Skip to main content

“โฮงเฮียนแม่น้ำของ” การเรียนรู้วิถีชุมชนและแม่น้ำโขง สู่ ‘ท้องถิ่นสากล’

22 พฤศจิกายน 2566

องอาจ เดชา

 

“โฮงเฮียนแม่น้ำของ” ตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำโขง ในเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย ดูสงบ สมถะ และมีเสน่ห์ให้ชวนค้นหาและเรียนรู้ ด้านหน้า มีรูปวาดพญานาคเป็นสัญลักษณ์ พร้อมป้ายไม้เล็กๆ บอกชื่อ ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ชั้นล่างของอาคารไม้ เป็นมุมร้านกาแฟเล็กๆ ให้ชาวบ้าน นักเดินทาง นักเรียน นักศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ แวะนั่งผ่อนคลายกัน ถัดไปบนเนิน เป็นห้องสมุดแสงดาว ให้ผู้คนมานั่งเรียนรู้ค้นคว้า ในขณะที่ริมน้ำของ มีเพิงศาลามุงด้วยใบตองตึงแบบเรียบง่ายให้ผู้คนได้นั่งล้อมวงสนทนากัน

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ‘ครูตี๋’ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของ บอกเล่าให้ฟังว่า ตนเป็นคนเชียงของตั้งแต่กำเนิด เดิมนั้น เคยเป็นข้าราชการครูสอนหนังสือให้กับเด็กชนเผ่าบนดอยสูง ต่อมา ราวปี 2538 ได้ตัดสินใจลาออกจากครู และหันมาทำงานรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น ในนาม "กลุ่มรักษ์เชียงของ" และ "เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา"

“เป็นเครือข่ายที่เกิดจากการรวมตัวกัน โดยองค์กรท้องถิ่น 3 องค์กร ได้แก่ กลุ่มรักษ์เชียงของ  ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำอิง และโครงการแม่น้ำและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกันในลุ่มน้ำโขง จนกระทั่ง ได้เกิดการพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาการคุกคามแม่น้ำโขงอย่างรุนแรงและเกิดผลกระทบถึงพื้นที่ลุ่มน้ำโขงและพื้นที่ใกล้เคียง อย่างเป็นระบบและมีรูปธรรมที่ชัดเจนภายใต้ชื่อ "เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา”

จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของครูตี๋ เมื่อหลายสิบปีก่อน...

กลางสายน้ำโขงที่ไหลเชี่ยวแทรกผ่านระหว่างพื้นที่เขตเมืองเชียงของของไทยกับเมืองห้วยทรายของลาว เรือหางยาวทั้งสิบลำแล่นไปข้างหน้าอย่างเร็วและแรง ตีวงโค้งกระจายขนาบเรือลำใหญ่ปักธงชาติจีน ก่อนจอดนิ่งจอดเทียบอยู่ตรงนั้น เรือเล็กทุกลำถูกผูกติดแน่นกับเรือใหญ่ ชั่วเวลาไม่ถึงนาที ทุกคนก็ยืนประจันหน้ากันและกัน

ครูตี๋ เดินนำปรี่เข้าไปหา..."นี่บ้านของพวกเรา อย่ามายุ่ง หยุดระเบิดแก่งเดี๋ยวนี้ ชาวบ้านเขาเดือดร้อน" เสียงตะคอกดังลั่นไปทั้งเรือ

"เขาเป็นพวกเจ้าหน้าที่สำรวจ แค่มาดูตำแหน่งแก่งหิน ไม่ได้มาระเบิด" ชายไทยหัวเกรียนคนเดียวในกลุ่มคนจีนพยายามอธิบาย

"จะระเบิดหรือสำรวจ มันก็พวกเดียวกันนั่นแหละ" ครูตี๋สวนคำพูด ก่อนร่ายเพลงสวดรวดเดียว

"น้ำโขงเป็นของมนุษยชาติ ทุกคนมีสิทธิหากินเสรีบนสายน้ำแห่งนี้ มันต้องมีความเท่าเทียมกัน ไม่รบกวนกัน แต่นี่คุณมาปุ๊บ คุณยึดหมดเลย คุณระเบิดแก่ง แล้วเอาเรือใหญ่เข้ามา เรือหาปลาก็อยู่ไม่ได้ สัตว์พืชอะไรก็อยู่ไม่ได้ คุณคิดเอาแม่น้ำเป็นแค่เส้นทางคมนาคม ไม่ได้คิดว่าแม่น้ำมันมีหลายมิติ พวกคุณคิดว่าคุณเป็นใครที่จะเข้ามายึดแม่น้ำโขง!!"

คนที่อยู่บนเรือต่างตื่นตระหนกกับท่าทีแข็งกร้าวดุดันของชายผมยาว หน้าตาเอาเรื่องเอาราว

"ฝากถึงรัฐบาลจีนด้วย คนไทยไม่ยอม ล้มโครงการซะ ไม่อย่างงั้นมีเรื่องใหญ่แน่" พูดจบครูตี๋ยื่นหนังสือฉบับหนึ่งให้ พร้อมตะคอกซ้ำ

"อย่าให้เจออีกนะไอ้เรือลำนี้!"

นี่คือเหตุการณ์เมื่อหลายสิบปีก่อน หลังจากมีหนังสือลับและด่วนจากทางการไทย ที่ระบุว่าจะมีการระเบิดแก่งคอนผีหลง กระทั่งครูตี๋และชาวบ้านเชียงของพากันออกมาเรียกร้องสิทธิในฐานะของคนท้องถิ่นคนหนึ่ง

"หากย้อนไปดูสาเหตุของตลิ่งพัง ก็มาจากกรณีที่ทางการจีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในตอนบน ทำให้ระดับแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นปกติ รวมทั้งมีการระเบิดเกาะแก่งต่างๆ เพื่อการเดินเรือ ทำให้น้ำไหลเชี่ยวขึ้น การพังทลายของตลิ่งแทบจะทำให้ไม่มีร่องน้ำเดิมเหลือ หรือในฤดูแล้งก่อนๆ นี้จะไม่เคยแห้งแล้งขนาดนี้ ตอนนี้ก็ได้เห็นผลกระทบที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเรือแทบเดินไม่ได้เลย ต่อไปชาวบ้านลุ่มน้ำที่อาศัยแม่น้ำโขงดำรงชีพคงเดือดร้อนหนักกว่านี้"

เขาบอกอีกว่า ภายหลังจากมีการระเบิดแก่งในเขตพม่า-จีนรวมทั้งการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 ในเขตจีน ส่งผลให้สถานการณ์ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำโขงบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และอ.เวียงแก่น จ.เชียงราย อยู่ในภาวะวิกฤต เพราะตั้งแต่จีนระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเมื่อปี 2545 จนถึงปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ 3 อำเภอดังกล่าวเดือดร้อนอย่างหนักเพราะเกิดปัญหาขึ้นหลายอย่าง

"จีนมีโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขง ในเขตพม่า-ลาว ซึ่งห่างจากชายแดนไทยไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น โดยก่อนหน้านั้น ทีมวิศวกรจากจีนที่รับผิดชอบการระเบิดแก่งได้ลำเลียงอุปกรณ์และวัตถุระเบิดเข้าตามจุดต่างๆที่กำหนดไว้ ในการระเบิดครั้งนี้มีแก่งที่ต้องระเบิดจำนวน 16 แก่ง"

ในขณะบริเวณประเทศไทย ก็มีโครงการระเบิดแก่ง จำนวน 1 แก่ง คือแก่งคอนผีหลง ซึ่งเป็นแก่งหินยาวกว่า 1,600 เมตร กว้างกว่า 30 เมตร อยู่ในเขต ต.ริมโขง อ.เชียงของ นอกจากนั้น ยังมีโครงการระเบิดแก่งเพิ่มอีก 8 แก่งบริเวณ อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ของ จ.เชียงราย

โดยการระเบิดแก่งดังกล่าว ทางการจีนเพื่อปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ของจีนในแม่น้ำล้านช้าง-น้ำโขง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากการผลักดันของประเทศจีน เพื่อตอบสนองนโยบายการค้าเสรี ด้วยการเปิดเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ให้เรือขนส่งสินค้าของจีนสามารถเดินเรือมาถึงตอนล่างจากเมืองซือเหมา มณฑลยูนานของจีน ผ่านพม่า ไทย ลาว มายังหลวงพระบางได้ตลอดทั้งปี โดยจะทำการระเบิดแก่งทั้งหมดกว่า 21 แก่ง

ทั้งนี้ การระเบิดแก่งขุดลอกแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในเขตจีน-พม่า ซึ่งดำเนินการเสร็จรวมทั้งการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขงในเขตจีน โครงการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ต่อกลุ่มประเทศท้ายน้ำขนานใหญ่โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย ปัจจุบันได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวอย่างชัดเจน เช่น ปัญหาตลิ่งพังเป็นแนวยาวหลายกิโลเมตร ปัญหาเกิดสันดอนทรายใหม่กลางแม่น้ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือ ปัญหาระดับน้ำที่ผันผวนขึ้นลงผิดปกติ รวมทั้งผลกระทบด้านระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำ

 

ปรับกลยุทธ์จาก "กลุ่มรักษ์เชียงของ" มาเป็น “โฮงเฮียนแม่น้ำของ”
 

ต่อมา ครูตี๋ จึงได้ริเริ่มก่อตั้ง “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” ขึ้นตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา โดยมีแนวคิด จัดเป็นรูปแบบ “สนามการเรียนรู้” (Field of learning) โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative learning process) และพัฒนากระบวนการทำงานที่นำไปสู่การสร้างเสริมพื้นที่รูปธรรม (Substantial area) ภายใต้ปรัชญา เคารพธรรมชาติ ศรัทธาความเท่าเทียมของมนุษย์ (Respect for nature. Faith in humanity justice) โดยการนำองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่น (Eco – Cultural Historical approach) ของคนภายในและภายนอกมาร่วมวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดแนวทางเลือกนโยบายในการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมในท้องถิ่น

“เป้าหมายของโฮงเฮียนแม่น้ำของ ก็คือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ภายในของชุมชนในลุ่มน้ำของ เป็นสถาบันองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ท้องถิ่นและกระบวนการทำงานในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงเป็นสถาบันที่เสริมสร้างการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันของชุมชน และส่งเสริมให้ชุมชนเกิดกระบวนเรียนรู้ร่วมกันเป็นเครือข่ายการทำงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติลุ่มน้ำของ”

จากผลงานความทุ่มเทนานกว่า 20 ปี ที่ ‘ครูตี๋’ และชาวบ้านพี่น้องเชียงของและชุมชนใกล้เคียงได้ปกป้องแม่น้ำโขง จนกระทั่ง สามารถหยุดยั้งโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อการเดินเรือขนาดใหญ่ 500 ตัน ซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ได้สำเร็จ

ผลของการออกมาเรียกร้องสิทธิ ปกป้องแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน ทำให้ ครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2565 (ค.ศ. 2022) รางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ซึ่งว่ากันว่า เป็นเหมือนรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว

“แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำที่สำคัญ ระบบนิเวศเปรียบเหมือนอวัยวะที่สำคัญของแม่น้ำโขง ถ้าระบบนิเวศถูกทำลายก็เปรียบเสมือนเราฆ่าแม่น้ำโขง เราอยากเรียกร้องให้ประชาชนในลุ่มน้ำโขง และรัฐบาลได้ช่วยกันปกป้องรักษาแม่น้ำโขงกันด้วย” ครูตี๋ บอกย้ำ หลังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้

ครูตี๋ เล่าให้ฟังถึงเรื่องโฮงเฮียนแม่น้ำของ ว่า หลังจากขับเคลื่อนการต่อสู้มาอย่างยาวนาน และได้ทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องแม่น้ำโขง  ซึ่งถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่า แต่เมื่อหันไปทบทวน กลับพบว่า ชาวบ้านคนเชียงของส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งกันเลย

“จะเห็นว่า ที่ผ่านมา เราต่อสู้กันมานั้น เราตื่นรู้ แต่ก็เฉพาะบางกลุ่ม ในขณะที่คนส่วนใหญ่นั้นยังไม่รู้  ไม่ว่าจะเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่องนิเวศ ดิน น้ำ ป่า หรือเรื่องของวัฒนธรรม ดูเหมือนพี่น้องชาวบ้านนั้นถูกกดทับด้วยอะไรบางอย่าง ถ้าคนท้องถิ่นไม่รู้ถึงปัญหาท้องถิ่น ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือต้นทุนของท้องถิ่น และองค์ความรู้ จากงานวิจัยชาวบ้านเหล่านี้มันมีความสำคัญมาก จึงทำให้เรามาคิดต่อกันว่า ทำอย่างไรถึงจะนำองค์ความรู้ จากงานวิจัยชาวบ้าน นี้มาต่อยอด มาขับเคลื่อน จนกลายมาเป็น โฮงเฮียนแม่น้ำของ นี้ขึ้นมา โดยเราจะเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ว่าทำอย่างไรถึงจะเอาความรู้นี้ไปส่งต่อให้ลูกหลาน”

วัชระ หลิ่วพงศ์สวัสดิ์ เจ้าของร้านตำมิละ เกสเฮาส์ ในพื้นที่ อ.เชียงของ และเป็นผู้เขียนหนังสือ “คนขี่เสือ” บันทึกการเดินทางของเสือภูเขาเชียงราย สิบสองปันนา ต้าลี่ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ ได้พูดถึง โฮงเฮียนแม่น้ำของ ว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี ทำให้การเรียนรู้มีทางเลือกหลาย ๆ ทาง อย่างโฮงเฮียนแม่น้ำของ ก็เป็นช่องทางหนึ่ง มันเกิดมาจากคนในชุมชน ที่เขาเลือกกันเอง สอดคล้องกับงานวิถีชีวิต ก็อยู่มาได้หลายปีแล้ว เป็นสถานที่ผู้คนได้มาพบปะเรียนรู้ ก็ถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง

“คือเราไม่ต้องไปยึดติดรูปแบบของรัฐ  เพราะถ้าเป็นของรัฐ ส่วนใหญ่ก็มาจากความคิดแบบเก่า แต่อันนี้มันมาจากความคิดของคนท้องถิ่น ที่เขาคิดมาแล้วว่า ไอ้ของเก่าไม่ได้ตอบโจทย์เขา ซึ่งความจริง การทำรูปแบบนี้ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยซ้ำ ที่จะต้องเข้ามาส่งเสริมว่า มันเป็นทางเลือกใหม่ของการศึกษา เพราะนี่เป็นการรวมตัวของคนท้องถิ่น มาจากความคิดของชาวบ้าน ทำให้มีพลัง”

จัดทำ MOU ร่วมกับโรงเรียน สถาบันการศึกษาในท้องถิ่น


ครูตี๋ มองว่า เยาวชนคือพลังสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง อาจต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ในการที่จะลุกขึ้นมาปกป้องแม่น้ำโขง สิ่งที่เราทำคือ พยายามผลักดัน เชื่อมร้อยเยาวชนให้เขามองเห็นเรื่องราวของโลก เห็นความสำคัญของทรัพยากรในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของโลก นี่คือสิ่งที่เราหวัง เมื่อก่อนเราเคยวิพากษ์เรื่องหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนต่างๆ ว่าก่อนหน้านั้น หลักสูตรท้องถิ่นส่วนใหญ่ มักจะมุ่งเน้นแต่เรื่องสอนฟ้อนรำ ซึ่งถามว่าดีมั้ย ก็ดี แต่ว่าเราอยากให้เด็กๆ มารู้จักถึงรากเหง้าท้องถิ่นจริงๆ รู้จักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงๆ รู้จักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนของเราจริงๆ ก็เลยมีการทำ MOU ร่วมกับโรงเรียนในท้องถิ่น ตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชนด้วย

"โฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้วิถีชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของตนเองเท่านั้น แต่ขยายองค์ความรู้ให้รู้จักโลกกว้างภายนอก เชื่อมโยงกับโลกกว้าง ที่เราเรียกว่า ท้องถิ่นสากล เราจึงเริ่มตั้งกลุ่มแม่โขงยูสต์ ขึ้นมาในระดับประถม มัธยม ซึ่งเด็กในวัยนี้ นอกจากจะสนใจเรื่องประวัติศาสตร์รากเหง้าของตนเองแล้ว ยังสนใจกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์อีกด้วย ดังนั้น เราจึงพยายามเอา วิทยาศาสตร์สังคม มาปรับสอนให้กับเด็กๆ เยาวชนกลุ่มนี้”

ยกตัวอย่าง นักเรียน ชั้น ป.3-ป.6  ร.ร.บ้านปงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มาร่วมกิจกรรม โดยมีครูตี๋ นิวัฒน์ ร้อยแก้ว จากโฮงเฮียนแม่น้ำของ มาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับแม่น้ำโขง หลังจากนั้น เด็กๆ แยกกลุ่มและเดินไปที่แม่น้ำเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำและทำกิจกรรมทดสอบน้ำ กิจกรรมนี้นำโดยกลุ่มนักเรียนพี่เลี้ยงมัธยมปลาย จำนวน 10 คน จากโรงเรียนบ้านแซววิทยาคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเยาวชนแม่น้ำโขง หลังจากนั้น ก็มีกิจกรรมสรุปผลการวัดคุณภาพน้ำอย่างย่อ และทำแผนที่ชุมชนร่วมกัน จากนั้นพวกเขาก็ได้รับกระดาษและอุปกรณ์ศิลปะเพื่อวาดภาพว่าแม่น้ำโขงและชุมชนมีความหมายต่อพวกเขาอย่างไร ในตอนท้าย อาจารย์ที่ปรึกษาและคณะครูจากโรงเรียนบ้านปงของ ได้คัดเลือกนักเรียนมานำเสนอภาพวาดต่อกลุ่ม เหล่านี้ล้วนคือการเรียนรู้แบบ Project Learning

หรือเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านแพ้ว นอกจากมีการวัดคุณภาพน้ำ ก็ยังสนใจประเด็นเรื่องขยะในแม่น้ำ เด็กๆ ก็จะเรียนรู้ และทำกิจกรรมนี้โดยสื่อออกมาในรูปแบบหนังสั้น จากนั้นมีการนำไปเสนอให้ผู้นำชุมชนได้รับรู้ และนำไปสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาขยะในระดับชุมชนต่อไปได้

หรือเด็กนักเรียน โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม ซึ่งมีพื้นที่ตั้งของชุมชนไม่ได้อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เด็กกลุ่มนี้จึงได้ตั้งโจทย์เรื่องน้ำดื่ม ว่าทำไมเด็กนักเรียนถึงไม่ยอมทานน้ำดื่มจากประปาของชุมชน ก็เลยใช้กระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ มีทั้งการออกไปสัมภาษณ์นักเรียน ชาวบ้าน มีการตรวจวัดคุณภาพน้ำ สุดท้ายนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและมีการแก้ไขปัญหาในระดับโรงเรียนและชุมชนได้

ส่วนนักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนบ้านห้วยลึก, โรงเรียนบ้านเวียงแก่น ซึ่งมีพื้นที่ติดแม่น้ำโขง ก็จะสนใจเรียนรู้เรื่องปลาในแม่น้ำโขงกันเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับ นักเรียนระดับมัธยม ของ โรงเรียนเชียงของวิทยาคม นั้นทุกคนสนใจประเด็นปัญหาแม่น้ำโขงทั้งระบบ

ครูตี๋ บอกว่า เราก็จะล้อมวงคุยกับนักเรียนเยาวชนที่สนใจ ว่าสถานการณ์แม่น้ำโขงในปัจจุบัน นั้นถือว่า แม่น้ำโขงป่วยแล้ว เนื่องจากปัญหาเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนที่ประเทศจีน และกำลังจะสร้างเขื่อนทางท้ายน้ำที่ลาวอีก ซึ่งมันส่งผลกระทบระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงทั้งระบบ

สถานการณ์แม่น้ำโขงในปัจจุบัน นั้นถือว่า แม่น้ำโขงป่วยแล้ว เนื่องจากปัญหาเขื่อนที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนบนที่ประเทศจีน และกำลังจะสร้างเขื่อนทางท้ายน้ำที่ลาวอีก ซึ่งมันส่งผลกระทบระบบนิเวศน์ของแม่น้ำโขงทั้งระบบ

“พอมีการปิดเปิดเขื่อน ทำให้น้ำขึ้นน้ำลดผิดปกติ ทำให้กระทบทั้งพันธุ์ปลาที่ไม่สามารถวางไข่ได้ตามฤดูกาล รวมไปถึงกระทบถึงนกที่จะมาวางไข่ กระทบต่อไกหรือสาหร่ายน้ำโขง ทำให้ตะกอนหายไป ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายๆ เลยว่า ถ้าวันไหน เรามองน้ำโขงใสๆ นั้นหมายความว่า แม่น้ำไม่มีตะกอนแล้ว น้ำใสถือว่ามันผิดปกติแล้ว ณ เวลานี้ ว่ากันว่า บริเวณปากน้ำโขงของเวียดนาม ตะกอนหายไปถึง 97% กันเลยทีเดียว ดังนั้น ประชาชนภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจึงได้ออกมาเรียกร้องให้กลุ่มทุนที่กำลังสร้างเขื่อน ขอให้ยุติชะลอการสร้างเขื่อนไว้ก่อน เพราะมันส่งผลกระทบไปทั่ว ยกตัวอย่าง การสร้างเขื่อนปากแบง ที่ลาว มันจะส่งผลกระทบ น้ำจะเอ่อท่วมไร่นา ที่ทำกิน เอ่อมาถึงเชียงของ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านหัวเวียง บ้านห้วยลึก จะกลายเป็นจุดเสี่ยง ทำให้เกาะดอนหายไปเลย ดังนั้น เราจึงได้เรียกร้องไปว่า ส่วนที่สร้างเขื่อนไปแล้วที่จีน ก็ขอให้เปิด-ปิดตามฤดูกาล ส่วนที่กำลังจะสร้าง ก็ขอให้ระงับชะลอไว้ก่อน ขอให้มีการศึกษาผลกระทบให้ดีเสียก่อน”

ในขณะที่ พ่อเจริญ ธรรมรัตน์ ผู้รู้แห่งบ้านปงของ ก็ได้เล่าย้อนเรื่องราวในอดีต ให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนบ้านแซว สมัยเป็นเด็ก ก็มักจะไปเล่นน้ำโขง แต่สมัยนั้นแม่น้ำไม่ได้กว้างใหญ่เหมือนตอนนี้ ใช้เรือแจวข้ามไปข้ามมาได้ระหว่างฝั่งไทย-ลาวได้ พออายุได้ 20 ปี ก็เริ่มมาจีบสาวที่บ้านปงของ หลังจากนั้นก็แต่งงานและอยู่ที่บ้านปงของมาจนถึงปัจจุบัน บริเวณบ้านปงของสมัยนั้นจะเหมือนเมือง เพราะมีตลาดใหญ่ เรือที่ล่องมาจากเชียงแสนจะไปเชียงของก็จะมาจอดที่นี่ บรรยากาศคึกคักมาก พ่อเจริญเองก็เป็นคนหาปลาคนหนึ่ง ปลาที่ได้มา ทั้งขายทั้งกิน หาปลาจนส่งลูกเรียนจบและได้ทำงาน แต่ก่อนนั้นปลาที่ซื้อขายกัน ราคากิโลละ 6 บาท ตอนนี้ 120 บาทแล้ว สมัยก่อนปลามีมากค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ หว่านแหลงไปไม่นานก็ได้กินแล้ว ปลาที่เคยได้บ่อยก็เช่น ปลาแข้ ถ้าปลาใหญ่ก็จะมีปลาบึก ปลาเริม ผิดกับสมัยนี้ที่ปลาแทบไม่มีเลย

“แม่น้ำของเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว ไม่เป็นธรรมชาติ เห็นจะเป็นจริง เมื่อหน้าแล้งฝนไม่ตก แต่น้ำกลับขึ้นมาเมตรกว่า น้ำขึ้นแบบผิดธรรมชาติ ส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ ปลาหาย ตลิ่งก็พัง มีหลายสิ่งหลายอย่างที่มันทำให้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปโดยเฉพาะ โครงการพัฒนาขนาดใหญ่จากนโยบายใหญ่ๆ เช่น สร้างเขื่อนเพื่อเอามาเป็นกระแสไฟฟ้า ยิ่งถ้ามีเขื่อนถูกสร้างขึ้นอีก ก็จะเข้าไปขัดขวางการวางไข่ของปลา เพราะปลาหลายชนิดในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพเพื่อการวางไข่ เมื่อมีเขื่อนมากั้น ปลาก็ขึ้นมาวางไข่ไม่ได้ ปลาทุกชนิดในแม่น้ำโขงจึงลดจำนวนลง และยังมีการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เพื่อใช้เป็นเส้นทางการเดินเรืออีก”

ครูตี๋ บอกว่า การให้เด็กเยาวชนได้เรียนรู้ จะช่วยให้พวกเขาออกมาปกป้องดูแลแม่น้ำโขงแทนคนรุ่นเก่าต่อไปได้

“ใช่แล้ว ทำให้เรามองเห็นว่า เด็กนักเรียน เยาวชนยุคนี้ มีชุดความคิดที่แตกต่างไปจากวิธีคิดของชาวบ้าน ของคนยุคก่อนซึ่งมักจะปัญหาบริบทเพียงแค่ชุมชนของตนเอง ซึ่งเราไม่ค่อยทันพวกเขาแล้ว แต่เด็กยุคนี้ เขามองปัญหาของโลกทั้งใบ เขาคิดหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงโลกนี้ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เรามองเห็นว่า เด็กยุคนี้มีพลัง มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถเชื่อมนวัตกรรมสมัยใหม่ ผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ผ่านความเชื่อ และกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้ ดังนั้น เรื่องวิธีคิด เราก็ต้องให้คนรุ่นใหม่ เข้ามาเรียนรู้ มาร่วมรับผิดชอบ ทำอย่างไรจึงจะให้เด็กเข้ามาแทนเรา นำเทคโนโลยี นวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้”

การจัดการศึกษาของ โฮงเฮียนแม่น้ำของ นี้ถือได้ว่า เป็นการศึกษาทางเลือก ที่เอื้อต่อคนทุกระดับ ทุกชนชั้นจริงๆ ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยนานาชาติทั่วโลกเลย

“ที่ตื่นตาตื่นใจก็คือ เราเคยพาเด็กอนุบาลในเชียงของ จำนวน 200 คนมาเรียนรู้กันที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ก็เป็นอะไรฮือฮาอย่างมาก ถามว่า เด็กเล็กๆ เหล่านี้ สนใจ มาเรียนรู้เรื่องอะไรได้ ได้สิ เราก็เริ่มจากเล่าเรื่องตำนาน นิทานเรื่องพญานาคในแม่น้ำโขงให้ฟังกันเลย ผลก็คือ เด็กๆ ตื่นเต้น อยากเรียนรู้ ผ่านตำนาน ความเชื่อที่มีอยู่ ซึ่งก็เป็นเหมือนว่าเราค่อยๆ บ่มเพาะกล้าจินตนาการ ความคิดของเด็กๆ ต่อไป ซึ่งมีเรื่องราวให้ต่อยอดเรียนรู้อีกเยอะเลย”

ที่น่าสนใจก็คือ โฮงเฮียนแม่น้ำของ เตรียมจะทำสื่อพยัญชนะแม่น้ำโขง เพื่อส่งมอบให้กับโรงเรียนอนุบาลในเขตพื้นที่อำเภอเชียงของ และจังหวัดเชียงรายกันต่อไปด้วย

“คือเราจะให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการท่องพยัญชนะ ให้สอดคล้องกับเรื่องราววิถีวัฒนธรรมของชุมชนแม่น้ำโขง เช่น ก.ไก่ ก็เปลี่ยนเป็น ก.ไก (สาหร่ายแม่น้ำโขง), ข.ของ (ชื่อเชียงของ),ค.ครก(ระบบนิเวศแม่น้ำโขง),ห.แห (เครื่องมือจับปลา),ฮ.เฮือ (เรือ), บ.บึก (ปลาบึก) เป็นต้น”

เช่นเดียวกัน โฮงเฮียนแม่น้ำของ ยังกลายเป็นพื้นที่เปิดรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายประเทศทั่วโลก ที่เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องแม่น้ำโขง กันอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนกลายเป็นพื้นที่การเรียนรู้ระดับนานาชาติกันไปแล้ว

“ส่วนใหญ่ก็จะเป็นนักศึกษาในแต่ละสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและมนุษย์ อย่างเช่น มหาวิทยาลัยอะดูดาบี ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, มหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ก็เข้ามาแลกเปลี่ยน มาลงพื้นที่เรียนรู้ แล้วก็ยังมีอาสาสมัครชาวต่างชาติช่วยทำงานด้านโปรแกรม การจัดเก็บข้อมูลและการผลิตสื่อให้ห้องสมุดแสงดาวของเราด้วย”

 

"โฮงเฮียนแม่น้ำของ" คือ การศึกษาทางเลือกและทางรอด

นพรัตน์ ละมุล ผู้ประสานงาน โฮงเฮียนแม่น้ำของ และผู้ดูแลด้านการผลิตสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง บอกเล่าว่า โฮงเฮียนแม่น้ำของ ที่พวกเราทําอยู่ มันจึงไม่ใช่เป็นแค่การศึกษาทางเลือก แต่มันเป็นการศึกษาทางรอดเลยนะ  เพราะว่า การศึกษาแต่ก่อนนั้น มีฐานคิดโดยใช้เศรษฐกิจเป็นหลัก เป็นตัวนําในการจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่สุดท้าย ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่จํากัด ทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ดังนั้น การศึกษาในระบบโรงเรียน หรือระบบที่การศึกษาของเราที่มีอยู่ส่วนใหญ่ ถูกทําให้คิดแบบไม่เห็นองค์รวม แต่ที่เราทําโฮงเฮียนแม่น้ำของ อยู่นี้ ก็เพื่อจะให้เห็นการศึกษาแบบองค์รวม และเป็นการเรียนรู้ไปด้วยกันได้ด้วย

“คือจะบอกว่าเป็นการศึกษาทางเลือกมั้ย ก็ต้องบอกว่า เป็นทางเลือก แต่จริงๆ แล้ว รูปแบบนี้ มันเป็นไปตาม พ. ร. บ.การศึกษาแห่งชาติฯ อันหนึ่งอยู่แล้ว ซึ่งสําหรับเรา มองว่านี่ไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็นสิ่งที่เรามีสิทธิเลือก และเรานั้นมีสิทธิตามกฎหมาย เราไม่ได้หวังการศึกษาเพื่อว่าจะร่ำรวยนะ แต่เราหวังเรียนรู้การศึกษาเพื่อจะแก้ปัญหาชีวิตหรือมีชีวิตอยู่ได้และดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนิเวศ เรื่องธรรมชาติ ให้สมดุลอยู่ ซึ่งเราไม่ได้มองการศึกษาว่าเป็นการป้อนคนก้าวสู่ตลาดแบบนั้น”

กระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกับโรงเรียน
สร้างหลักสูตรท้องถิ่น - โปรเจกต์ เลิร์นนิ่ง ให้กับผู้เรียน

นพรัตน์ บอกว่า จริงๆ แล้ว เราทำกระบวนการเรียนรู้แบบนี้มาตั้งแต่ กลุ่มรักษ์เชียงของ เป็นเครือข่ายอนุรักษ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ งานเด็กและเยาวชน เราทํากันอยู่แล้ว แต่พอมาเป็นโฮงเฮียนแม่น้ำของ เรามีการทํางานชัดเจนมากขึ้น ทำร่วมกับ 16 โรงเรียน เป็นโรงเรียนมัธยม 4 โรงเรียน ที่เหลือเป็นโรงเรียนประถมศึกษาและขยายโอกาส

“เพราะเราเห็นว่า ตอนนั้นในโรงเรียนยังไม่มีหลักสูตรเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว หรือเรื่องระบบนิเวศท้องถิ่น ไม่มีในหลักสูตรที่เป็นทางการ  ก็เลยเข้าไปสนับสนุน เป้าหมายของเราก็คือ จะชวนเด็กๆ ไปติดตาม สุขภาวะของแม่น้ำ เราก็เข้าไปทํางานด้วยกัน ต่อมา เริ่มมีการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ทำอะไรต่างๆ ร่วมกัน จนกระทั่งได้ขยับจาก  Mekong Youth ไปเป็น Mekong curriculumโดยเราอยากให้เป็นหลักสูตรอย่างเป็นทางการต่อไป เพราะการที่เด็กจะไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เทียบกับ outdoor เลย คือเรียนจากพื้นที่จริง  ในการศึกษาวิจัยหรือทําอะไร ที่เป็นเรื่องสําคัญในชีวิตเขา ที่จะสัมพันธ์กับระบบนิเวศ”

นพรัตน์ บอกว่า ปัจจุบันนี้ ทางโฮงเฮียนแม่น้ำของ ได้ทํางานร่วมกันกับผู้อำนวยการโรงเรียนที่สนใจจะร่วมกับเราอยู่แล้ว รวมทั้งเด็กๆ ซึ่งเรามีทีมต่างๆ คอยติดตามศึกษาแม่น้ำกันอยู่ เราจะใช้โครงงาน เข้าไปทํางาน โดยจะให้เด็กได้คิดเอง ทําโครงงานเองในเรื่องนั้นๆ เราก็เลยอยากให้กิจกรรมอย่างนี้อยู่ต่อเนื่อง ก็เลยหันมาคุยกันถึงเรื่อง การออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ที่จะเป็นหลักสูตรทางการ

“เราก็อยากคุยกับศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้ง สพฐ.หรือ สพม. ว่าในพื้นที่นี้เราจะนําหลักสูตรท้องถิ่นนี้มาทําให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วอยากให้มีการกําหนดงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้มีความต่อเนื่องเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนหรือชุมชนที่จะทํางานร่วมกันในการติดตามสุขภาวะแม่น้ำในทุกมิติ ..."

“เราก็อยากคุยกับศึกษาธิการจังหวัด รวมทั้ง สพฐ.หรือ สพม. ว่าในพื้นที่นี้เราจะนําหลักสูตรท้องถิ่นนี้มาทําให้เห็นเป็นตัวอย่าง แล้วอยากให้มีการกําหนดงบประมาณสนับสนุน เพื่อให้มีความต่อเนื่องเกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนหรือชุมชนที่จะทํางานร่วมกันในการติดตามสุขภาวะแม่น้ำในทุกมิติ ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการ ว่าจะขับเคลื่อนยังไงบ้าง ซึ่งที่ผ่านมา ผู้อํานวยการโรงเรียนในพื้นที่ที่มาร่วม โดยเฉพาะโรงเรียนเชียงของวิทยาคม โรงเรียนอนุบาลเชียงของ โรงเรียนบ้านแซววิทยาคม ก็เข้าใจและอยากทําให้เกิดเป็นหลักสูตรที่เป็นเนื้อเดียวกัน  แล้วครูก็สามารถเอาไปใช้เป็นผลงานได้ โรงเรียนก็สามารถมีการประเมินเด็กนักเรียนได้ แล้วก็เป็นหลักสูตรที่ต่อเนื่อง  ถือว่าค่อนข้างบูรณาการ  ไม่ว่าจะเรื่องมุมมองของการเรียนรู้ การดูแลนิเวศสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น”

ที่น่าสนใจ คือ กิจกรรมของโฮงเฮียนแม่น้ำของ จะเน้นเรื่องโปรเจกต์ เลิร์นนิ่ง ให้กับเด็กนักเรียน

“ก็คือให้เด็กได้เริ่มคิดและทำโครงงาน  ซึ่งเริ่มแรกมันยากนะ สำหรับเด็กนักเรียนมัธยม ยอมรับว่า การศึกษารูปแบบนี้ สมัยก่อน เราจะได้ทำก็ตอนอยู่ในช่วงมหาวิทยาลัย แต่พอเราเอาเรื่องนี้ไปทํากับเด็กประถม มัธยมสุดท้าย เด็กๆ ก็ทําได้ แล้วก็สามารถทําสื่อออกมาด้วย หลังจากเราให้เด็กๆ เขาทําโครงงาน ทำการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับแม่น้ำ แล้วออกมาเป็นรายงาน ปรากฎว่า เด็กรุ่นใหม่ตอนนี้ สามารถผลิตเป็นสื่อออกมา เป็นหนังสั้น หรือเป็นการแสดง การสื่อสารเป็นโฮโลแกรม โดยทางโฮงเฮียนแม่น้ำของจะทำเวิร์คชอปให้น้องๆ ซึ่งเราเรียกว่า วิทยาศาสตร์พลเมือง คือให้เติมเรื่องวิทยาศาสตร์พลเมืองเข้าไป แล้วก็ฝึกให้เขาเรื่องการสื่อสารแบบสื่อทั่วไป หรือจะเป็นนักข่าวพลเมือง ซึ่งทำให้นักเรียนบางคนตอนนี้เริ่มสนใจเรื่องการทำข่าว ก็มีหลายคนที่อยากไปเรียนต่อด้านสื่อ ทั้งที่ตัวเองกำลังเรียนสายวิทย์อยู่ ทำให้ทั้งตัวเด็กและตัวเรา มีความสุข สนุก ในการทํางาน  และแน่นอนว่า การทํางานกับเด็กๆ นั้น ทำให้เรามีความหวัง มากกว่าทํางานกับผู้ใหญ่นะ พวกผู้ใหญ่ส่วนใหญ่นั้นมักจะมีท่าทีของน้ำที่เต็มแก้วเยอะ ไม่ยอมรับเครื่องมือใหม่ๆ หรืออะไรต่างๆ ที่เรียนใหม่ๆ ซึ่งทำให้เรารู้เหนื่อย แต่ทำงานทำกิจกรรมกับเด็กๆ ทำให้เรามีพลัง มีความหวังมากกว่า” นพรัตน์ บอกเล่า

ในตอนท้าย ครูตี๋- นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและครูใหญ่แห่งโฮงเฮียนแม่น้ำของ บอกเล่าว่า ถ้าย้อนกลับไปในอดีต การศึกษาที่ผ่านมา มันเหมือนเป็นการศึกษาที่ฝังชิฟในหัวสมองคนมาตั้งแต่ยุคบูมเมอร์มาแล้ว สอนให้ทำตามอย่างที่เขาต้องการให้เป็น และลองสังเกตวิเคราะห์ดูกัน ว่าระบบการศึกษามันเชื่อมโยงกับการเมือง ถ้าบ้านเมืองไหนมีความเป็นประชาธิปไตย ก็จะทำให้เกิดการศึกษาทางเลือก มีเสรีภาพในการเรียนรู้ แต่ถ้ายังมีการปกครอบแบบเผด็จการอยู่ การศึกษาก็จะมักจะถูกบังคับยัดเยียดให้เชื่อฟัง ให้อยู่ในกรอบ เด็กมันเลยไม่มีเสรีภาพทางความคิด

“เพราะฉะนั้น เราต้องมาตั้งคำถามกันใหม่ว่า การศึกษาเพื่อคนไทยในอนาคตมันคืออะไร เราต้องเปลี่ยนแปลงกันได้แล้ว เพราะตอนนี้มันเป็นยุคของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว และเป็นยุคใหม่ของการศึกษาทางเลือกด้วย การศึกษาทางเลือก มันสำคัญที่สุดของมนุษย์ เพราะเป็นการเรียนรู้ในสิ่งที่ชอบ ที่สนใจ ซึ่งวิธีคิดของเด็กยุุคนี้ เขามองปัญหาโลกทั้งใบ เขามองเรื่องความเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ได้มองปัญหาเหมือนคนยุคก่อน ที่มองและต่อสู้แค่เรื่องชุมชนของตนเอง เด็กยุคนี้จึงมีพลัง สามารถเชื่อมนวัตกรรมสมัยใหม่ เข้ากับวิถีชุมชน ผ่านความประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ความเชื่อ วิทยาศาสตร์ อะไรได้หมด ดังนั้น โฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้วิถีชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมของตนเองเท่านั้น แต่ขยายองค์ความรู้ให้รู้จักโลกกว้างภายนอก ทำให้รู้จักเชื่อมโยงกับโลกกว้างภายนอก ที่เราเรียกว่า ‘ท้องถิ่นสากล’ อีกด้วย"

ข้อมูลประกอบ
1."ครูตี๋ ลูกผู้ชายสายน้ำของ",ธวัชชัย จารนัย, "พลเมืองของความเศร้า" หนังสือสารคดีรางวัลคนค้นฅน ,สนพ.พิมพ์บูรพา,ธันวาคม 2548
2. Visible Man 2006#9 : นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : ผู้เดิมพันชีวิตเพื่อรักษ์แม่น้ำโขง,องอาจ เดชา,ประชาไท,2006
3. ข้อมูลและภาพกิจกรรมของโฮงเฮียนแม่น้ำของ, เวบไซต์ The Mekong school, https://mekongschool.org
4. “โฮงเฮียนแม่น้ำของ”การศึกษาทางเลือก กับการปกป้องรักษาแม่น้ำแห่งชีวิต,วารสารผู้ไถ่,ฉบับที่ 122 พ.ค.-ส.ค.2566
 


 




 





 

 

 


 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ครูตี๋) ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ และผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของ
นักเรียนทำกิจกรรมริมฝั่งแม่น้ำโขง
นักเรียน ชั้น ป.3-ป.6  ร.ร.บ้านปงของ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เก็บตัวอย่างน้ำและทำกิจกรรมทดสอบน้ำจากแม่น้ำโขง
แม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย
โฮงเฮียนแม่น้ำของ
เยาวชนทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ
เยาวชนทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ
เนื้อหาล่าสุด