกรัมจะได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท แต่ที่ขายดีที่สุดจะเป็นลูกแพะน้ำหนักไม่เกิน 30 กิโลกรัม
“เราสามารถเลี้ยงให้นานขึ้นเพื่อให้โตมากกว่านี้ แต่ก็จะเปลืองอาหารมาก ต้นทุนก็จะสูงขึ้น ฉะนั้นเราพยายามเร่งเลี้ยงให้ได้ 30 กิโลฯให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ขายหรือส่งโรงเชือดได้เร็ว”
สุไลมานบอกว่า ในคอกมีจะพ่อพันธุ์ 1 ตัวอยู่รวมกับแม่พันธุ์อีกหลายตัว เพื่อให้ผสมพันธุ์กันให้มากที่สุดประมาณ 1 เดือน จากนั้นก็นำตัวเมียไปอัลตราซาวด์ดูว่าท้องหรือเปล่า ถ้าท้องก็จะแยกคอกไปขุนรอคลอด ตัวไหนยังไม่ท้องก็ขังรวมกับตัวผู้ต่อไป
ฟาร์มมาตรฐาน GFM สะอาด ปลอดโรค
สุไลมาน กล่าวว่า นาประดู่มหานครฟาร์ม เป็นฟาร์มมาตรฐานความปลอดโรคระดับ A มีการเก็บเลือดไปตรวจทุกตัว ตามมาตรฐาน GFM Farm ดังนั้น มั่นใจในเรื่องความสะอาดและปลอดโรคได้ เพราะผ่านกระบวนการเลี้ยงที่ถูกต้องภายใต้การดูแลของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานี
“ช่วงแรกๆ ก็มีโรคเหมือนกัน คือโรคตาฟาง แต่รักษาหายแล้ว ส่วนโรคอื่นๆ ของแพะ คือโรคคางบวม โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคพยาธิ ท้องอืด โรคนมแข็ง แต่ที่น่ากลัวมากคือโรคแท้งติดต่อ ซึ่งกรมปศุสัตว์บอกว่า สามารถติดต่อมาสู่คนได้”
ตลาดต้องการสูง แต่คนในพื้นที่ยังไม่ค่อยนิยมแพะขุน
สุไลมาน กล่าวว่า ยอดขายของฟาร์มยังไม่มากนัก ช่วงพีคสุดๆ จะขายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับช่วงเทศกาลที่พี่น้องชาวมุสลิมหาซื้อแพะมาเชือดจำนวนมาก โดยพี่น้องมุสลิมส่วนใหญ่จะซื้อแพะไปทำพิธี “อากีเกาะห์” ตามหลักศาสนาอิสลาม (เป็นการเฉลิมฉลองขอบคุณพระเจ้าที่ประทานลูกให้แก่ครอบครัวด้วยการเชือดวัว แพะหรือแกะ ทำอาหารเลี้ยงชาวบ้าน) ถ้าคลอดลูกชายถ้าเป็นแพะก็ต้องเชือด 2 ตัว ส่วนลูกสาวจะเชือดเพียงตัวเดียว
สุไลมาน กล่าวว่า ส่วนมากชาวบ้านจะซื้อแพะจากพ่อค้าคนกลางที่นำแพะจากภาคอีสานมาขายโดยตรงมากกว่า เพราะราคาถูกกว่า แต่ข้อเสียก็คือเขาจะไม่เห็นแพะมาก่อนว่ามีสภาพเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าติดเชื้อโรคหรือตรวจโรคหรือเปล่า ไม่รู้ประวัติการเลี้ยงว่าเป็นอย่างไร
“แพะจากภาคอีสานเป็นแพะไล่ทุ่ง พ่อค้าคนกลางจะนำมาพักไว้ที่ฟาร์มในพื้นที่ไว้ประมาณ 1 เดือนแล้วปล่อยขาย ไม่ได้เลี้ยงตั้งแต่ต้นเหมือนเรา ซึ่งการเคลื่อนย้ายปศุสัตว์ตามกฎหมายจะต้องเจาะเลือดไปตรวจทุกตัว โดยมีค่าบริการตัวละ 100 บาท แต่ไม่แน่ใจว่าแพะพวกนั้นได้ตรวจเลือดหรือไม่ และเหตุใดจึงกดราคาให้ต่ำลงได้”
สุไลมาน กล่าวว่า แม้ตลาดแพะใน 3 จังหวัดจะกว้างมาก เพราะถูกนำไปใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาของพี่น้องมุสลิมหลายอย่าง แต่คนในพื้นที่ก็ไม่ชอบของแพง ซึ่งแพะขุนมีราคาสูงกว่าแพะบ้านทั่วไป แม้จะมีเนื้อเยอะ ตัวใหญ่และเลี้ยงแบบสะอาดก็ยังขายยากกว่า คนที่ได้ผลประโยชน์จริงๆ จึงไม่ไช่ฟาร์แพะของคนในพื้นที่
“แพะของเราจะขายดีกับคนที่ไม่ใช่มุสลิมมากกว่า โดยเฉพาะคนพุทธที่เขารู้ว่าเราเลี้ยงแบบไหน และจะขายดีเวลาออกบูธในงานต่างๆ ที่เรานำเนื้อแพะมาทำของกินขายในงาน” สุไลมาน กล่าว
เล็งตลาดบน ร่วมมือพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพ
สุไลมาน กล่าวว่า เขาพยายามสร้างตลาดขึ้นมาเอง โดยติดต่อโรงพยาบาลเอกชนที่มีลูกค้าส่วนใหญ่มีกำลังซื้อ เมื่อเขามาคลอดลูกที่โรงพยาบาล ทางฟาร์มก็จะแนะนำว่ามีแพะที่สมบูรณ์ เลี้ยงอย่างถูกต้อง สะอาด ปลอดภัย สามารถมาดูได้ที่ฟาร์ม โดยพยายามบอกว่า การทำพิธีจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้นถ้าได้แพะที่สมบูรณ์
“อีกแนวทางคือ พยายามพัฒนาเนื้อแพะสเต็กให้สามารถขายให้โรงแรมใหญ่ๆ ที่จังหวัดภูเก็ตได้ โดยจะพัฒนาให้เป็นคู่ค้าในระยะยาวต่อไป แต่โรงแรมส่วนใหญ่ในภูเก็ตก็มักจะสั่งนำเข้าเนื้อแพะจากต่างประเทศ”
สุไลมาน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับ ม.อ. และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี เพื่อพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์และการติดต่อคู่ค้า แต่ยังไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ๆ เพราะเกรงว่าอาจจะผลิตให้ไม่ทัน แต่ตอนนี้ก็มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว เป็นร้านอาหาร
ขณะเดียวกัน ทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็สนับสนุนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ วิธีการถนอมเนื้อให้อยู่ได้นาน และวิธีการลดต้นทุนด้านอาหารสัตว์
เสริมรายได้เด็กนอกระบบ สร้างเครือข่ายคนเลี้ยงแพะ
สุไลมาน กล่าวว่า ทางฟาร์มยังช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ด้วย คือกลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 20 ครอบครัวในพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการฟาร์มมาตรฐาน การจัดการโรคและอาหารสัตว์ โดยใช้ฟาร์มที่นี่เป็นฐาน
“ผู้เข้าร่วมที่มีความพร้อม เราก็ให้แพะ 1 คู่ไปเลี้ยง โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อคลอดลูกแพะก็ให้เอามาขายที่ฟาร์มเมื่อได้น้ำหนัก 30 กิโลฯ ให้เขาเป็นเครือข่ายเลี้ยงแพะส่งมาให้เราได้เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา”
อีกเงื่อนไขคือ อย่าเลี้ยงปะปนกับสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นและห้ามเลี้ยงแบบปล่อย เพราะแพะสามารถเลี้ยงในพื้นที่เล็กๆ หรือคอกเล็กๆ ได้ เพราะเราต้องป้องกันโรค และจะไม่ทำให้เนื้อแพะมีกลิ่นสาบด้วย
สุไลมาน กล่าวว่า แพะที่ไม่มีกลิ่นสาบและกลิ่นคาว สันนิษฐานว่ามาจาก 3 อย่าง คือ 1)การเลี้ยงแบบไม่สกปรก ซึ่งฟาร์มที่เขาดูแลเป็นโรงเลี้ยงยกใต้ถุนสูงและมีการล้างทุกวัน ไม่ให้อยู่ปนกับอุจารระและปัสสาวะซึ่งจะทำให้มีกลิ่นสาปติดตัว 2) อาหารที่ให้กิน และ 3) ขั้นตอนการเชือดซึ่งข้อนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ฝีมือของคนเชือด
ชายแดนใต้พื้นที่เหมาะ แต่ต้นทุนสูงกว่าที่อื่น
สุไลมาน กล่าวว่า สภาพแวดล้อมบ้านเราเหมาะกับการเลี้ยงแพะขุนอยู่แล้ว แต่ปัญหาคืออยู่ไกลจากแหล่งผลิตอาหารสัตว์สำเร็จรูป คนเลี้ยงแพะในภาคอีสานไปซื้ออาหารแพะหน้าโรงงานที่จังหวัดสระบุรีได้ ในราคากระสอบละ 300 บาท แต่เราอยู่ไกลก็ต้องมีค่าขนส่งราคาจะตกอยู่ที่ 500 บาท ตรงนี้ที่ทำให้เสียเปรียบ
สุไลมาน กล่าวว่า อยากขอให้กรมปศุสัตว์เข้มงวดเรื่องการตรวจโรคแพะจากนอกพื้นที่ด้วย ไม่อย่างนั้นพ่อค้าคนกลางก็สามารถกดราคาให้ต่ำลงได้ ซึ่งกระทบกับฟาร์มแพะมาตรฐานในพื้น แต่ไม่สามารถขายราคาถูกได้เพราะต้นทุนสูง และหากไม่ตรวจโรคก็เสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดในแพะได้
“หากปล่อยไว้แบบนี้ ก็จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและรายได้เกษตรกรในพื้นที่ และไม่สามารถยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงปศุสัตว์ในบ้านเราได้”
ภาครัฐต้องส่งเสริมปศุสัตว์และการผลิตอาหารสัตว์
สุไลมาน กล่าวว่า รัฐต้องส่งเสริมปศุสัตว์และการผลิตอาหารสัตว์ในพื้นที่ เพราะนี่คือสันติภาพที่กินได้และที่นี่มีต้นทุนด้านทรัพยากรอยู่แล้ว สภาพแวดล้อมและสภาพอากาศก็เหมาะสม สามารถทำให้คนในพื้นที่อยู่รอดได้ เพราะเชื่อว่าถ้าอาหารกินสมบูรณ์ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น แต่ตอนนี้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยอยากเป็นเกษตรกร เพราะกำไรน้อยและยังต้องใช้ความอดทนสูงด้วย ถ้ารัฐไม่ช่วย
สุไลมาน กล่าวว่า นาประดู่มหานครฟาร์มมีต้นทุนหลายอย่างที่ทำให้อยู่ได้ อย่างแรกคือ ที่ดินซึ่งเป็นของกรรมการสมาคมฯ ซึ่งไม่ต้องเช่า สองคือ สมาคมฯ มีงบลงทุนทำฟาร์มแพะอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง และตอนนี้ได้ซื้อที่ดินเพิ่ม 5 ไร่ เพื่อปลูกหญ้าหวานอิสราเอลซึ่งมีโปรตีนสูงมาเป็นอาหารแพะ
ส่วนต้นทุนความรู้ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดปัตตานีที่มาสอนการจัดการฟาร์มและการป้องกันโรค มีสัตวแพทย์ประจำมาดูแล ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์วิจัย ของคณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ และการช่วยเหลือด้านการตลาดจาก ม.อ.วิทยาเขตปัตตานี
“เราเริ่มทำฟาร์มตั้งแต่ปี 2563 ใช้เวลาเตรียมการ 5 เดือน ในปีแรกยังขายไม่ได้ พอปีที่ 2 จึงเริ่มมีรายได้เข้ามา และเรายังเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน และเป็นสถานที่จัดกิจกรรมของหน่วยงานต่างๆ ด้วย”